ผลงานเศรษฐกิจ สำเร็จหรือ‘ล้มเหลว’ ต่อผลงาน‘โควิด’

ผลงานเศรษฐกิจ สำเร็จหรือ‘ล้มเหลว’ ต่อผลงาน‘โควิด’

ผลงานเศรษฐกิจ สำเร็จหรือ‘ล้มเหลว’ ต่อผลงาน‘โควิด’

มีความเชื่อนับแต่เริ่มแนวทาง “ประชารัฐ” อย่างแข็งขันเมื่อมีการเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่า

นี่จะเป็น “ผลงาน” อันยิ่งใหญ่ในทาง “เศรษฐกิจ”

ไม่เพียงแต่จะทำให้ความสำเร็จของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยไม่มี “ความหมาย” อะไรเหลืออยู่ในความทรงจำของประชาชนอีกต่อไป

Advertisement

หากแต่ยังเป็น “ฐานการเมือง” ให้กับ “คสช.”

หากแต่ยังนำไปสู่การจัดตั้ง “พลังประชารัฐ” โดยการส่ง 4 ยอดกุมารที่นำโดย นายอุตตม สาวนายน ลงไปขับเคลื่อนพร้อมกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นอย่างไร

พรรคพลังประชารัฐไม่เพียงแต่ไม่สามารถเอาชนะเหนือพรรคเพื่อไทย หากแต่ยังปรากฏ “ดาวดวงใหม่” ทางการเมืองผ่าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

“ทีมเศรษฐกิจ” เป็นอย่างไร “ทีมโควิด-19” ก็เป็นอย่างนั้น

ความมั่นใจจากแนวทาง “ประชารัฐ” ก่อให้เกิดสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” กลายเป็นเครื่องฟ้องให้เห็นภาวะเหลื่อมล้ำในสังคมฉันใด

ความมั่นใจในมาตรการ “เข้ม” ก็ส่อสะท้อนภาวะ “ใหม่” ได้ฉันนั้น

รูปธรรมหนึ่งซึ่งสร้างความผิดหวังเป็นอย่างสูง คือ รูปธรรมจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังในมือของ นายอุตตม สาวนายน

ทั้งๆ ที่เป็นการแจกเงินจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนให้กับประชาชนแท้ๆ แต่แทนที่จะได้รับเสียงชม ตรงกันข้าม กลับเป็นเสียงชยันโต

ไม่เพียงแต่ไม่ทัน “การณ์” หากแต่ยังมากด้วย “เงื่อนไข”

ไม่ทันการณ์ เพราะว่ามาตรการปิดเมือง ปิดงาน นำไปสู่การอพยพครั้งมโหฬาร และนำไปสู่การตกงาน การขาดรายได้อย่างพร้อมเพรียงโดยอัตโนมัติ

ภาพของคนเข้าแถวยาวเหยียดเป็นกิโล รอรับการบริจาค เห็นได้รายวัน

เบื้องหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงสะท้อนให้เห็นแนวทางบริหารจัดการอันยึดติดกับ “ความมั่นคง”

ยึดกุม “การปราบปราม” เหนือ “การต่อสู้”

เห็นว่าการยกพยุหโยธาของทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ติดอาวุธครบมือจะสามารถกำราบไวรัสให้สยบลงได้

มองผ่าน “การต่อสู้” ประสาน “การเยียวยา”

อาศัยความจัดเจนจากระบบคิด “การทหารนำการเมือง” จึงละเลยและมองข้ามระบบคิด “การเมืองนำการทหาร” ไป

ผลที่สุด ปัญหา “สุขภาพ” ก็บานปลาย

กลายเป็นปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ” บนแนวโน้มและความเป็นจริงที่จะทำให้คนตกงานทะยานไปสู่หลัก 10 ล้านคนทั่วประเทศ

กลายเป็นปุ๋ยอันดีบ่มเพาะปัญหาทาง “การเมือง” ขึ้นมา

ความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหา “เศรษฐกิจ” หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นอย่างไร แนวโน้มความล้มเหลวต่อปัญหา “ไวรัส” หลังเดือนมีนาคม 2563 ก็ฉันนั้น

กลายเป็น “ภาพจำ” เปรียบเทียบทาง “การเมือง”

ในเมื่อประเมินว่าตนเองสร้างผลงานในทาง “เศรษฐกิจ” ได้อย่างงดงามเสียแล้ว จึงไม่แปลกที่จะประเมินว่าตนเองสร้างผลงานในการปราบปราม “ไวรัส” ได้อย่างงดงามดุจกัน

อนาคตหลังสถานการณ์ “โควิด” เป็นเช่นใด คำตอบจึงเริ่มมีความเด่นชัดและเด่นชัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image