พลวัตของอำนาจใน‘ชีวิตวิถีใหม่’ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เมื่อวิกฤตโควิด-19 ได้ดำเนินมาได้สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีการพูดถึง “นิว นอร์มอล” (New Normal) หรือชีวิตวิถีใหม่กันอย่างกว้างขวาง

ถ้าสืบค้นกันอย่างคร่าวๆ เข้าใจว่าคำว่า นิว นอร์มอล นั้นถูกใช้มาก่อนหน้าวิกฤตโควิดสักระยะหนึ่งแล้ว ในวงการเศรษฐกิจการเงินและธุรกิจ โดยทางสำนักข่าว Workpoint News ได้สรุปประเด็นไว้อย่างน่าสนใจในสกู๊ป “อะไรๆ ก็ “New Normal” แท้จริงแล้ว “New Normal” คืออะไร?”

ซึ่งโดยภาพรวมก็คือการพูดถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าภายหลังวิกฤตนั้น เศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิม คือก่อนวิกฤตอีกต่อไป เช่น จะเติบโตเร็วเหมือนเดิมเป็นไปไม่ได้

ส่วนในกรณีของนิว นอร์มอล หลังวิกฤตโควิด-19นั้นก็มีการกล่าวถึงกันหลายรูปแบบ มีการคาดเดากันต่างๆ นานา และก็มีการเริ่มอธิบายกันบ้างแล้วว่าชีวิตวิถีใหม่จะมีอะไรบ้าง ทั้งพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตที่มากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียนและการทำงาน ความบันเทิง

Advertisement

การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) รวมทั้งการใช้พื้นที่สาธารณะ การใส่ใจสุขภาพ ทั้งหน้ากากอนามัย การใช้เจลล้างมือ การสังเกตตัวเองเมื่อไม่สบาย

นอกจากนี้ ในแง่ทางเศรษฐกิจ การตัดสินใจลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้น การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยอาจจะลดลง และมีการใช้จ่ายเรื่องการประกันสุขภาพมากขึ้น (เพิ่งอ้าง)

และรัฐราชการไทยก็เริ่มหาคำเรียกใหม่ให้มีความเป็นไทย นั่นก็คือคำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” ดังที่จะเห็นจากการแถลงของทั้ง ศบค. และกระทรวงต่างๆ (เดิมก็มีการใช้คำว่า สงกรานต์วิถีไทย ท่องเที่ยววิถีไทย อยู่บ้าง) ซึ่งในรายละเอียด อาทิเอกสารของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (“New Normal” ชีวิตวิถีใหม่ และการปรับตัวในภาวะ COVID-19) (https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/all-media/55-covid-19/covid-km/1448-new-normal) และการแถลงสถานการณ์รายวันของ ศบค. ก็มีแนวอธิบายไปในทางเดียวกับที่ผมได้สรุปจากเอกสารของสำนักข่าวเวิร์คพอยท์นั่นแหละครับ

Advertisement

สิ่งที่นักวิชาการสายวิพากษ์สนใจในเรื่องของชีวิตวิถีใหม่นั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของปฏิบัติการทางอำนาจในรูปแบบและมิติที่เปลี่ยนไปจากเดิม ในทางทฤษฎีนั้นอำนาจในรูปแบบใหม่นั้นมีลักษณะที่สำคัญหลายประการ

1.อำนาจไม่ได้มาจากปากกระบอกปืนและกฎหมายเท่านั้น แต่อำนาจยังมีที่มาจาก “ความรู้” (power/knowledge) อีกด้วย หมายถึงอำนาจนั้นมีความสำคัญไม่ได้ เพราะมาจากกลไกตรงของรัฐอย่างทหาร ตำรวจ หรือสถาบันตุลาการเท่านั้น แต่อำนาจยังวางอยู่บนพื้นฐานความรู้

2.และเมื่ออำนาจมีที่มาที่หลากหลายขึ้น อำนาจที่มาจากฐานความรู้นั้นจะเชื่อมโยงกับ อำนาจเชิงสถาบัน (institutions) ที่หลากหลายกว่ากลไกการใช้กำลังบังคับตรง อาทิ สถาบันการแพทย์ สถาบันจิตแพทย์ สถาบันการศึกษา ดังนั้นบุคลากรจากสาขาและสถาบันเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาทางอำนาจเช่นกัน (ไม่ใช่แค่นักรบ)

3.อำนาจในสมัยใหม่เช่นนี้ทำงานในลักษณะของการบังคับ แต่ไม่ต้องบังคับด้วยปืน แต่บังคับด้วยการทำให้เรา “เป็นปกติ” นั่นก็คือ การตัดสินว่าอะไรคือ สภาวะปกตินั้นจะขึ้นกับสถาบัน บุคลากร และความรู้เหล่านี้ เช่น ตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะปกติ ไข้จะสูงเท่าไหร่ ระยะห่างกันควรจะมีแค่ไหน ทั้งๆ ที่ความรู้เหล่านี้บางทีไม่ได้ลงตัวเสียทีเดียว

4.ปฏิบัติการอำนาจที่สร้างให้เราปกตินี้เอง ทำหน้าที่ไม่ใช่บีบบังคับเราโดยตรงจากภายนอก แต่บีบบังคับเราจากภายใน โดยการก่อร่างสร้างตัวตนใหม่ให้กับเรา นั่นหมายความว่า ตัวตนของเรานั้นจะต้องถูกสร้างขึ้นด้วยมาตรฐานบางอย่าง เช่น สุขภาพที่ดีจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

5.การเฝ้าระวังในโลกสมัยใหม่นั้นมีความซับซ้อน และใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย และควบคุมตัวเราในทุกขณะจิต ไม่ใช่แค่ทางความคิด แต่ในการ “ปฏิบัติตน” ทีนี้มาถึงตรงนี้ คำเปรียบเปรยที่เราชอบใช้กันก็คือตัวอย่างหอเฝ้าระวังของทัณฑสถาน (panopticon) ที่ทำให้นักโทษนั้นรู้สึกว่าถูกจ้องมองตลอดเวลาทั้งที่จะโดนจ้องมองจริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่ก็จะระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา (ดูเพิ่มเติมที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ “คุกเล็ก คุกใหญ่” (1-2) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16-22 ธันวาคม 2559 และ 23-29 ธันวาคม 2559)

ขณะที่ในโลกสมัยใหม่นั้นการจับจ้อง และเฝ้าระวังนั้นอาจทำได้มากกว่าหนึ่งพื้นที่ เช่นกล้องวงจรปิดทั้งที่ใช้งานได้หรือใช้งานไม่ได้ หรืออาจจะต้องมองว่าปฏิบัติการทางอำนาจนั้นมีมากกว่าหนึ่งพื้นที่ แต่เป็นผลรวมของการจองจำในพื้นที่ย่อยๆ เปรียบเสมือนหมู่เกาะแห่งการจองจำ (carceral archipelago) ซึ่งอาจจะไม่ได้มีแค่รัฐเท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ แต่อาจจะมีสถาบันอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐโดยตรง หรือไม่เกี่ยวข้องกับรัฐโดยตรงในฐานะแนวปฏิบัติและผู้วางแนวปฏิบัติ (ดู Black Hawk Hancock. “Michel Foucault and the Problematics of Power: Theorizing DTCA and Medicalized Subjectivity”. Journal of Medicine and Philosophy. 43: 439-468, 2018)

ดังนั้นอำนาจที่แพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีศูนย์กลางเดียว เหมือนดังที่เราเชื่อว่า command center แบบศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะสามารถกำกับดูแลได้ แต่อำนาจในการบังคับให้เกิดการปฏิบัติตนนั้นอาจจะมีกระจายไปในพื้นที่ที่แตกต่างกัน และขยายตัวเองไปได้เรื่อยๆ ด้วยสถาบันที่แตกต่างกัน และ ด้วยปฏิบัติการที่แตกต่างกัน

6.ปฏิบัติการแห่งอำนาจนั้นไม่ได้มีลักษณะบังคับการปฏิบัติตนจากภายนอก แต่มีลักษณะของการที่ผู้ที่อยู่ในปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นยินยอมพร้อมใจที่จะปฏิบัติตนเอง การปฏิบัติตนเอง หรือปฏิบัติด้วยตนเองนั้นเน้นไปที่การสร้างเสริมวินัย และนิสัยใหม่ๆ หรือวิถีใหม่ๆ ดังนั้นการบังคับใช้อำนาจชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องมาจากการข่มขู่หรือห้าม แต่อาจจะมาจากการจูงใจให้ปฏิบัติตนเพราะ “มันดีกับตัวเรา มันดีกับสังคม/ชาติ” การขอความร่วมมือนั้นจึงเชื่อมโยงกับการปฏิบัติตน ดังนั้น “ตน” หรือ “ตัวตน” (self) นั้นจะต้องถูกสร้างขึ้นจากความร่วมมือ ร่วมใจ การยอมรับ และการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องจากสถาบันต่างๆ นั่นเอง

7.แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิบัติการแห่งอำนาจที่มีลักษณะของการกระจายตัว และ เน้นไปที่การก่อร่างสร้างตัวตนจากภายในของประชาชนที่ไม่ได้กลัวตำรวจทหารหรือกฎหมายเท่านั้น เขาอาจจะเชื่อว่ามันดีกับตัวเขาเองในการใส่ใจสุขภาพ และการดูแลปฏิบัติตัว (ไม่ใช่เพราะเชื่อรัฐ แต่เพราะเชื่อในความรู้) นั่นหมายความว่าภายใต้สิ่งที่เราเชื่อว่ามีเสรีภาพในการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและการซื้อยาบำรุงบางอย่าง เราก็ยังตกอยู่ในปริมณฑลทางอำนาจอยู่

8.ในประการสุดท้าย ใช่ว่าเมื่ออำนาจไม่ได้มาจากเบื้องบนเท่านั้น อำนาจมีลักษณะกระจายตัว ผลิตเองได้ต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และทำงานในระดับการสร้างตัวตนของเราใหม่ ไม่ใช่แค่ควบคุมให้เป็นไปตามกรอบเฉยๆ แล้ว จะไม่เกิดการต่อต้าน เพราะการต่อต้านนั้นอาจจะมีขึ้นทั้งจากการต่อต้านในแบบการขัดขืนกับการใช้อำนาจรัฐในแบบเดิม คือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไปจนถึงการท้าทายองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาและสถาบันทางการแพทย์ ในฐานะชุดความรู้ใหม่ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจไปทั้งหมด หากแต่ปริมณฑลในการต่อสู้นั้นมีด้วยกันหลายรูปพื้นที่) มีการศึกษาในโลกตะวันตกถึงการก่อตัวของขบวนการต่อสู้กับองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องของ HIV ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ท้าทายความรู้/อำนาจของวงการแพทย์เดิม

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องการชี้ว่าในสถานการณ์ชีวิตวิถีใหม่ในบ้านเรามีเรื่องที่ต้องพิจารณาอยู่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องวิถีใหม่ของอำนาจ และอำนาจของการทำให้วิถีปกติแบบใหม่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่วัคซีนโควิด-19 ยังไม่มี นั่นหมายถึงว่าองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ยังไม่สามารถครอบงำ หรือกำกับชีวิตผู้คนได้อย่างเบ็ดเสร็จ และอำนาจด้านการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข กับคณะแพทย์จากมหาวิทยาลัย (ซึ่งดูแลโรงพยาบาลขนาดใหญ่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ) ก็ยังคัดง้างกันอยู่บ่อยๆ

การปรับพื้นที่จำนวนมากให้สามารถรองรับการเว้นระยะห่างทางสังคมก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสถาปัตยกรรม รวมทั้งเทคโนโลยี เพราะเรายังเน้นใช้แรงงานคนในการกั้นเชือก และใช้คนยิงอุณหภูมิ รวมทั้งการตั้งด่านสกัดอยู่เสียเป็นส่วนมาก

อาจเป็นไปได้ว่าองค์ความรู้เรื่องวิถีอำนาจใหม่ที่ผมกล่าวถึงไว้อย่างพิสดารและไม่รู้จะรู้ไปทำไมนั้น อาจไม่ได้เข้ากันได้อย่างพอดีกับสังคมไทยเลย เพราะว่าวิถีอำนาจหลักของไทยไม่ได้ใหม่ขึ้นจากเดิมเลย เพราะผู้บริหารประเทศยังเป็นคนเดิมที่ยังอาจจะเชื่อว่าประเทศนี้เหมือนค่ายทหารและทุกวันจะต้องมีการพูดหน้าเสาธง มากกว่าเรื่องปฏิบัติการอำนาจที่ซับซ้อนและผ่านอำนาจ/ความรู้

ส่วนสถาบันที่สร้างอำนาจด้วยความรู้ก็อาจจะไม่ได้เน้นว่าทุกอย่างต้องมาจากการค้นความตรง แต่อาจจะมาจากการเข้าหาผู้มีอำนาจในพวกแรกที่ยังเป็นอำนาจผ่านกฎหมายและปลายกระบอกปืน

การใช้ “การ (ข่ม) ขู่” (“รับมือโควิด แบบไทยๆด้วยการออกกฎและ ‘ข่มขู่’” Ilaw.6/5/63: https://www.ilaw.or.th/node/5652) มากกว่าการสร้างความรู้และตระหนักในการดูแลตนเองจึงกลายเป็น “วิถีอำนาจเก่าในชีวิตวิถีใหม่” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และทำให้ทุกคนเหมือนจะสนใจว่าตกลงการจัดการเรื่องโควิด-19 นั้นเอาเข้าจริงเพราะความสามารถของผู้มีอำนาจเดิมนั้นมีไม่พอ เพราะต้องแบ่งอำนาจไปให้นักการเมืองตามครรลองของประชาธิปไตยที่ทำให้ตนนั้นอยู่รอดในอำนาจต่อไป

แต่ท้ายที่สุดเมื่อเกิดวิกฤตการณ์จริงๆ แล้วก็ไม่สามารถบริหารสถานการณ์ได้ด้วยวิถีปกติ และจำเป็นต้องสถาปนาอำนาจพิเศษเพื่อกลับไปใช้อำนาจในแบบเดิมๆ ได้

และสุดท้ายความล่าช้าในการวางมาตรการและกลับสู่วิถีชีวิตเดิมของผู้คน หรือแม้กระทั่งเดินหน้าเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ของผู้คนนั้นกลับสำคัญรองจากการรักษาอำนาจบริหารสถานการณ์ในสภาวะฉุกเฉิน หรืออำนาจภายใต้ข้อยกเว้นที่ตนถนัดในการใช้มาตลอดห้าหกปีที่ผ่านมา

สังเกตดีๆ การถอยออกจากสถานการณ์การใช้อำนาจพิเศษนั้นมีลักษณะยึกยักไม่ได้ต่างจากเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเท่าไหร่นัก

เพราะในท้ายที่สุดเหมือนจะเป็นว่า ชีวิตวิถีใหม่ของประชาชนนั้นเขาเริ่มปรับตัวกันมานานแล้ว แต่อนาคตของคนที่อยู่ในอำนาจนั้นจะยอมรับการกลับเข้าสู่ความปกติในการใช้อำนาจแบบเดิม/ก่อนหน้านี้ในวิถีประชาธิปไตยเลือกตั้งที่ต้องประนีประนอมอำนาจกับพรรคร่วม นักการเมือง พรรคการเมือง รัฐสภา เสรีภาพของประชาชน และม็อบ ได้มากน้อยแค่ไหน

ขอให้ผมคิดผิดและคิดไปเองคนเดียวเถิดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image