สถานีคิดเลขที่ 12 : เป็นปากเสียงใคร? : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่ 12 : เป็นปากเสียงใคร? : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่ 12 : เป็นปากเสียงใคร? : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ความคึกคักไปอยู่ที่การเตรียมปลดล็อก ให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในปลายสัปดาห์นี้

ข่าวความพร้อมของห้างร้านกิจการต่างๆ สื่อต่างๆ อัพเดตความคืบหน้ากันไม่หยุดหย่อน

ทางคุณหมอทั้งหลาย คงจะห่วงการหวนคืนกลับมาระบาดใหญ่ของไวรัสมรณะ แต่ในทางการบริหาร การตั้งการ์ดสูงป้องกันโควิดอย่างเหนียวแน่น เอาสุขภาพนำหน้าสิทธิเสรีภาพ ทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง

Advertisement

ที่ชัดเจนคือปากท้องประชาชนที่ตกงาน ขาดรายได้

คนที่รับจ้างวันชนวัน เช่าห้องเล็กๆ ซุกหัวนอน กลายเป็นคนไร้บ้านไปทันที

ต้องมานั่งชะเง้อรอรับน้ำใจจากผู้มีใจกุศลที่มาบริจาค ข้าว 1 กล่อง แบ่งกิน 2 มื้อ

เป็นความเดือดร้อนที่กระจายกว้างขึ้นและลงลึกขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจ่ายเยียวยาไม่ไหวแน่นอน ตู้ปันสุขก็ไม่น่าจะเอาอยู่

ขณะที่สถานการณ์โลก ก็เห็นกันว่า แรงกดดันทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ ตัดสินใจผ่อนคลาย กลับมารีสตาร์ตกันเป็นแถว

ทั้งประเทศอย่างสหรัฐที่ตัวเลขวิกฤต หรือเยอรมนีที่มีระบบจัดการปัญหาเป็นต้นแบบ

ประเทศไทยก็อยู่ภายใต้ความจำเป็นที่ไม่ต่างกันนัก

เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศ จะต้องแสดงฝีไม้ลายมือในการบริหารจัดการ ผสมผสานมาตรการสู้ไวรัส กับความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อไปเข้าด้วยกันให้ได้

ส่วนการเมืองที่เงียบเหงามานาน สัปดาห์หน้าจะเปิดสมัยประชุมสภา ตั้งแต่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป

มีเรื่องจะต้องปรับตัวกันมากเหมือนกัน

การประชุม ส.ส.-ส.ว. ในห้องประชุมใหญ่ การประชุมกรรมาธิการ และอื่นๆ จะเป็นไปตามแนวนิวนอร์มอลยังไง จะนั่งห่างนั่งใกล้กันมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เป็นประเด็นน่าสนใจ

ที่สำคัญมากกว่า คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ จะมีบทบาทอย่างไร ในวิกฤตระดับโลกครั้งนี้

เป็นวิกฤตที่กระทบประชาชนทุกระดับชั้น

หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่แค่ยกมือตามโผเท่านั้น แต่ต้องทำงานสอดรับกับวิกฤต เสนอแนะฝ่ายบริหาร คือรัฐบาลในเรื่องต่างๆ

อย่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ที่จะเข้าสภา ตอบโจทย์การแก้วิกฤตไวรัส ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อย่างทั่วด้าน หรือไม่

ไปจนถึง พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้าน ที่จะต้องนำมาขอความเห็นชอบจากสภาโดยไม่ชักช้า สภาต้องตรวจสอบเข้มข้น

ในการบริหารงานโดยทั่วไป ต้องตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านหรือไม่

สภาต้องเรียกความมั่นใจของประชาชนกลับมาว่า เป็นปากเสียงให้ประชาชน ไม่ใช่แค่มานั่งกินเงินเดือน เบี้ยประชุมไปวันๆ

ในโลกของนิวนอร์มอล ความหมดหวัง สิ้นหวังของประชาชน จะมีผลมากกว่าในอดีตที่ผ่านๆ มา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image