คนจนหลุดระบบ ในระบอบการจัดการความยากจน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เรื่องดราม่า “ตู้ปันสุข” กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างมากมายในสังคมไทยภายใต้วิกฤตโควิด-19

สรุปไว้เตือนความจำและเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันก็คือ มีความริเริ่มจากประชาชนในการนำเอาสินค้าไปใส่ไว้ที่ตู้ตามที่ต่างๆ เพื่อให้คนที่เดือดร้อนนั้นมาหยิบไปได้เอง แตกต่างจากโรงทาน และการแจกอาหารตามที่ต่างๆ

ปรากฏว่ามีหลายพื้นที่ที่มีคนที่หยิบเอาไปหมดตู้เลย โดยไม่แบ่งให้คนข้างหลัง หรือมีกรณีคนเก็บตู้เข้าบ้านก็ไปโวยวายว่ามาตั้งไกลทำไมไม่มีแล้ว

เรื่องราวดราม่าส่วนมากมักเป็นเรื่องเชิงศีลธรรมว่า ตกลงการให้นั้นควรคาดหวังไหม และในอีกด้านหนึ่ง คนจนควรมีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อมารับของบริจาค เช่น ควรต้องไหว้ตู้ไหม

Advertisement

เรื่องดราม่านั้นลามไปถึงเรื่องของการขานรับของรัฐบาลว่าน่าจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเอาไว้เพื่อคอยดูพฤติกรรมของคน และนักการเมืองบางพรรคก็เริ่มเอาของไปใส่ตู้ที่มีการวางไว้ และบางทีหน่วยงานรัฐบางหน่วยก็สนใจที่จะทำ

ผมชอบสิ่งที่โค้ชแบงค์ แห่งกลุ่มอิฐน้อย หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการของคุณจอมขวัญอยู่วันหนึ่ง ว่าหัวใจสำคัญของตู้ปันสุขนั้นคือเรื่องของ “ชุมชน” ที่จะเข้ามาดูแลในพื้นที่เล็กๆ และในสเกลเล็ก

ไม่ใช่ตัวแบบเดียวกับ “โรงทาน” หรือโมเดลการแจกของทั่วไป ที่ต้องมีคนมากำกับดูแลเพราะสเกลมันใหญ่ และคนที่รับอาจมีจำนวนมากกว่าที่คนให้นั้นเองจะแบกรับได้

Advertisement

เรื่องนี้ตู้แบ่งปันที่ดราม่ากันในเรื่องของพฤติกรรมการรับและให้นี้ทำให้ผมมานั่งพิจารณาว่า ก่อนหน้านี้เรามักจะพูดกันเรื่องเมืองแบ่งปัน และเศรษฐกิจแบ่งปัน กันอยู่มาก แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นเรื่องที่ไม่เหมือนกันเสียเลย

เมืองแบ่งปันและเศรษฐกิจแบ่งปันก่อนโควิดเป็นเรื่องที่พูดกันในบริบทของความตื่นเต้นในเทคโนโลยีว่าจะเข้ามาเติมเต็มความต้องการของมนุษย์ (บางกลุ่ม) ได้มากขึ้น เช่น ระบบรถแทกซี่และส่งอาหารที่วางอยู่บนการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า (คือเอามาใช้ทั้งส่วนตัวแล้วเอามารับจ้าง) ด้วยการจัดสรรจากระบบอัจฉริยะ

หรือไม่ก็พูดถึงการเอาพื้นที่รกร้างมาใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่พื้นที่รกร้างในเมืองนั้นไม่มีหรอกครับ เพราะความรกร้างนั้นเป็นเรื่องของความจงใจเพื่อรอมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้น หรือสะท้อนความอ่อนแอของระบบการบริหารที่เดินเมืองที่ไม่ได้สนใจจะผลักดันหารใช้ที่ดินให้มีความรับผิดชอบต่อพื้นที่และชุมชนโดยรอบเสียมากกว่า

แต่ในอีกด้านหนึ่งก่อนวิกฤตโควิด-19 ผมเองได้มีโอกาสที่ไปรับฟังแลกเปลี่ยนกับพี่ๆ ในชุมชนแห่งหนึ่งที่ภูเก็ต ที่เขามีความคิดว่าเขาจะสร้างระบบแบ่งปันอีกแบบหนึ่งขึ้นมากับระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน นั่นคือเรื่องของการรวมตัวกันของพี่ๆ ในชุมชนที่จะเสนอความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องของความเชี่ยวชาญเรื่องช่าง ในการรับซ่อมแซมบ้านและอาคารต่างๆ ที่เป็นสเกลเล็กๆ ไม่ต้องพึ่งบริษัทรับเหมา และเขาก็คิดว่าถ้ามันไปได้ดี เขาก็อาจจะจัดตั้งบริษัทของชุมชนในการรับงานระดับรับเหมาก่อสร้างกันเลยทีเดียว (เศรษฐกิจของภูเก็ตเริ่มกระทบมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว และหากมีบางส่วนที่เติบโต ก็เบียดขับคนที่เปราะบางกว่า ทุนไม่หนาพอในการเข้าถึงโอกาสมานานแล้ว)

ที่เขียนมานั้นต้องการชี้ให้เห็นว่าเรื่องของ “การแบ่งปัน” นั้นมีด้วยกันหลายแบบ และคนที่เดือดร้อนจริงๆเขาก็อาจจะต้องการระบบการแบ่งปันที่ซับซ้อนหลากหลายขึ้นด้วย มากกว่าเรื่องของแจกของเท่านั้น เพราะการแบ่งปันอาจจะมีเรื่องของการสร้างพื้นที่โอกาสใหม่ๆ ให้กับคนที่เดือดร้อน และอาจจะเกิดจากการริเริ่มด้วยคนเหล่านั้นเอง

ทีนี้มาถึงเรื่องใหญ่ที่ผมเองก็ยังคิดไม่ตก แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่พูดกันน้อยในบ้านเรา เลยอยากจะลองนำเสนอดู

ผมคิดว่า มันมีเส้นปริแตกที่ไม่ลงรอยกันพอดีระหว่างความเข้าใจเรื่องคนจน กับความเข้าใจเรื่องความยากจน

ส่วนใหญ่เราสนใจกับเรื่องความยากจน (poverty) ทั้งในแง่ของการวิจัยและการออกนโยบายต่างๆ มากกว่าสนใจคนจนจริงๆ

หมายความว่า เราสนใจคนจนในฐานะผู้ที่มีคุณสมบัติของความยากจน คือ คนจนนั้นจะต้องมีคุณสมบัติหนึ่งสองสามสี่ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง มื่อครบองค์ประกอบนี้เราก็จะเรียกพวกเขาว่าคนจน

การแก้ปัญหาคนจนจึงเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาองค์ประกอบหรือเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขาจน เช่น รายได้ ปัจจัยสี่ การปรับแก้วัฒนธรรมแห่งความยากจน (culture of poverty) และคุณลักษณะทางการเมืองบางอย่าง เช่น การพึ่งพาระบบอุปถัมภ์

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งอาจจะหันไปเลือกข้างและอธิบายว่าคนจนนั้นไม่ผิด ที่ผิดคือโครงสร้างที่ทำให้พวกเขาจน ดังนั้นก็ต้องไปแก้ที่โครงสร้างเหล่านั้นอยู่ดี

หากเราซื้อข้อถกเถียงนี้ เราคงจะต้องลงไปทำการศึกษามากขึ้นว่าในพื้นที่ที่ตู้ปันสุขนั้นสำเร็จมันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง และในพื้นที่ที่มีดราม่านั้นมีปัญหาอะไรบ้าง (เช่น อาจเป็นไปได้ว่าที่มีดราม่านั้นเพราะความเป็นชุมชนนั้นไม่เข้มแข็ง จึงไม่มีกลไกในการจัดสรรและแบ่งปันกันที่ลงตัว อาจเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ความยากจนในบริเวณใกล้เคียงมากและเข้มข้น/กระจุกตัว จึงต้องการมาก หรือไม่มีระบบการสำรวจความต้องการของชุมชน/พื้นที่อย่างเป็นระบบก่อนการตัดสินใจ

เรื่องที่จะชวนคิดต่อก็คือ ถ้าไม่ศึกษาความยากจนแต่มาสนใจคนจนเนี่ยจะศึกษาอย่างไร ที่ไม่ใช่แค่ศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติคนจนในแบบการสำรวจ

คำตอบหนึ่งก็คือ คนจนและความจน (ที่ไม่ใช่ความยากจน) นั้นมันถูกจินตนาการขึ้นมาอย่างไร และมันถูกถ่ายทอดออกมาในนโยบายและสถาบันที่จัดการคนจนได้อย่างไร เช่น ในโครงการ นโยบาย ในคำปราศรัย คำให้สัมภาษณ์ของผู้มีอำนาจ ระบบราชการ และผู้รับผิดชอบในเรื่องคนจนและความยากจนอย่างไร

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความจริงหนึ่งเดียว แต่หมายถึงเรื่องของคำอธิบายที่มาพร้อมกับความรู้ อำนาจ ปฏิบัติการจำนวนมากมายทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันของรัฐและประชาสังคมในการจัดการความยากจน (เห็นไหมครับว่าใช้คำว่าจัดการคนจนไม่ได้ ทั้งที่จริงมันน่าจะสอดคล้องกันว่า การจัดการปัญหาความยากจน ก็เชื่อมโยงกับการจัดการคนจนอยู่ดี) และรวมกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรรศนะและปฏิบัติการของผู้คนที่มีต่อคนจนและความยากจน (เช่น ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน หรือพวกคนจนนี่เป็นพวกที่ไม่มีคุณธรรม พวกนี้ควบคุมตัวเองไม่ได้ มักมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากความปกติ)

ผมอยากลองยกตัวอย่างประเด็นบางประเด็นที่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจคนจนมากกว่าความยากจน (เช่น สาเหตุของความยากจน การใช้เครื่องมือทางนโยบาย การวิเคราะห์เชิงนโยบาย) มาอภิปรายสักสองสามเรื่อง

หนึ่ง : ผมรู้สึกว่าระบอบการปกครองของไทยส่วนหนึ่งยังมีลักษณะของการปกครองคนจน และการปกครองคนจนนั้นยังอยู่ในตัวแบบ “อาณานิคม” อยู่สูงมาก (ผมได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากงานของท่านอาจารย์ สิงห์ สุวรรณกิจ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในบทสัมภาษณ์ “ความตายรายวัน ความจนชั่วนิรันดร์ : การระบาดและความเหลื่อมล้ำในใต้ถุนประวัติศาสตร์” โดย คุณอิทธิพล โคตะมี และ คุณชินกฤตเชื้ออินต๊ะ (waymagazine. 23 April 2020.) ทั้งในเรื่อง Subaltern Studies และ Post-Colonial Studies)

แต่ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ก็คืออภิมหาเรื่องเล่า (meta-narrative) ของบ้านเราที่มองว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคม และก็ยังมีอีกอภิมหาเรื่องเล่าว่า บ้านเราเป็นอาณานิคมจากภายใน แต่คำอธิบายเรื่องอาณานิคมจากภายในนั้นก็ไม่ได้อธิบายว่าระบบที่สลับซับซ้อนจากของอาณานิคมจากภายในนั้นเป็นอย่างไรมากไปกว่าเรื่องของชนชั้นนำกับปัญหาพื้นที่และผู้คนนอกพระนคร

ถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบอาณานิคมในการศึกษาสังคมไทย โดยยังไม่ได้เน้นถึงการต่อต้านของผู้ใต้อาณานิคม เราอาจจะเห็นรูปแบบการก่อร่างสร้างระบอบการจัดการคนจนที่หลากหลายและมีพลวัตได้หลายแบบแตกต่างกันไปในหลายกระทรวง ที่เกิดมาก่อนการแบ่งปันอำนาจให้กับคนจนมากขึ้นในปี 2475 หรืออธิบายได้ว่า ความทันสมัยของไทยนั้นไม่ได้มีขึ้นโดยไม่ได้สนใจคนจนและความยากจน แต่รัฐและชนชั้นนำไทยมีวิธีการเข้าใจ สร้าง และจัดการคนจนอย่างไรจากอดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งวิธีดังกล่าวนั้นอาจจะมีได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของกระทรวงมหาดไทย การจัดการการศึกษาของกระทรวงธรรมการ และกระทรวงศึกษา การจัดการการทำกินของกระทรวงเกษตร นับตั้งแต่ก่อน 2475 ช่วง 2475 ที่ไม่สามารถบังคับใช้เค้าโครงเศรษฐกิจ ช่วงยุคแห่งการพัฒนา และอาจจะเรียกประเด็นร่วมสมัยว่ายุคเสรีนิยมใหม่อะไรทำนองนี้

การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ดูแค่นโยบายและกฎหมาย แต่ต้องดูเรื่องของความคิดเรื่องการปกครองทางความคิด (governmentality) ซึ่งหมายถึงการก่อร่างสร้างตัวตนผู้รับนโยบาย ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากเรื่องราว ความเข้าใจ ความปรารถนา อีกมากมายของผู้ที่ยึดกุมอำนาจเอาไว้ ในการสร้าง “คนจน” คำอธิบายเรื่อง “ความจน” และวิธีการแก้ปัญหา “ความยากจน” ขึ้นมา

ความสัมพันธ์ระหว่างคนจนกับคนชั้นนำนั้นอาจจะมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น เมื่อความสัมพันธ์ของคนจนกับชนชั้นนำมีการคั่นกลางด้วยการเกิดมาของคนชั้นกลาง ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในพัฒนาการของประวัติศาสตร์ด้วย และเชื่อมโยงกันกับทั้งชนชั้นนำและคนจนด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และเงื่อนไขทางอุดมการณ์วัฒนธรรม รวมทั้งการเมืองที่อาจไม่สอดคล้องต้องกันกับความสัมพันธ์เดิมที่ชนชั้นนำและคนจนนั้นมีความสัมพันธ์กันมาก่อน อาทิ การที่ชนชั้นนำ และชนชั้นกลางนั้นในบางกรณีต้องแย่งคนยากจนเป็นพวก หรือ บางทีชนชั้นกลางอาจรู้สึกว่าคนจนที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นล่างนั้นอาจจะเป็นอุปสรรคทำให้ชนชั้นกลางไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำ หรืออาจทำให้ชนชั้นกลางเสียผลประโชน์บางอย่าง เช่น เรื่องของการต่อต้านนโยบายประชานิยม และระบบอุปถัมภ์ที่ชนชั้นกลางบางส่วนนั้นไม่ชอบ

คำอธิบายเรื่องของอาณานิคมนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในคำอธิบายอันทรงพลังในการอธิบายถึงคุณลักษณะของความไม่เท่ากันในสังคมที่ชัดเจน ตรงที่ว่า เมื่อคนไม่เท่ากันนั้น คนแต่ละกลุ่มก็ย่อมจะต้องทำหน้าที่ที่แตกต่างกันในองคาพยพเดียวกัน แต่คำอธิบายในแบบอาณานิคมนั้นก้าวไกลกว่าเรื่องทางปรัชญาการเมืองแบบโบราณไปอีกขั้นเพราะความไม่เท่าเทียมกันนั้นถูกรองรับโดยอุตสาหกรรมในการผลิตความรู้ในยุคสมัยใหม่ ดังเช่นระบบอาณานิคมนั้นเกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสมัยใหม่ตอนต้นเสียเป็นส่วนมาก

คำอธิบายถึงความไม่เท่ากัน และความไม่มีสิทธิของคนจนจึงไม่ได้ถูกสร้างจากคำอธิบายในทางปรัชญา แต่ถูกสร้างผ่านระบบสมัยใหม่ของการสร้างความรู้งานวิจัยบางรูปแบบ เช่น การทำการสำรวจ การสังเกต หรือการสร้างระบบความรู้แบบประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ สังคมวิทยาชนบท ทฤษฎีการสร้างความทันสมัย (modernization) ตลอดจนอาชญาวิทยาบางสาขา ที่มองเห็นว่าความยากจนนั้นมีความสัมพันธ์ที่สอดคล้อง หรือบ้างก็ถึงระดับเป็นเหตุเป็นผลกับพฤติกรรมหรือปรากฏที่ไม่พึงประสงค์บางประการ

จุดมุ่งหมายสำคัญในแง่นี้ของระบบอาณานิคมก็คือ การควบคุมด้วยความห่วงใย ด้วยว่าคนจนนั้นยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง หรือได้ในส่วนที่เท่าเทียมกับคนอื่น

สอง : การจัดการคนจนอาจจะอยู่ในลักษณะของระบบสวัสดิการ ซึ่งเราอาจจะรู้สึกว่าสังคมที่มีสวัสดิการนั้นเป็นสังคมที่เจริญ หรือเพราะผ่านการต่อสู้มานาน

แต่ในอีกมุมหนึ่งสังคมที่มีระบบสวัสดิการนั้นอาจไม่ใช่เรื่องของชัยชนะของคนจนเสมอไป แต่อาจจะเป็นเรื่องของ “การประนีประนอมทางชนชั้น” (class compromise) ที่มีเงื่อนไขมากมายเพื่อหล่อเลี้ยงระบบเอาไว้ เช่น การยอมแลกเอาผลกำไรบางส่วนของชนชั้นนายทุนไปมอบให้กับคนจนนั้นก็เพื่อที่จะไม่นำพาสังคมไปสู่การปฏิวัติ ที่ล้มล้างทั้งระบบ แต่ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับฉันทามติบางประการ ที่จะอยู่ร่วมกัน หรืออาจจะกล่าวอีกอย่างว่า รัฐ/ระบบสวัสดิการเอาเข้าจริงก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของคนจน แต่เป็นสิ่งที่นำไปสู่การประนีประนอมในการต่อสู้ และการต่อสู้นั้นจะต้องเป็นการต่อสู้อันเป็นนิรันดร์

นอกจากนั้น อาจมีคำอธิบายว่าระบบสวัสดิการของรัฐที่มีกับคนจนนั้นเอาเข้าจริงเป็นเรื่องที่มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนจนจะต้องยินยอม/ยอมรับการควบคุมจากรัฐ อาทิ ระบบการลงทะเบียนต่างๆ ระบบการยอมรับการสอดส่องจากรัฐว่าจนจริงไหม ทั้งนี้เพราะนโยบายสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ในหลายที่นั้นมีไว้เพื่อควบคุมคนจนมากกว่าขจัดความยากจน และนโยบายต่างๆ นั้นเมื่อศึกษาในประวัติศาสตร์จะพบว่ามีขึ้นจากการเรียกร้องของคนจนที่ไม่ใช่การเรียกร้องในระบบการเมืองและระบบการกำหนดนโยบายสาธารณะอันเป็นระบบระเบียบสวยหรู ทั้งแบบมีเหตุมีผลและมีส่วนร่วม แต่นโยบายคนจนนั้นเกิดมาจากการปะทะกับการจลาจลและเรียกร้อก อย่างรุนแรงของคนจน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องการควบคุมคนจนเอาไว้ให้ได้ (F.Piven and R. Cloward.1993. Regulating the Poor: The Functions of Public Welfare (Updated Edition). New York Vintage Book).

ในอีกด้านหนึ่ง การทำความเข้าใจคนจนและยอมช่วยคนจนอาจจะมีความสำคัญในการประนีประนอมทางการเมือง เพราะมีแต่การมอบสิทธิทางการเมืองบางประการ (เช่น การเลือกตั้ง) ให้คนเหล่านี้ จึงจะเป็นคนทางในการกำกับกรอบให้พวกคนจนที่ปกครองยาก/ปกครองไม่ได้ (the unruly) พอจะเล่นในเกมที่ไม่ล้มทุกอย่างได้

นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่อาจจะศึกษาเรื่องของคนจนในปัจจุบันนั้นก็คือเรื่องของข้อถกเถียงที่ว่าด้วย “ชนชั้นใต้ถุน/คนจนหลุดระบบ” (The Underclass) ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของความยากจนและคนจนรูปแบบใหม่ที่หลุดออกไปจากขนบของการทำความเข้าใจคนจนแบบเดิม หมายถึงว่าคนจนจำนวนมากที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่คนที่อยู่ในระบบการจ้างงานแบบปกติ คือจ้างงานเต็มเวลาและมีระบบสวัสดิการสังคมรองรับ รวมทั้งไม่ได้มีลักษณะครัวเรือนแบบเดิมคือพ่อแม่ลูก เขาอาจเป็นพ่อ หรือ แม่เลี้ยงเดี่ยว (L. Morris. 1994. Dangerous Class: The Under Class and Social Citizenships. London: Routledge.) ดังนั้นการไปเหมารวมว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถหลุดจากวงจรความยากจนเพราะไม่ขยัน หรือเพราะมีวัฒนธรรมแห่งความยากจน (Culture of Poverty) ที่เบี่ยงเบนไปจากวัฒนธรรมหลักที่ต้องมีสัมมาชีพ ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนจากการสำรวจ แต่หมายถึงการทำความเข้าใจกระบวนการว่าคนกลุ่มนี้กระจุกตัวในพื้นที่ไหน ระบบสังคมเศรษฐกิจปกติทำไมรองรับเขาไม่ได้ หรืออาจจะเพราะว่าระบบปกติต้องการระบบที่ไม่เป็นทางการและเปราะบางเหล่านี้ต่างหากที่จะหล่อเลี้ยงระบบปกติเอาไว้ได้ (เช่น หาบเร่สำคัญกับเมือง มอเตอร์ไซค์รับจ้างสัมพันธ์กับรถติด)

เรื่องการทำความเข้าใจคนจนหลุดระบบนี่คือสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าเข้าใจแค่เรื่องคนจนเมืองกับคนจนชนบท เพราะรัฐบาลอาจมีกลไกจัดการคนจนเมืองและชนบทที่ปักหลักมานาน เช่น พอช. การเคหะฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ แต่การมองคนจนหลุดระบบแค่กลุ่มเล็กๆ เช่น ผู้ด้อยโอกาส อาจไม่เข้าใจพลวัตของคนจนและความยากจนที่ซับซ้อน แล้วลืมสำรวจอคติของเราในการปกครองคนจนมาอย่างยาวนาน

สำหรับบ้านเรา ผมว่าระบบการปกครองอาณานิคมด้วยศีลธรรมที่เหนือกว่ายังคงทำงานเป็นหลักในการปกครอง ภายใต้การสร้างการประนีประนอมทางชนชั้นและอำนาจทางการเมือง อีกทั้งการยังไม่เข้าใจของภาพรวมการเกิดคนจนหลุดระบบ จึงทำให้ดราม่าตั้งแต่การใช้เอไอลงทะเบียนคนเดือดร้อนที่ไม่อยู่ในระบบบัตรคนจนและระบบสวัสดิการสังคมมีจุดตั้งต้นแค่ 3 ล้านคน แต่โวยวายกันทั้งแผ่นดิน และเรื่องดราม่าของตู้ปันสุขด้วยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image