สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองไทยหลังโควิด : ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองไทยหลังโควิด : ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองไทยหลังโควิด : ปราปต์ บุนปาน

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับมติชนทีวี ถึงแนวโน้มทิศทางของการเมืองไทยหลังโควิด-19 ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนข้อแม้ที่ว่าแม้รัฐบาลจะสามารถควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ แต่กลับสร้างปัญหาอื่นๆ ไว้เยอะแยะมากมายไปพร้อมๆ กัน

หรืออาจกล่าวได้ว่าต้นทุนของมาตรการล็อกดาวน์ การประกาศเคอร์ฟิว และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ได้สร้าง “โรคภัยทางสังคมและการเมือง” ชนิดอื่นๆ ให้เกิดขึ้นตามมา

อาจารย์ประจักษ์มองว่ามี 4 ปัจจัยทางการเมืองที่น่าจับตา หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา คลี่คลายตัว

Advertisement

ปัจจัยแรก คือ บทบาทของนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ ซึ่งกระแส “แฟลชม็อบ” ที่เคยจุดติดไปแล้ว น่าจะหวนย้อนกลับมาหลังวิกฤตโควิด เนื่องจากประเด็นพื้นฐานที่พวกเขาไม่พอใจรัฐบาล/ภาครัฐ ยังคงดำรงอยู่อย่างครบถ้วน

ปัจจัยต่อมา คือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล ทั้งระหว่างผู้นำรัฐบาลกับพรรคร่วม รวมถึงระหว่างกลุ่มก้อนต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐเอง

ด้านหนึ่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น เกือบจะเป็น “รัฐประหารเงียบ” เมื่อกลไกรัฐราชการถูกนำมาใช้แก้ปัญหาสาธารณสุข ท่ามกลางบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรที่หายไป ส่วนบทบาทของนักการเมือง เช่น หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลระดับรองๆ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็ถูกกดทับ

คำถามสำคัญหลังจากนี้ คือ สายสัมพันธ์ระหว่างพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์กับผู้นำรัฐบาล จะยังแนบสนิทหรือไม่?

อีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐกลางสถานการณ์โรคระบาด-ความเดือดร้อนอื่นๆ ก็ช่วยฉายภาพให้เห็นความเป็น “พรรคการเมืองเฉพาะกิจ” ที่มักประกอบด้วยหลายมุ้งหลากก๊ก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ

ทางสองแพร่งของพรรคพลังประชารัฐ อาจอยู่ที่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเองจริงหรือไม่? ถ้าจริง ภาพลักษณ์ความเป็นพรรคทหาร-พรรคสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารก็ยิ่งเด่นชัด แต่ถ้าไม่จริง ความแตกแยกระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพรรค ก็คงลุกลามยืดเยื้อไปเรื่อยๆ

ปัจจัยที่สาม คือ บทบาทของคณะก้าวหน้า ซึ่งแค่ยิงเลเซอร์ “ตามหาความจริง” ก็สามารถสร้างความสั่นสะเทือนทางการเมืองได้แล้ว นี่เป็นแนวโน้มที่บ่งชี้ว่าความเคลื่อนไหวนอกสถาบันการเมืองจะทวีความคึกคักขึ้น

เท่ากับว่าผลลัพธ์มุมกลับของการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ การได้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอิสระ มีพลัง และจะปฏิบัติตนเป็น “ฝ่ายค้านตัวจริงนอกสภา” มาแทนที่

ปัจจัยท้ายสุด คือ ประชาชนที่จะประสบปัญหาปากท้อง-ความยากลำบาก ทั้งยังรู้สึกว่าพวกตน “ถูกทอดทิ้ง” ไว้ข้างหลัง เมื่อต้องตกงาน ขาดแคลนรายได้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากโรคระบาดใหญ่

อาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์ว่าเหตุปัจจัยเหล่านี้ล้วนนำมาสู่การลุกขึ้นเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ทั้งสิ้น

การเมืองไทยหลังโควิด-19 จึงไม่มีทางสงบนิ่งอยู่ในสภาพเดิมๆ เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน? อย่างไร? เท่านั้นเอง

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image