สถานีคิดเลขที่ 12 : สร้างงานสู้โควิด : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : สร้างงานสู้โควิด : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : สร้างงานสู้โควิด : โดย นฤตย์ เสกธีระ

ขอแสดงความยินดีกับประชาชนคนไทยที่มีโอกาสแสวงหารายได้ตามปกติอีกครั้ง

เมื่อรัฐบาลยอมผ่อนปรนมาตรการทางสาธารณสุขด้วยการอนุญาตให้ค้าขายกันอีกครั้ง

แม้จะกำหนดกิจกรรมกิจการแค่ 6 กิจกรรม แต่ก็ช่วยให้หลายชีวิตหลายครอบครัวมีรายได้เพิ่ม

Advertisement

เมื่อหารายได้ได้ ความเครียดก็ผ่อนคลายลงไป

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนเราจะยืมจมูกคนอื่นหายใจไม่ได้นาน

เงินเยียวยาที่รัฐบาลกู้มาให้นั้น ไม่ยั่งยืน

ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องสามารถหารายได้ได้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น การอนุญาตให้ค้าขาย ให้เปิดร้านค้า ให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้นั้น

ถือเป็นหนทางที่ดีแล้ว

สำหรับผู้คนที่มีโอกาสในเฟสแรกของการรีสตาร์ตธุรกิจ

ขอให้ช่วยกันทำให้การผ่อนปรนดำเนินไปสู่เฟสต่อๆ ไป

หวังว่า 14 วันข้างหน้าประเทศไทยจะผ่านเกณฑ์ความปลอดโรค

และสามารถทำให้ธุรกิจอื่นๆ มีโอกาสแสวงหารายได้กันได้บ้าง

วิธีการช่วยกันทำให้ประเทศกลับสู่ปกติก็ด้วยวิธีการที่มีการรณรงค์กันมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาด นั่นคือ สวมหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ เว้นระยะห่าง ใช้ช้อนส่วนตัว

และเมื่อถึงเวลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสอยู่ในความควบคุมได้

ประเทศไทยจะได้เปิดเมือง

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 เป็นโรคระบาดระดับโลก

แม้ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่อีกหลายประเทศในขณะนี้โควิด-19

ยังระบาดหนัก

อเมริกายังประสบปัญหา ยุโรปก็เช่นกัน

รวมไปถึงประเทศในอาเซียนที่ต้องอยู่ในสภาพไม่แตกต่างไทย

จึงคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่คืนกลับไปอยู่แบบเดิมในเร็ววันนี้

ดังนั้น ยังต้องมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ

เพราะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้ธุรกิจไทยอยู่ไม่ได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะหาเงินมาเลี้ยงดูแบบเยียวยาอย่างเดียวก็คงอยู่ไม่ได้นาน

คนที่รับเงินเยียวยาเองก็รู้ว่าไม่ยั่งยืน

หากยังไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเองได้

ทางที่ดีคือการสร้างงานให้กับคนไทยในภาวะที่เราเปิดเมืองกันได้

หลายคนคงคิดออกว่าเมื่อถึงเวลาเปิดเมือง

จะจ้างแรงงานไปทำอะไรได้บ้างเพื่อการพัฒนา

อาทิ ในช่วงแล้ง การจ้างงานเพื่อบริหารจัดการน้ำในฤดูกาลต่อไป

ทั้งขุดบ่อขุดสระลอกคลอง เก็บผักตบชวา สร้างฝาย และอื่นๆ

ในแต่ละชุมชนท้องที่ น่าจะก่อเกิดประโยชน์

การลงทุนเพื่อตระเตรียมคนในชุมชนท้องถิ่นเพื่อรับกับการท่องเที่ยวในโอกาสถัดๆ ไป อาจจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่

หรือท้องถิ่นท้องที่ใดที่มีไอเดียสร้างงานให้แก่ผู้คนที่ไม่มีงานทำ

หากคิดได้น่าจะทำโครงสร้างของบประมาณจากภาครัฐ

แม้เงินที่ใช้จ่ายในการสร้างอาชีพจะเป็นเงินงบประมาณเหมือนเงินเยียวยา

แต่ก็ถือเป็นงบฯ “ลงทุน” เพื่อประโยชน์ในอนาคต

ไม่ใช่เงิน “บริจาค” ที่ให้ไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพียงอย่างเดียว

ขณะที่ภาครัฐเตรียมการสำหรับอุตสาหกรรมวิถีใหม่ มุ่งเน้น เอส-เคิร์ฟ

ส่วนการท่องเที่ยวเริ่มหันมาพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ

เช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่นๆ ที่กำลังหาวิธีการใหม่เพื่อปรับใช้กับ “นิว นอร์มอล”

การสร้างงานในท้องถิ่นท้องที่โดยภาคส่วนต่างๆ ก็ยังน่าสนใจในยุคโควิด

ขณะนี้เริ่มเห็นหลายหน่วยงานเปิดจ้างงานผู้คนในพื้นที่กันแล้ว เช่น

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น

นี่ถ้าแต่ละท้องถิ่นท้องที่ตระเตรียมงานส่วนนี้เอาไว้

เมื่อเวลาเปิดเมืองมาถึง

แม้หลายธุรกิจจะประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ

แต่อย่างน้อยประเทศไทยก็ยังมี “งาน” รองรับ

งานเพื่อการพัฒนา งานที่ทำรายได้

งานที่มีให้ทำไปจนกว่าโลกจะคืนสู่ปกติ

จนกว่าภัยจากโควิด-19 จะหมดไป

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image