ที่เห็นและเป็นไป : ‘ปฏิรูปการเมือง’ของคสช. โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : ‘ปฏิรูปการเมือง’ของคสช. โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : ‘ปฏิรูปการเมือง’ของคสช. โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

“คสช.” เป็นคำย่อของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก นำกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก “รัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชน” ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศสถาปนาตัวเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” สามารถออกคำสั่งเพื่อจัดการประเทศได้ทุกเรื่อง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ถึงวันนี้ครบ 6 ปีพอดี

เหตุผลสำคัญที่ คสช.หยิบยกขึ้นมาใช้ประกาศถึงความจำเป็นต้องล้มล้างประชาธิปไตย เอาอำนาจเต็มมาขึ้นกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคลเป็นไปในทำนองให้เกิดความคิดว่า “การเมืองเป็นความเลวร้ายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศถึงทางตัน ไม่สามารถบริหารจัดการประเทศได้”

Advertisement

ดังนั้นจึงต้องยึดเอามา โดยภารกิจจำเป็นและเร่งด่วนคือ “ปฏิรูปการเมือง”

6 ปีผ่านไป “การเมืองได้รับการปฏิรูปแล้วหรือยัง” เป็นคำถามดูเหมือนไม่มีคำตอบ

ฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ เอาประชาธิปไตยเป็นเป้าหมาย เป็นตัวตั้ง มองว่าผลพวงต่อรัฐประหารต่อพัฒนาการการเมืองที่มี “รัฐธรรมนูญ 2560” และ “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” เป็นรูปธรรมยิ่งทำให้การเมืองเลวร้าย เพราะมีเจตนาชัดเจนว่า “อำนาจของคณะบุคคลที่ทำรัฐประหาร” มาสืบต่อดำรงอยูใน “รัฐบาลหลังเลือกตั้ง”

Advertisement

ปรับภาพของการยึดอำนาจด้วยกำลังกองทัพ มาเป็น “ยึดอำนาจด้วยกฎหมาย”

ทำให้การปกครองประเทศสิ้นสภาพประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นสากล คือ “อำนาจของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ไปอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ มองว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องทำเช่นนั้น” ต้องเป็น “ประชาธิปไตยในรูปแบบที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย”

การให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งอย่างล้นหลาม รวมถึงการกำหนดกลไกและตัวบุคคลองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทชี้ถูกผิด และลงโทษทางการเมืองอย่างสูงยิ่ง ระดับที่ใช้เพื่อกำหนดทิศทาง ความเป็นไปทางการเมือง แก้ไขข้อติดขัดในการใช้อำนาจของคณะบุคคลได้เลย

เป็นความถูกต้องเหมาะสมแล้ว

เหมาะสมและถูกต้องเช่นเดียวกับการจำกัดบทบาทของนักการเมือง และพรรคการเมืองไว้ในกรอบที่กลไกซึ่งถูกออกแบบให้เอื้อต่ออำนาจคณะบุคคลสามารถควบคุม ไม่ให้หืออือได้

ต่างฝ่ายต่างมีมุมมองต่อ “ผลการปฏิรูปการเมืองโดย คสช.” ไม่เหมือนกัน และถกเถียงกันมา 6 ปีเต็มๆ แล้วในเรื่องต่างมุมมองนี้

ต่างฝ่ายต่างก็เชื่อว่า แนวทางของตัวเองดีกว่า

ดีกว่าในระดับที่เห็นแนวทางของอีกฝ่ายเป็นความเลวร้ายต่อการพัฒนาประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ สิทธิเสรีภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ผ่านไป 6 ปี การถกเถียงเป็นเรื่องหนึ่ง ขณะที่การดำเนินการให้เป็นไปเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ยังเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด

แต่การดำเนินการเป็นไปตามแนวทาง “อำนาจของคณะบุคคล” อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะถกเถียงกันอย่างไร ที่เป็นไปคือแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “ข้าราชการทุกหมู่เหล่า” จาก “นักการเมืองและพรรคการเมืองที่คุมเสียงข้างมาก”

และยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ นับวันจะมีพลังในการต่อต้านตรวจสอบน้อยลงด้วยทั้งถูกบั่นทอนบทบาทลง และถูกสลายให้แตกมารวมกับอีกฝ่ายตลอดเวลา

อีกทั้งจาก “ประชาชนส่วนหนึ่ง”

ที่การถกเถียงว่าเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ เป็นคำตอบที่ไม่มีอะไรยืนยันได้ชัดเจน ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่จะมาอ้างว่า “ส่วนใหญ่สนับสนุนฝ่ายตัว” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

นั่นหมายถึง ไม่ว่าจะเรียก “ปฏิรูปการเมืองหรือไม่” ก็ตาม แต่ “การเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว”

เปลี่ยนมาเป็น “ประชาธิปไตย” ที่เอื้อสิทธิพิเศษต่อการครอบครองอำนาจให้กับคณะบุคคล

การตีความว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็น “ปฏิรูปการเมืองหรือไม่” ดูจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะทำให้การถกเถียงวนไปเวียนมาอย่างไม่รู้จบ

การพิจารณาและชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลง และเกิดการใช้อำนาจด้วยระบบแบบนี้มา 6 ปีเต็มๆ ส่งผลอะไรต่อการพัฒนาประเทศชาติ และชีวิตประชาชน ดูจะเป็นประโยชน์กว่า

ที่สำคัญที่สุดคือ “ประชาชนแต่ละคนต้องตอบตัวเอง” ว่า “ระบบการเมืองแบบนี้ทำให้ชีวิตตัวเองและครอบครัวดีขึ้นหรือไม่”

เพราะมีแต่ร่วมมือร่วมใจกันตอบคำถามนี้ และร่วมกันแสดงออกให้เห็นถึงความพอใจ ไม่พอใจเท่านั้น

จึงจะตัดสินใจได้ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการการปฏิรูปการเมืองแบบไหน”

ที่เป็นอยู่ขณะนี้ใช่หรือ

และถ้าคำตอบคือ “ไม่ใช่” จะลงมือหาทางให้เป็นไปในทางที่ “ใช่” ได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image