มาตรการสู้ โควิด-19 ที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ : โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ความเหลื่อมล้ำ : โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มาตรการสู้ โควิด-19 ที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ : โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ผู้เขียนขอออกตัวก่อนเลยว่าเห็นด้วยกับทิศทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกลุ่มคุณหมอ พยาบาล และ อสม. ทั้งหลายได้พานาวาไทยขับเคลื่อนผ่าวิกฤตไปสู่เป้าหมายที่ว่าชีวิตคนไทยต้องมาก่อน แต่ที่จะแลกเปลี่ยนต่อไปนี้เป็นส่วนที่เพิ่มเติมในรายละเอียดหรือจะเรียกว่าเป็น fine tuning กับสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้ว และต้องการสื่อให้เห็นว่าวิกฤตครั้งนี้นอกจากจะใหญ่หลวงนักแล้ว มาตรการสู้โควิด-19 ยังตอกย้ำอยู่บนโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำของไทยอีกด้วย แม้ว่าคนไทยทุกคนที่มีกำลังทรัพย์ กำลังแรงงานจะรีบเข้ามาช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากเพราะวิกฤตก็ตาม โดยบริจาคเป็นเงินบ้าง แรงงานบ้าง แต่การเสียสละเหล่านี้ก็เพียงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้ลงลึกไปยังสาเหตุที่คนที่ยากจนที่สุดประสบอยู่ เมื่อโควิด-19 ผ่านมาแล้ว ในที่สุดก็จะผ่านไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าคนที่ยากจนที่สุดและด้อยโอกาสที่สุดของสังคมไทยก็ยิ่งจะตกลึกลงไปในหุบเหวแห่งความยากจน ซึ่งเราจะเห็นประเด็นนี้ในตอนท้ายค่ะ

ประเด็นแรกก็คือ มาตรการงดและชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดที่เพิ่งประกาศควบคุมไม่ให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน รวมทั้งการปิดเมือง ปรับลดการขนส่งสาธารณะ ผู้วางนโยบายไม่ได้คิดว่าคนจำนวนหนึ่งนั้นไม่ได้อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ หากแต่มาทำงานแล้วส่งเงินกลับบ้าน เมื่อเรามีมาตรการล็อกดาวน์ คนเหล่านี้ตกงานเป็นจำนวนมากและจำเป็นต้องกลับบ้านเพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้านและกลับไปก็มีข้าวกิน สามารถเอาเงินออมที่ยังเหลืออยู่ หรือแม้แต่เงินเยียวยา 5,000 บาท กลับไปใช้และจุนเจือกับครอบครัวที่บ้าน แต่การล็อกดาวน์ของเรานั้น ทำให้คนเหล่านี้ตกงานแล้วขอร้องให้คนเหล่านี้ไม่เดินทาง ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าได้รับความไม่เป็นธรรม อดอยาก แออัด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยไม่มีใครดูแล ในขณะที่รัฐบาลก็เอาเรือบินไปรับคนไทยที่อยู่ต่างประเทศและให้กักกันตัวอยู่ในที่พัก ซึ่งคนกลุ่มนี้เห็นว่าหรูหราอลังการ แม้แต่คนต่างชาติที่เข้ามาตามชายแดนก็พาไปกักตัว ดูแลสุขภาพอย่างดี มีอาหาร 3 มื้อ

ยิ่งไปกว่านี้ โรคระบาดที่เป็น Pandemic ได้รับการประชาสัมพันธ์กับบางชุมชน จนเกิด Panic ขึ้นมา ไม่ยอมให้คนของตัวเองกลับบ้านหรือเข้าชุมชน เพราะกลัวว่าผู้ที่กลับจากเมือง ซึ่งเป็นเขตติดต่อจะนำพาโรคกลับไป

Advertisement

ที่จริงแล้วรัฐก็ควรมีการจัดการสนับสนุนส่งคนตกงานกลับบ้านอย่างเป็นระบบ โดยมีการคัดกรองที่จุดขนส่งเช่นเดียวกับคนที่กลับมาจากต่างประเทศและจะเป็นการตรวจกลุ่มเสี่ยงในเชิงรุกได้อีกด้วย

ประเด็นที่สองก็คือ การใช้วิธีการออนไลน์ในกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในเบื้องต้นก็จำเป็นต้องใช้วิธีการนี้ ซึ่งมีความรวดเร็ว สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากในระยะเวลาที่สั้นมากได้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะเราต้องการหล่อลื่นระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ก็ย่อมมีจุดอ่อนตรงที่เข้าไม่ถึงคนที่ยากจนที่สุดที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลหรือไม่มีมือถืออัจฉริยะ บทเรียนที่ได้คราวนี้ชี้ให้เห็นว่าควรจะมีกองกำลังเคลื่อนที่เร็วในระดับย่านเดินปูพรมลงไปสู่ชุมชนเปราะบาง ทีมนี้น่าที่จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรู้จักพื้นที่ดี เจ้าหน้าที่จากกระทรวงความมั่นคงของมนุษย์และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข หรือ อสม. ในพื้นที่ รัฐบาลยังใช้กำลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการเข้าถึงประชาชนมากที่สุด

ประเด็นที่สามก็คือ การปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่พักผ่อนของคนเมือง แต่ยังเป็นพื้นที่ใช้ทำมาหากินของคนจนเมืองอีกด้วย นอกจากนั้น ยังต้องทนอุดอู้อัดแน่นในบ้านทั้งๆ ที่อากาศร้อน ในขณะที่รัฐบาลก็ยังไปลดค่าไฟให้พวกเวิร์กฟรอมโฮมที่เปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน ทั้งๆ ที่ลดค่าไฟให้ทุกครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 800 บาทต่อเดือน ก็เพียงพอ

Advertisement

การเปิดพื้นที่สาธารณะไม่ได้หมายความว่าเปิดเรื่อยไป ยังจำเป็นต้องมีการรักษากติกาของการอยู่ห่างกันและการใส่หน้ากากเสมอ เพียงแต่เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในบ้านที่ค่อนข้างแออัด สามารถออกมาสูดลมหายใจและอากาศบริสุทธิ์ในสวนสาธารณะและชายหาดบ้าง

ประเด็นที่สี่ก็คือ การปิดโรงเรียน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นมาตรการสำคัญในตอนต้น แต่ไม่จำเป็นมากแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยและชั้นมัธยม เพราะผู้เข้าเรียนเป็นผู้ที่โตแล้ว สามารถอธิบายได้ว่าเมื่ออยู่โรงเรียนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อกลับจากโรงเรียนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องรักษาระยะห่างอย่างไร และการปิดโรงเรียนทำให้เศรษฐกิจของคนรากหญ้าหรือคนตัวเล็กตัวน้อยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างสูง

อย่าลืมว่าสถานการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่ของแต่ละจังหวัด เช่น ในเชียงใหม่เมื่อไม่มีการท่องเที่ยวแล้ว เงินค่าใช้จ่ายของนักเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน และลูกค้าหลักหมื่นต่อเดือนอยู่ๆ ก็หายวับไปกับตา หอพักก็ไม่มีคนมาอยู่ คนที่ขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกงก็ไม่มีลูกค้า ถ้ารัฐบาลจะเปิดให้มีการค้าขายได้ใหม่ โดยไม่เปิดสถาบันการศึกษาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกค้าจะมาจากไหน

นอกจากนั้น การปิดสถาบันการศึกษาอย่างกะทันหันยังทำให้การสอนออนไลน์เป็นไปอย่างฉุกละหุก ไม่มีคุณภาพ จึงควรจะเปิดสถาบันการศึกษา ยกเว้นโรงเรียนอนุบาลและประถมต้น ส่วนโรงเรียนก็ต้องเตรียมการสอนแบบสองกะ เพื่อที่จะสามารถรักษาระยะห่างได้ ซึ่งสองกะนี้อาจจะเป็นการแบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละหนึ่งกะ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เรียนออนไลน์ได้เพราะมีแท็บเล็ต ซึ่งอยู่บ้านได้ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ต้องมาโรงเรียนเพราะไม่สะดวกที่จะเรียนที่บ้าน

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ให้เด็กอยู่บ้านนั้นมีปัญหาอย่างยิ่งสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะไม่สามารถทิ้งลูกไปทำงานได้ ส่วนแม่ที่เวิร์กฟรอมโฮมก็ทำงานไม่ได้ ต้องสอนลูกออนไลน์ เพราะการสอนออนไลน์ของโรงเรียนนั้นยังไม่เข้าที่เข้าทาง

เมื่อมาถึงจุดนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายแล้วว่ามาตรการต่อสู้โควิด-19 นั้นตอกย้ำความเหลื่อมล้ำอย่างไร รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ หัวหน้าชุดโครงการคนเมือง 4.0 ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานคนไทย 4.0 ให้ความเห็นว่าความผิดปกติใหม่หรือที่เรียกกันว่า New normal ที่แท้แล้วเป็น Worse old normal สำหรับคนจนเมือง (https://www.khonthai4-0.net/)

รัฐบาลมาถูกทางแล้วก็จริง แต่ยังต้องเอาบทเรียนจากการทำงานครั้งนี้ถอดออกมาให้เป็นแนวทางการจัดการให้เป็นระบบ หากคราวหน้าเกิดการระบาดอีกครั้ง นอกจากเราจะได้ชื่อว่าจัดการโควิด-19 ได้ดีแล้ว ยังจัดการสังคมภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างไม่เหลื่อมล้ำอีกด้วย

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image