ฟังแล้วน่ากลัว : วีรพงษ์ รามางกูร

ฟังแล้วน่ากลัว

การกลับมาระบาดอีกของโควิด-19 ที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์เป็นข่าวน่ากลัวมาก เพราะเท่ากับว่าโรคร้ายนี้จะคงอยู่กับเราต่อไป ไม่ได้หายไปไหน ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนหรือเซรุ่มในการป้องกันและรักษา อันตรายของโรคนี้ก็จะยังคงอยู่ พร้อมจะแสดงอาการออกมาทำลายชีวิตของผู้ที่มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกายได้เสมอ หากร่างกายอ่อนแอลงเพราะมีโรคร้ายเดิมอื่นๆ เช่น ความดันสูง เบาหวาน หรือแม้แต่มีอายุสูงขึ้น

จะไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้หรือหลีกเลี่ยงได้ยากการติดต่อของโรคเช่นว่านั้นติดต่อกันได้ง่าย เพราะไวรัสนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 72 ชั่วโมง เมื่อออกจากร่างกายของมนุษย์ สามารถติดต่อกันได้ทางลมหายใจ จากการไอ จาม ถ้าหากมนุษย์อยู่ใกล้กันในระยะไม่ถึง 1 เมตร เพื่อความปลอดภัยผู้คนเมื่อออกจากบ้านหรืออยู่ในบ้านควรจะอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร จะสัมผัสกอดจูบลูบคลำแสดงความรักกันก็ทำไม่ได้ ไม่มีทางทราบว่าผู้ใดเป็นผู้แพร่เชื้อนี้เพราะกว่าครึ่งของผู้ที่เป็นพาหะนำโรคไม่แสดงอาการ

แม้ว่าสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 นี้ สถานการณ์อาจจะดีขึ้นจนสามารถค่อยๆ ผ่อนคลายเงื่อนไขได้ โดยฟังจากการอธิบายของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย การดำรงชีวิตและพฤติกรรมของสังคมต่างเปลี่ยนไป อาชีพบางอย่างอาจจะต้องเลิกไปเลย เช่น อาชีพที่เป็นบริการส่วนตัว เช่น หมอนวด อีกหลายอาชีพอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีให้บริการไปเลย เช่น อาชีพตัดผม ทำผม กิจกรรมบางอย่าง เช่น การชกมวย โรงละคร โรงภาพยนตร์ การเข้าชมการแข่งกีฬาอาจจะต้องเลิก การให้บริการต่างๆ ต้องจัดที่นั่งห่างกัน เช่น รถไฟ รถเมล์ รถไฟฟ้า ต้นทุนของผู้ใช้บริการแต่ละคนก็ต้องสูงขึ้น จนไม่คุ้มที่จะลงทุน

ยังนึกไม่ออกว่าถ้าโรคร้ายที่ทุกคนกลายเป็นพาหะอย่างนี้ การศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม ไปถึงมหาวิทยาลัยจะเปิดการเรียนการสอนกันอย่างไร แม้จะเป็นช่วงหลังจากโรคร้ายนี้หยุดระบาดแล้ว หรือถ้ากิจกรรมการแสดงสินค้า การฝึกอบรม สัมมนา ทำไม่ได้ อาชีพหลายอย่างก็คงหายไป

Advertisement

คงต้องรอฟังว่าประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ รวมตลอดไปถึงอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เขาจะเปิดประเทศได้อย่างไร เมื่อไหร่ เปิดแล้วเชื้อโรคจะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ ธุรกิจต่างๆ จะกลับมาเปิดเป็นปกติได้หรือไม่ คิดว่าปีนี้คงจะทำไม่ได้ ปีต่อไปจะทำได้หรือไม่ก็ยังต้องคอยดู

ความเสียหายทางเศรษฐกิจคงประมาณค่าไม่ได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด เพราะการค้าทั้งในและระหว่างประเทศหดหายไปหมด การลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนข้ามชาติก็ขาดหายไปเช่นกัน

มาคิดดูอีกที คราวเมื่อโรคเอดส์ปรากฏขึ้นในสังคม พวกเราที่เป็นผู้เสพข่าวก็
ตื่นเต้นตกใจกันมาก กิจกรรมทางเพศเปลี่ยนไปจากการใช้ถุงยางอนามัยเกิดขึ้นทั่วไป จนเป็นเหตุให้โรคจากการร่วมประเวณีอย่างอื่น เช่น ซิฟิลิส หนองใน และอื่นๆ พลอยหายไปด้วย แต่โรคเหล่านี้ฟังดูน่าจะป้องกันได้ง่ายกว่าโรคจากโคโรนาไวรัสเป็นอันมาก

Advertisement

วิ ธีป้องกันโคโรนาไวรัสระบาดดูจะทำได้ยาก ต้องทำกันทั้งครอบครัว ทั้งชั้นเรียน ทั้งสังคม ทั้งหมู่บ้าน ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ การคมนาคมเคลื่อนย้ายเดินทางเป็นอันทำไม่ได้เลย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจจะทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังมีโรคระบาดอยู่ในซีกโลกส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ในขณะนี้ที่จีนยังต้องปิดประเทศต่อไป เพราะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่มาจากต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกากลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ของโรคร้าย สังคมอเมริกาเท่าที่เห็นเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม
เชื้อชาติ การศึกษา วัฒนธรรม ความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันสูงมาก โรคระบาดจึงแพร่ได้ง่าย ป้องกันได้ยาก

คนจนในอเมริกานั้นน่าสงสารมากด้วยสภาพความเป็นอยู่ในสลัม ในเกตโต ห้องพักเล็กๆ ต้องอัดกันอยู่ 3-4 ครอบครัว คนไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยที่ต้องนอนตามสถานีรถใต้ดิน เก็บเศษอาหารจากถังขยะประทังชีวิต สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสภาพเหมือนผ้าขี้ริ้ว คนกลุ่มนี้ยังมีอยู่มากทั้งๆ ที่เป็นประเทศร่ำรวย รายได้ต่อหัวสูงกว่าที่อื่นๆ

ที่สำคัญบริการทางการแพทย์ในสหรัฐ อเมริกานั้นแพงมาก เพราะค่าประกันการประกอบโรคศิลปของแพทย์พยาบาลสูงมาก เป็นอาชีพที่ผูกขาดโดยแพทยสมาคมในการได้ใบประกอบโรคศิลป มีการฟ้องร้องกันเป็นประจำ ใครไม่มีงานทำและไม่ได้ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจะซื้อยากินเองก็ไม่ได้ ต้องมีใบสั่งแพทย์ ในขณะที่บริการทางการแพทย์ก็แพง ไม่เหมือนบ้านเราที่มีหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าในราคาถูก เพราะได้รับการชดเชยด้วยภาษีอากร จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ก็มีมากเพียงแต่การ
กระจายยังไม่ดีพอ แต่เนื่องจากระบบคมนาคมของเราดีพอสมควร การเข้าถึงบริการทางการแพทย์จึงสามารถทำได้ดีกว่าของประเทศ อื่นๆ ในประชาคมอาเซียน หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาในบางพื้นที่หรือในบางเชื้อชาติและชนชั้นในสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา

การระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกานั้นคงจะหายไปได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษารวมทั้งทัศนคติ คนที่เราเรียกกันว่า “ชังชาติ” ที่แท้จริงมีอยู่ในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เพราะสหรัฐอเมริกามีโครงสร้างของสังคมข้างล่างที่ “น่าชัง” เป็นอันมาก

ใครที่เคยอยู่ในแถบฝั่งตะวันออกและตะวันตก เช่น นิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย พิตต์สเบิร์ก บัลติมอร์ วอชิงตัน ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิโก จนถึงเมืองพอร์ทแลนด์ ซึ่งมีคนยากคนจนจำนวนมากที่ต่อต้านความเป็นอเมริกันของตน เพราะความไม่เท่าเทียม เพราะความเหลื่อมล้ำ ยิ่งประธานาธิบดีมาจากพรรครีพับริกันเป็นเวลานานถึง 8 ปี 12 ปี ความเหลื่อมล้ำก็จะมีมากขึ้น

เ มื่อมีโรคระบาด การรักษาสุขภาพอนามัย การป้องกันโรค การเชื่อฟังรัฐบาลของกลุ่มชนชั้นล่างของคนอเมริกาและละตินอเมริกาจึงมีน้อยกว่าคนเอเชีย เพราะเขายึดหลัก “เสรีภาพมาก่อนสุขภาพ” ตรงกันข้ามกับจีน ญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระบอบประชาธิปไตยไม่ค่อยเจริญนัก จึงประกาศว่า “สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ” ได้

เมื่อโรคร้ายนี้ข้ามไปอเมริกาจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะสังคมอเมริกาเป็นสังคมปัจเจกชน
นิยมสูง และอีกด้านหนึ่งความคิดเรื่อง “สังคมนิยม” มีน้อย คำว่าสังคมนิยมเป็นคำสกปรกในสังคมอเมริกัน เป็นชาติที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมต่ำ แต่เป็นชาติที่มีความรู้สึกเป็นชาตินิยมสูง

คนอเมริกันเป็นคนตะวันตกชาติเดียวที่ยืนตรงเคารพธงชาติและเพลงชาติเหมือนชาติในเอเชีย ใช้สัญลักษณ์หรือธงชาติติดเสื้อผ้า รองเท้าหรือหมวกได้และนิยมกันมากด้วย เป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาตินิยมของคนอเมริกันแบบหนึ่ง แต่เป็นสังคมตัวใคร
ตัวมัน ความรับผิดชอบต่อสังคมต่ำ

เ มื่อการระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากโครงสร้างทางสังคมของคนอเมริกันเป็นไปอย่างที่กล่าว จำนวนคนป่วยใหม่ จำนวนคนป่วยสะสมและจำนวนผู้เสียชีวิต มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ปิดบ้านปิดเมือง ปิดกิจการ ทำงานที่บ้าน แรงงานจำนวนมากถูกปลดออกจากงาน การช่วยเหลือ จากการซื้อประกันสุขภาพ การชดเชยการว่างงานก็มีเพียงส่วนหนึ่งไม่ใช่ตลอดไป แต่การว่างงานคราวนี้ดูท่าจะเป็นว่างงานถาวรตลอดไป การลุกขึ้นต่อต้านมาตรการป้องกันและรักษาโรคไวรัสจึงเกิดขึ้นทั่วไป

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่เคยเกิดขึ้น เมื่อปี 1929-30 อาจจะเกิดขึ้นและอาจจะอยู่ยาวกว่า เพราะคราวนี้ได้ยื้อเอาไว้เป็นเวลานานโดยการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ หรือที่เรียกกันว่า “การผ่อนคลายเชิงปริมาณ” หรือ คิว.อี.
(Quantitative Easing) มาเรื่อยๆ เป็นการยื้อเวลา เวลาฟื้นก็ต้องใช้เวลายาวกว่าปกติ

ฟังแล้วน่ากลัว เพราะถ้าโรคร้ายนี้ยังอยู่ สหรัฐอเมริกาอาจจะส่งโรคร้ายนี้กลับยุโรป และยุโรปอาจจะส่งกลับอาเซียน แล้วอาเซียนอาจจะส่งไปญี่ปุ่น สิงคโปร์ กลับไปอู่ฮั่นแล้วต่อไปมณฑลอื่นๆ ของจีน

ยิ่งคิดมากยิ่งน่ากลัว ยิ่งคิดไปก็ยิ่งมโน อยู่กับปัจจุบันดีกว่า เหมือนกับนิทานในพระไตรปิฎกเรื่องบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ

ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดก็แล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image