ที่เห็นและเป็นไป : ‘ความภูมิใจ’ที่ปฏิเสธไม่ได้

ที่เห็นและเป็นไป : ‘ความภูมิใจ’ที่ปฏิเสธไม่ได้

ที่เห็นและเป็นไป : ‘ความภูมิใจ’ที่ปฏิเสธไม่ได้

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นไปของโลก ประเทศไทยดูงดงามยิ่ง สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและได้อยู่ในประเทศไทยมากมาย

นั่นเป็นผลมาจากความสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างประสบความสำเร็จ อัตราการติดเชื้อรายวันลงจนเหลือแค่ไม่ถึง 10 คน อัตราการตายน้อยมาก บางวันไม่มี รักษาให้หายป่วยได้มากขึ้น จนเหลือที่ต้องนอนโรงพยาบาลน้อยลงเรื่อยๆ

ความกังวลว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ไหวหมดไปแล้ว หนำซ้ำโครงสร้างสาธารณสุขที่คิดทำคิดสร้างสะสมไว้ก่อนหน้านั้นอย่าง อสม. หรือ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” ได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างสูงว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ

Advertisement

ด้วยเหตุเหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบการรับมือโควิด-19 กับประเทศอื่นๆ ภาพที่ออกมาดูแตกต่างกันลิบลับ ประเทศไทยเราโชว์เหนือได้อย่างสง่างาม ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในฝันของคนไทยก่อนหน้านั้นอย่างฝรั่งเศส อิตาลี หรือประเทศยุโรปอื่นๆ

ประเทศเหล่านี้ดูกระจอกไปเลยเมื่อเทียบกับไทยเรา หากวัดกันด้วยความสำเร็จของการรับมือโควิด-19

ซึ่งนั่นเป็นเหตุของความภาคภูมิใจในประเทศ หลายคนบอกว่าเกิดความรู้สึกรักประเทศไทยมากมาย

Advertisement

นั่นย่อมเป็นเรื่องดีงาม และชวนให้ยินดี

แต่อย่างไรก็นตาม เพราะคนไทยเราดำเนินชีวิตด้วยวิถีพุทธ มีพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหมือนประทีปส่องทาง

ด้วยวิถีชีวิตที่มุ่งไปที่ความตื่นรู้ในสัมมาทิฏฐิ อันหมายถึงการมองเป็น “ชีวิตที่เป็นองค์รวม” ไม่ใช่เฉพาะมุมใดมุมหนึ่ง

ด้วยเหตุดังนี้ ทำให้มีเสียงเตือนขึ้นมาท่ามกลางความภาคภูมิใจ และชื่นชมยินดีดังกล่าว

เป็นเสียงเตือนที่ขอให้มอง “ชีวิตในมุมอื่นด้วย” ขอให้อย่าจมอยู่แค่ความดีอกดีใจกับความสำเร็จในการจัดการกับการระบาดของโรคร้าย

“ชีวิตไม่ได้มีแค่โควิด” ยังมีส่วนประกอบอื่นที่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ามีความสำคัญต่อ “การดำรงอยู่ของชีวิต” ไม่น้อยกว่าโควิด หรือบางทีอาจจะสำคัญยิ่งกว่า

การป้องกันโควิดที่เริ่มต้นจากการปลุก “ความกลัว” ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกทางแล้ว เพราะ “ความกลัว” ทำให้ง่ายต่อการกระตุ้นให้แสวงหาความรู้เพื่อสู้กับสิ่งที่กลัว

การ “ป้อนความรู้เกี่ยวกับโควิด และวิธีการป้องกันการติดต่อ” ยิ่งเป็นเรื่องถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะความรู้เป็นเครื่องมือหรือเป็นอาวุธให้สู้กับสิ่งที่ทำให้กลัวได้ดีที่สุด

และไม่ใช่เรื่องผิดที่จะออกระเบียบมาควบคุมคนที่เรียนรู้ไม่ได้ หรือประมาทไม่ยอมเรียนรู้ให้อยู่ในกรอบของพฤติกรรมที่ควรจะเป็น

ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงทั้งการปลุกความกลัว การเผยแพร่ความรู้ และการบังคับพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบของความรู้นั้นให้มากที่สุด ยิ่งไม่มีใครไม่เห็นดีเห็นงามด้วย

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ว่า “องค์รวมของชีวิตไม่ได้มีแค่โควิด” ควรจะอยู่ในความคิดของผู้บริหารจัดการ

ประเทศไทยเราน่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ชนชาติในฝันอย่างฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ยุโรปอื่น หรือแม้แต่ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์

แต่นั่นเป็นความน่าชื่นชมเฉพาะเมื่อเทียบด้วยความสำเร็จจากการรับมือโควิด

สำหรับในด้านอื่นของชีวิต ความยิ่งใหญ่ น่าใฝ่ฝันถึงของประเทศเหล่านั้นลบหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของคนในไทยหมดแล้วทุกด้านจริงหรือ

ความหมายของชีวิตแบบองค์รวมของประเทศเหล่านั้นไม่เหลืออะไรให้พวกเขาภาคภูมิใจจริงหรือ

ใช่หรือไม่ว่า บางทีระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลว แค่เป็นการให้ความสำคัญต่อ “ความกลัว” กับ “เสรีภาพ” ที่แตกต่างกันสำหรับความหมายของชีวิต

พวกเขาอาจพร้อมที่จะเลือกเผชิญหน้ากับ “ความกลัว” เพื่อรักษา “เสรีภาพ” ไว้

ในขณะที่เราเดินตาม “สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ” อย่างเข้มข้น

“เสรีภาพ” ที่ล้นเกินทำให้ประชาชนเรียกร้อง “สุขภาพ”

แต่อีกด้านหนึ่ง “ความกลัว” ที่เกินเหตุ ทำให้คำให้เกิดการเรียกร้อง “เสรีภาพ”

นี่เป็นเรื่องปกติของ “ชีวิตองค์รวม” ที่ต้องการความสมดุล ไม่ทนกับการถูกบีบอัดให้บิดเบี้ยว

เพราะความบิดเบี้ยวขององค์รวมนั้น ย่อมหมายถึงการรักษาด้านหนึ่งพวกหนึ่งไว้ และทำให้พวกอื่นด้านอื่นเดือดร้อนและทนอยู่ไม่ได้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตื่นรู้ และหาทางให้ชีวิตกลับสู่ภาวะแบบองค์รวมปกติ เพื่อคืนความปกติให้คนที่เดือดร้อน เพื่อรักษาสิทธิที่จะคงอยู่ต่อไปได้ของพวกเขาไว้

และนั่นคือความสำเร็จที่จะนำมาซึ่งความชื่นชมยินดีในประเทศ ในวัฒนธรรมของชาติ ที่ไม่มีชนชาติไหนไม่ยอมรับได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image