คุณภาพคือความอยู่รอด : ความจริงในวันนี้ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : ความจริงในวันนี้ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : ความจริงในวันนี้ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ถึงวันนี้แล้ว ก็ยังคงตอบไม่ได้ว่า สถานการณ์ COVID-19 จะจบสิ้นเมื่อใด

เรารู้แต่เพียงว่า “วิถีโลก” และ “การดำเนินชีวิต” ของผู้คนจะเปลี่ยนไปแน่นอน และเป็นไปในรูปแบบใหม่ๆ ด้วย ที่เราเรียกกันว่า “New Normal” ซึ่งเป็นบทสรุปที่เกิดจากการเรียนรู้การใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน และการต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

ทุกวันนี้ เราต่างเข้าใจว่า โลกหลัง COVID-19 (โดยเฉพาะวิถีแห่งธุรกิจอุตสาหกรรม การตลาดและพฤติกรรมของลูกค้า) จะ “ไม่มีทางเหมือนเดิม” (ก่อนเกิด COVID-19) อีกต่อไป

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (COVID-19) และแปรปรวนตลอดมาอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จิตวิทยาและพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงด้านเทคโนโลยีอันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมใหม่ๆ

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้สร้างทั้ง “วิกฤต” และ “โอกาส” ให้แก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เปิดโอกาสให้องค์กรที่แข็งแรง ซึ่งมีความพร้อมที่จะรับมือ แต่กลับเป็นวิกฤตและปัญหาต่อองค์กรที่อ่อนแอ ซึ่งไม่สามารถปรับตัวเองตอบโต้ได้

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็น “โอกาส” ของธุรกิจอุตสาหกรรมบางแห่ง ในขณะเดียวกันก็เป็น “ปัญหาและอุปสรรค” ต่อองค์กรอีกหลายๆ แห่ง

การปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรับมือกับสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอยู่ที่ “ความสามารถในการจัดการปรับปรุงองค์กรภายใน” เพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพ พร้อมกับการสร้างจุดเด่นให้เหนือคู่แข่งขันในทุกๆ ด้าน โดยยึดอยู่กับการตอบสนองกลยุทธ์หลักขององค์กร ทั้งในด้านการเงิน ตลาด การผลิต และการบริการลูกค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อได้เปรียบในเชิงแข่งขัน

เมื่อต้องการผูกโยงเข้ากับ “โอกาส” ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่นแปลงของเทคโนโลยี และสังคม การนำเอากระบวนการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ๆ มาแทน กระบวนการเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที

กรณีของสถานการณ์ COVID-19 ในวันนี้ เป็นผลให้แนวความคิดเรื่อง “Work From Home” เป็นรูปธรรมมากขึ้นในทุกองค์กร

การทำงานจากบ้านจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่งว่า จะได้ผลเท่าเดิม (ที่ทำงานในสำนักงาน) หรือไม่อย่างไรบ้าง จะติดตามประเมินผลกันอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร เป็นต้น

แต่อย่างน้อย ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ความจริงอีกหลายอย่าง เช่น เมื่อทำงานกันได้ที่บ้าน ทำเลที่ตั้งของสำนักงานก็ไม่สำคัญแล้ว เมื่อพื้นที่ทำงานต้องใช้งานในสำนักงานลดน้อยลง ก็น่าจะเป็นเหตุให้ ค่าเช่าสำนักงานถูกลงหรือลดลงด้วย เป็นต้น

และที่สำคัญที่สุด การทำงานจากบ้าน จะทำให้องค์กรได้รู้ความจริงว่า ผู้บริหารและพนักงานคนใด ยังมีความจำเป็นต่อองค์กรต่อไปหรือไม่อย่างไรบ้าง

แต่นี้ไป คำตอบของความอยู่รอด จะอยู่ที่ “คุณภาพ” จริงๆ ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image