บทนำ วันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 : แก้‘ฆ่าตัวตาย’

บทนำ วันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 : แก้‘ฆ่าตัวตาย’

บทนำ : แก้‘ฆ่าตัวตาย’

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายของคนไทย ว่าระหว่างปี พ.ศ.2540-2561 ปกติประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายประมาณร้อยละ 6.92 ต่อแสนประชากร แต่ใน พ.ศ.2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มเป็น 8.12 ต่อแสนประชากร หลังจากปี พ.ศ.2540 อัตราการฆ่าตัวตายลดลงเป็นเวลา 10 ปี ต่อมาปี พ.ศ.2561 มีอัตราการฆ่าตัวตายร้อยละ 6.32 ต่อแสนประชากร และปี พ.ศ.2563 ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ทางกรมสุขภาพจิตได้ระดมนักวิชาการสร้างฉากทัศน์ หรือภาพจำลองแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย พ.ศ.2563 พบว่าถ้าปล่อยให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้นไปอาจจะเกิดอัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากรสูงถึงร้อยละ 8.8 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6.6

อธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุว่า กรมสุขภาพจิตจะวางมาตรการร่วมกับฝ่ายต่างๆ เพื่อยับยั้งการฆ่าตัวตายให้อยู่ราวๆ ร้อยละ 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นสากล โดยกำหนดกรอบการดำเนินงาน แบ่งผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพจิตเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้กักกัน หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 กลุ่มที่ 3 กลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต และกลุ่มที่ 4 ประชาชนทั่วไปหรือชุมชน โดยกลุ่มที่ต้องเน้นการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตหรือกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1.กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข ผู้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และ 2.กลุ่มผู้ป่วย NCD เรื้อรัง และ 3.กลุ่มติดสุรา-ยาเสพติด การดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตใช้กลไกเสริมสร้างพลังด้วยวัคซีนใจในระดับต่างๆ ได้แก่ 1.วัคซีนใจในบุคคล 2.วัคซีนใจในระดับครอบครัว และ 3.วัคซีนใจในชุมชน

ถือเป็นเรื่องดีที่ส่วนราชการจะใช้วิธีการทางจิตวิทยา สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาที่รุมเร้าประชาชนทั่วไปทุกวันนี้ คือเรื่องเศรษฐกิจ การทำมาหากิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรงท่ามกลางปัญหาปากท้อง ดังที่ปรากฏมีข่าวการฆ่าตัวตายของผู้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ในเรื่องการหารายได้ การดูแลค่าครองชีพของตนเองและครอบครัว แนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลต้องจัดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image