เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ไม่ติดและไม่แพร่ผ่านสัตว์น้ำ : โดย รศ.นสพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ไม่ติดและไม่แพร่ผ่านสัตว์น้ำ : โดย รศ.นสพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV2 ที่ก่อโรคโควิด-19 (COVID-19) ได้ก่อให้เกิดความกังวลถึงโอกาสที่สัตว์น้ำ (เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย และกบ) และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำเหล่านี้ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ ได้พบการระบาดครั้งแรกในตลาดขายอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำ และบางประเทศมีปริมาณการบริโภคสัตว์น้ำลดลง แต่จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จนถึงปัจจุบันยังไม่พบความเสี่ยง หรือรายงานว่าสัตว์น้ำมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และไม่มีรายงานการติดเชื้อในคนที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำเหล่านี้ ข้อมูลที่สนับสนุนว่าสัตว์น้ำไม่ติดและไม่แพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

ได้แก่ 1) ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์น้ำชนิดใด ทำให้เกิดโรคในคน 2) เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชอบเพิ่มจำนวนในระบบทางเดินหายใจและปอดของคนและสัตว์ แต่ปลาและสัตว์น้ำส่วนใหญ่ไม่มีปอด โดยสัตว์น้ำใช้เหงือกในการหายใจ 3) สัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็น ทำให้อุณหภูมิร่างกายไม่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องอาศัยการเพิ่มจำนวนในสิ่งมีชีวิตที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 37 องศาเซลเซียส 4) การศึกษาเปรียบเทียบตัวรับชนิด ACE2 ที่ไวรัสโควิด-19 ใช้เข้าสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิต พบว่าตัวรับชนิด ACE2 ของปลามีความแตกต่างกับคนหรือสัตว์บกชนิดอื่นอย่างมาก โดยมีความเหมือนกันของกรดอะมิโนเพียง 59% ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์แล้วเข้าสู่เซลล์ของปลาเพื่อเพิ่มจำนวนจึงเป็นไปได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ไม่ได้ปรุงสุก เช่น ปลาดิบ ซึ่งการปนเปื้อนอาจเกิดจากผู้เตรียมอาหารมีการติดเชื้อไวรัสและไม่ได้ป้องกันตัวเองอย่างดีพอในระหว่างการเตรียมอาหาร ดังนั้นจึงควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส และผู้เตรียมอาหารควรล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง

กล่าวโดยสรุปคือ ยังไม่มีรายงานว่าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สัตว์น้ำไม่มีส่วนในการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ดังนั้น สัตว์น้ำจึงเป็นแหล่งโปรตีนที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การเตรียมอาหารที่ถูกสุขอนามัยและปรุงสุก จะช่วยป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากผู้ปรุงที่อาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 และความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากยิ่งขึ้น

Advertisement

สาระสำคัญ 7 บรรทัด เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ไม่ติดและไม่แพร่จากสัตว์น้ำ

⦁ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันไม่พบว่าสัตว์น้ำ ปลา กุ้ง หอย ปู กบ ติดไวรัสชนิดใหม่นี้

⦁ สัตว์น้ำไม่มีส่วนในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น

Advertisement

⦁ สรีรวิทยาของสัตว์น้ำมีความแตกต่างจากคนค่อนข้างมาก โดยสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่มีปอด และตัวรับบนผิวเซลล์ต่อเชื้อไวรัสแตกต่างจากคน ทำให้โอกาสที่ไวรัสชนิดใหม่นี้จะติดสัตว์น้ำเป็นไปได้ยากมาก แม้ว่าเชื้อไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์ก็ตาม

⦁ ปัจจุบันยังไม่พบคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านการบริโภคสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ

⦁ อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคสัตว์น้ำที่ปรุงสุก หรือถ้าจำเป็นต้องบริโภคสัตว์น้ำดิบ เช่น ปลาดิบ ผู้ปรุงควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เช่น ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยขณะเตรียมอาหาร และผู้ปรุงควรมีสุขภาพแข็งแรง

⦁ สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมีความปลอดภัยในการบริโภค และสัตว์น้ำมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีสารอาหารที่จำเป็นหลายชนิด เช่น โอเมก้า-3 เป็นต้น

 

รศ.นสพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์
ภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ้างอิงข้อมูลจากเอกสารวิชาการ Asian Fisheries Science 33(2020):74-78. https://doi.org/10.33997/j.afs.2020.33.1.009

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image