ชวนเจ้าสัว สู้โควิด-19

คําแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่าจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน เพื่อขอความเห็นจะร่วมมือกับรัฐบาลอย่างไรและจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันที มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยดังขรมไปหมด

โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยถึงกับตำหนิว่า เสียศักดิ์ศรี หมดหนทางแล้ว ถึงส่งสัญญาณจะขอให้มหาเศรษฐีอัดฉีดเงินมาช่วยรัฐบาล ไม่ต่างจากรัฐบาลขอทาน อะไรจะถึงขนาดนั้น

ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วย มองอย่างเข้าใจและเห็นใจ แม้ยังรับไม่ได้กับแนวทางการบริหารแบบอำนาจนิยมตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม

แต่ก็จำนนต่อสถานการณ์ภัยพิบัติด้านสาธารณสุข ไวรัสโควิด-19 ต้องยึดเอาชีวิต ความอยู่รอดปลอดภัยของเพื่อนร่วมชาติมาก่อน ส่วนชีวิตรัฐบาลจะเป็นอย่างไรต่อไป ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริหาร การแสดงออกที่สะท้อนถึงการปรับตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน

Advertisement

ถ้ายึดหลักคนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก การตัดสินใจเสี่ยงกับการถูกตำหนิต่างๆ นานา หากมองอย่างเป็นกลางๆ คำถามที่ควรค้นหาคำตอบก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ทำเพื่อใคร ทำเพื่อตัวเอง เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล ความอยู่รอดของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม สิ่งใดเป็นด้านหลัก

ถ้าคำนึงถึงศักดิ์ศรี หน้าตา ก็ไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนี้ อย่างที่ฝ่ายคัดค้านมอง ไม่ต้องไปง้อ ไหว้วอนมหาเศรษฐีทั้งหลาย เพราะปรัชญาของมหาเศรษฐีคือกำไร ทำอะไรต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน ต่อไปอาจเกิดภาวะผลประโยชน์ต้องตอบแทนกับภายหลัง เพราะแต่ละคนล้วนประกอบธุรกิจที่เชื่อมโยงกับภาครัฐทั้งสิ้น

แต่สถานการณ์เฉพาะหน้าเวลานี้ ยังไม่มีใครตอบได้ว่าแต่ละวันจะมีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตอีกเท่าไหร่ จะยุติเมื่อไหร่ จึงไม่ใช่เวลาของการ
แบกหน้าตา ศักดิ์ศรีมาเป็นข้อจำกัด ในฐานะผู้นำต้องทำทุกวิถีทางให้รอดพ้นจากภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด

ที่ผ่านมาก็มีผู้เสนอให้มหาเศรษฐีทั้งหลายรวมตัวกันตั้งกองทุนเพื่อช่วยหาทางแก้ปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีใครเป็นตัวกลาง เป็นเจ้าภาพจัดให้มีเวทีพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ความเป็นจริงแล้ว มหาเศรษฐีส่วนใหญ่ก็ทำโครงการเป็นการส่วนตัวของแต่ละองค์กรอยู่บ้างแล้ว โดยรูปแบบแตกต่างกันไป ก่อนหน้านี้ตัวแทนบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็เข้าร่วมงานกับรัฐบาลในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการร่วมภาครัฐเอกชน และกรรมการขับเคลื่อนต่างๆ นานา เพียงแต่เป็นผู้แทนระดับลูก อาทิ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มซีพี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มเบียร์ช้าง นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการ
ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น

เ พียงแค่คราวนี้รัฐบาลต้องการเชิญถึงระดับคุณพ่อ มหาเศรษฐีตัวจริง มาให้ความเห็นแนวทางการช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่มีพลังยิ่งกว่าที่ผ่านมา แน่นอนย่อมต้องแลกด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาต่างๆ นานา ก็เป็นเรื่องปกติ เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อส่วนรวมของทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐบาลและมหาเศรษฐีทั้งหลาย

ประเด็นอยู่ที่ความจริงใจ ความอดทน มั่นคง ต่อความเสียสละที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและชาติบ้านเมือง กับความเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีช่องทางได้สะท้อนความคิดความเห็นต่างๆ เช่นเดียวกันหรือไม่

เนื้อหาสาระจดหมายเปิดผนึก ท่าที การแสดงออกของเจ้าของจดหมายต่างหาก แม้เป็นเรื่องรายละเอียดแต่ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จะยังคงเป็นไปเช่นเดิมที่ผ่านมาซึ่งยังแก้ไม่ตกหรือไม่

พูดมากกว่าฟัง หรือ ฟังมากกว่าพูด ไม่อ้างอำนาจหน้าที่ เอาความตั้งใจ ความเสียสละ ไปข่มเขา

พูดคนเดียว หรือ ให้คนอื่นพูดมากกว่า แล้วเก็บเอาสิ่่งที่ฟังไปทำให้เห็นผล ฟังเขาหรือให้เขามาฟังเรา แนวทางไหนเป็นด้านหลัก

มหาเศรษฐี 20 คน เป็นใคร มี ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องเล็ก สร้างความ
ฮือฮาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น สำคัญที่หลักเกณฑ์การเลือก เป็นอย่างไร สุดท้ายแล้วความลับปิดไม่ได้แน่นอน หากชี้แจงได้ ไม่น่ากังวลเกินไป

เมื่อตัดสินใจยื่นมือออกไปก่อนนั้นถูกต้องแล้ว เป็นไปตามหลักที่ว่า อยากให้ผู้อื่นทำอะไรให้เรา เราควรทำเช่นนั้นกับเขาก่อน

จะเป็นเวทีปิดหรือเปิดถึงขนาดถ่ายทอดสดออกทีวีรวมกาลเฉพาะกิจอย่างที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ไปไกลเกินไปถึงขั้นนั้น

ข้อควรระวังจะกลายเป็นการแสดง สร้างภาพ ทำให้ผู้แสดงทั้งสองฝ่ายเกร็งกันไปหมด สุดท้ายไม่ได้อะไร เพราะกังวลกับภาพลักษณ์ตัวเองและผู้ชมทางบ้านผ่านหน้าจอทีวีมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image