เปิดเศรษฐกิจรอบใหม่จะเจอหนักกว่าเดิม : โดย สมหมาย ภาษี

เปิดเศรษฐกิจรอบใหม่จะเจอหนักกว่าเดิม : โดย สมหมาย ภาษี

เปิดเศรษฐกิจรอบใหม่จะเจอหนักกว่าเดิม : โดย สมหมาย ภาษี

การปลดล็อกดาวน์และเปิดเศรษฐกิจรอบใหม่ (Reopening Economy) แม้ว่าการป้องกันรักษาทางการแพทย์จะดีจนโควิด-19 จะไม่แพร่ระบาดขึ้นมาอีกในประเทศเรา แต่อย่าได้คิดว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาปกติเหมือนเดิม จากวันที่จะเปิดเศรษฐกิจรอบใหม่จนตลอดปีหน้า 2564 จะรั้งให้อยู่ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเศรษฐกิจย่ำแย่อยู่แล้ว จะยากยิ่งกว่าเข็ญครกขึ้นภูเขา

เหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไปไม่รอดมีมากมาย เห็นเด่นชัดเหลือเกิน ดังจะขอกล่าวเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

ประการแรก นักการเมืองไทยที่ได้รับการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบแล้วได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และจำนวนหนึ่งก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีหรือรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ด้านบริหารนั้น ตลอดช่วงเวลาขวบปีที่ผ่านมา ไม่ได้แสดงบทบาทของการบริหารประเทศให้ประชาชนเห็นว่าดีกว่าสมัยก่อนๆ แต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่แสดงสิ่งชั่วร้ายประจำอาชีพการเมืองมาให้เห็นอยู่เนืองๆ

Advertisement

ยิ่งในช่วงที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ประสบภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้ทั้งความเป็นอยู่ด้านสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในขณะนี้นั้น คิดว่าด้วยความฉลาดขึ้นของคนไทย ด้วยการพัฒนาของสิ่งที่ดีขึ้นในปัจจุบัน ตลอดทั้งสังคมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนก้าวไกลสามารถมองเห็นผลงานของพรรคการเมืองต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จากทีท่าและการพูดแล้วทำไม่ได้ของผู้บริหารประเทศทุกวันนี้ ประชาชนเขารู้และดูออกว่าท่านกำลังทำงานเพื่อประชาชนจริงจังแค่ไหน

ยิ่งมีการจัดเงินจากเงินกู้ก้อนใหญ่ถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 12.5% ของงบประมาณปี 2563 มาให้รัฐบาลนี้ใช้แบบเร่งด่วนนอกกรอบงบประมาณปกติไม่ต้องผ่านสภา ทำให้หน่วยงานทุกกระทรวงไปจัดใช้เป็นเบี้ยหัวแตก และมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยการจัดไปแจกเกษตรกรเพื่อการจ้างงานบ้าง การจัดเพื่อการอบรมเพิ่มทักษะบ้าง รวมทั้งการจัดซื้อต่างๆ ที่อ้างว่าไปช่วยคนจนในพื้นที่อะไรทำนองนี้ มันเป็นโครงการที่จะควบคุมการใช้จ่ายยากอย่างเหลือเข็ญทั้งนั้น ไปๆ มาๆ มันจะเป็นการก่อเรื่องให้ท่านรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดนี้ต้องเดือดร้อนจนไม่มีเวลามาบริหารประเทศได้ ก็ยิ่งจะเป็นการสร้างปัญหาไม่ใช่การแก้วิกฤตแต่อย่างใด

ในการประชุมระหว่างรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 22 เมษายนนี้ โดยท่านรองนายกฯ สมคิดได้กล่าวว่า ในวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ได้มาแล้วนั้น ได้จัดเงินไว้จำนวน 400,000 ล้านบาท เพื่อสำหรับใช้จ่ายในโครงการเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน

Advertisement

ซึ่งในโอกาสนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้กล่าวในที่ประชุมและได้มีการแถลงข่าวต่อมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะขอใช้งบดังกล่าวนี้ 10,000 ล้านบาท เพื่อมาช่วย SME และกระตุ้นการจ้างงานภาคเกษตร จำนวนที่ขอนี้ ดูไม่มากเมื่อเทียบกับเงินกู้ที่จัดไว้ 400,000 ล้านบาท แต่ท่านรัฐมนตรีอาจไม่ได้ทราบว่าในปีงบประมาณ 2563 นี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งปีเพียง 5,364 ล้านบาทเท่านั้น ที่ขอใช้พิเศษนอกงบนอกกรอบนี้มากกว่างบประมาณของกระทรวงถึงเท่าตัวนะครับ นอกเหนือจากนี้ SME ในประเทศยังจะได้รับเงินช่วยเหลือผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนถึง 500,000 ล้านบาท อีกต่างหากด้วย นี่แหละครับ ประเทศไทยยามเกิดวิกฤต หน่วยราชการมาช่วยกันเป็นพัลวันเลย

ประการที่สอง ตามความคิดของผู้บริหารประเทศชาติด้านเศรษฐกิจ เขาก็ต้องโทษการส่งออกและการท่องเที่ยวไว้ก่อน เครื่องจักรตัวใหญ่สุดนี้ในปี 2562 มีสัดส่วนลดลงเหลือประมาณ 56% ของ GDP แต่ก็ยังใหญ่ที่สุด เมื่อการหดตัวยังส่อเค้าให้เห็นชัดว่า ทำยังไงๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เครื่องจักรตัวใหญ่นี้ก็จะยังคงเป็นตัวฉุดที่หนักและแรงที่สุดต่อไป

เร็วๆ นี้มีข่าวว่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ได้กระเตื้องเป็นบวกขึ้นมา แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะการส่งออกในเดือนนั้นเป็นผลจากการสั่งนำเข้าจากต่างประเทศก่อนที่โควิด-19 จะระบาดครับ ขอให้ดูต่อไปในเดือนมีนาคมและเดือนต่อๆ มาว่าผลของการส่งออกจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร

ส่วนในเรื่องการท่องเที่ยวนั้น ทั้งโรงแรม บริษัททัวร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยว ต่างก็พากันเชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งปกติเรียกว่าเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกหนีอากาศหนาวโดยการแห่มาเที่ยวเมืองไทย แต่ขอให้ดูกันให้ดีเถอะครับว่าตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีนี้จนสิ้นไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งถือว่าเป็นฤดูการท่องเที่ยวของไทย จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนในประเทศไทย ถึงครึ่งของช่วงเดียวกันในปี 2562 หรือไม่

ประการที่สาม ผลผลิตด้านการเกษตรที่จะตกต่ำในฤดูการผลิตนี้ เพราะเทวดาไม่พอใจประเทศไทย หรือสุดแท้แต่นักการเมืองจะกล่าวอ้าง แต่ผลผลิตด้านการเกษตรแทบทุกอย่างจะหดตัวลงเพราะฝนแล้งหนัก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยิ่งกว่านั้นราคาก็ไม่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ผลผลิตด้านการเกษตรที่พอจะมีอนาคตสดใสบ้าง ก็จะเป็นพวกอาหารทะเล และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ แค่นั้น ปัจจุบันนี้ผลผลิตด้านการเกษตรมีสัดส่วนเพียง 8% ของ GDP น้อยกว่าผลผลิตด้านการท่องเที่ยว แต่ว่าประชาชนที่ทำงานในด้านการเกษตรเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ประการที่สี่ การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลสับสนและไม่มีการวางแนวทางที่เห็นว่าจะนำพาให้ประเทศผ่านพ้นความวิกฤตด้านเศรษฐกิจได้อย่างถูกทาง แผนงานด้านการคลังที่ออกมาโดยอาศัยการก่อหนี้ 1 ล้านล้านนั้น มองแล้วจะได้ผลแค่การเยียวยา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แต่แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว หาดูไม่เจอเลย ซ้ำร้ายกว่านั้น การจัดทำงบประมาณประจำปี 2564 ยังถูกปล่อยให้จัดทำกันแบบดั้งเดิม เหมือนไม่รู้ว่ามีวิกฤตรุนแรงเกิดขึ้น

ประการที่ห้า การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องชะลอกันแทบทั้งหมด ภาคเอกชนนั้นพอจะมีให้เห็นบ้าง แต่หลายๆ เรื่องต้องดึงไว้ก่อน เช่น เรื่องผลิตไฟฟ้า เกิดวิกฤตเที่ยวนี้คนก็รู้ว่าประเทศเราใช้ไฟฟ้าสำรองเท่าที่มีโครงการอยู่แล้ว บวกกับโครงการภาคเอกชนที่กำลังผลิตและได้เซ็นสัญญาผูกพันกันไปแล้ว ก็น่าจะเกินจะพอ แต่อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนยังมีโครงการใหญ่บางโครงการที่เป็นโอกาสให้เขาทำต่อไปได้บ้าง และยิ่งเป็นผลดีเพราะอีกสองปีต่อจากนี้ยังสามารถหาเงินลงทุนที่ดอกเบี้ยต่ำๆ ได้อีกมาก

ส่วนการลงทุนภาครัฐนั้นเห็นทีจะติดหล่ม โครงการเศรษฐกิจใหญ่ที่มีอยู่โครงการเดียว คือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่โฆษณาดังไปทั่วโลก ตั้งแต่ 2561 ตอนนี้เห็นเงียบฉี่ กว่า 6 เดือนแล้ว ไม่เห็นผู้รับผิดชอบทั้งนายใหญ่และตัวรองพูดอะไรถึงโครงการนี้สักคำ ก็เป็นสิ่งที่บอกให้ประชาชนรู้กันทั่วไปโดยปริยายว่า โครงการอีอีซีตอนนี้ต้องหยุดแล่นเหมือนเรือใหญ่ที่เกยตื้นยังไงยังงั้น

หากไปดูโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนไว้มากมาย ส่วนใหญ่ของโครงการเหล่านี้จะถูกชะลอหรือไม่ก็จะถูกยกเลิกไปเลย กว่าจะฟื้นกลับคืนมาได้คงไม่น้อยกว่า 2 ปีจากนี้

ประการที่หก การกระตุ้นการบริโภค เรื่องนี้ไม่ใช่คิดง่ายๆ ทำง่ายๆ แบบโครงการชิม ช้อป ใช้ ส่วนโครงการแจกเงิน 5,000 บาท โครงการแบบนี้ทำได้ในภาวะวิกฤตจริงๆ ไม่มีใครว่า เพื่ออะไร คือเพื่อการเยียวยาเท่านั้น เมื่อเงินหมดอะไรก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเหมือนการรดน้ำต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในดินที่แห้งผาก อย่างดีก็ทำให้ดูว่ามันชุ่มชื้นขึ้นบ้างก็เฉพาะในตอนที่รดน้ำเท่านั้น รากหญ้าและชาวไร่ชาวนาของไทยก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่ต้องดูอะไรมาก ขอให้ดูแค่ “หนี้ครัวเรือน” อย่างเดียวก็พอ เชื่อได้ว่าตัวเลขใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำออกมาปลายปีนี้ ตัวเลขจะเข้าไปใกล้ๆ 90% ของ GDP เป็นแน่

ประเทศที่อยู่ในระดับกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย หนี้ครัวเรือนสูงเกิน 80% ก็ถือว่าเทวดาก็ยังช่วยไม่ได้แล้ว ลองไปเช็กตัวเลขกับประเทศอื่นๆ ที่ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับไทย ไม่มีใครที่หนี้ครัวเรือนจะสูงเกิน 80% ของ GDP แต่ประเทศที่หนี้ครัวเรือนสูงเกินระดับ 80%หรือบางประเทศสูงเกิน 100% ของ GDP จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งไม่มีคนจนในประเทศเขาแล้ว เช่น ประเทศแคนาดา นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสูงสุดคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หนี้ครัวเรือนสูงถึง 132% ของ GDP

มาถึงจุดนี้ ผมสงสัยจริงๆ ว่าท่านหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ท่านยึดถือตำราของศาสตราจารย์ท่านใดในการแก้ปัญหาการกระตุ้นการบริโภคของประเทศกำลังพัฒนาที่หนี้ครัวเรือนสูงมาก การกระตุ้นการบริโภคของคนจนและชนชั้นกลางของประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 80% ของ GDP ทำได้ทางเดียว คือการจัดให้มีโครงการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในการดำรงชีพของคนจนและชนชั้นกลางที่เป็นจริงเป็นจังและยั่งยืนออกมาเท่านั้น

ประเทศไทยเราโดยพื้นฐานเป็นคนป่วยกระเสาะกระแสะมานาน องค์กรนานาชาติต่างๆ เขารู้ดีกันอยู่แล้ว ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 อาการป่วยของประเทศก็ยังไม่ค่อยจะฟื้น พอมาถึงปี 2561-2562 ก็ต้องเจอพิษของสงครามการค้าโลกระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา มาถึงตอนนี้ต้องมาเจอการระบาดของโคโรนาไวรัสอย่างที่เห็น ใครที่มีอำนาจมาก ใครที่มีเงินทองมาก จะคิดจะทำอะไรก็ขอให้เห็นใจประเทศที่ป่วยหนักของเราไว้ก่อนเถิดครับ

การเปิดเศรษฐกิจรอบใหม่ในไม่ช้านี้ ไม่ใช่จะเจอหนักในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ด้านสังคม และคอร์รัปชั่น ก็จะหนักไม่แพ้กัน

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image