การฟื้นฟูชีวิตและเยียวยาเศรษฐกิจภายหลังโรคระบาดคลี่คลาย : เป็นภารกิจที่ท้าทายศักยภาพและวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ : รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

การฟื้นฟูชีวิตและเยียวยาเศรษฐกิจภายหลังโรคระบาดคลี่คลาย : เป็นภารกิจที่ท้าทายศักยภาพและวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ : รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

ทั่วทุกมุมโลกในยุคดิจิทัลต่างประสบกับภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของมหันตภัยไวรัสโควิด-19 เมื่อแนวโน้มการแพร่ระบาดคลี่คลายหรือสงบลง ภารกิจเร่งด่วนของผู้นำประเทศทั้งค่ายโลกเสรีนิยม และค่ายโลกสังคมนิยม คือการฟื้นฟูชีวิตประชาชน และเยียวยาเศรษฐกิจที่ถูกมรสุมโรคระบาดพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งสองประการล้วนแต่ท้าทายศักยภาพและวิสัยทัศน์ภาวะผู้นำเพื่อสร้างโลกใหม่ สังคมใหม่ และวิถีชีวิตใหม่ทั้งสิ้น

ภาวะผู้นำในโลกค่ายสังคมนิยม อาจจะไม่ยุ่งยาก มากมายนัก เพราะผู้นำส่วนใหญ่บริหารจัดการประเทศแบบเผด็จการ มีมาตรการในการฟื้นฟูและจัดระเบียบสังคมที่เข้มงวด แต่กล่าวสำหรับโลกค่ายเสรีนิยมคงจะยุ่งยากและสลับซับซ้อนไม่น้อย เพราะผู้นำประเทศมีข้อจำกัดมากมายหลายประการ ทั้งฝ่ายค้าน สื่อมวลชน ปัญญาชน และนักวิชาการสารพัด คอยตรวจสอบ เสนอข่าว กดดัน ย้อนแย้ง และวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพอีกมากมายตามแนวคิดและทฤษฎีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอีกจิปาถะ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ 1) ศักยภาพ และ 2) วิสัยทัศน์

ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภาอย่างประเทศไทย มีกลไกในการบริหารจัดการประเทศแบบถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำจึงมีกึ๋นหรือศักยภาพสูงในการบริหารจัดการประเทศภายใต้การตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างกัน เพื่อป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชั่น

Advertisement

1.ศักยภาพ (Ability) ศักยภาพแตกต่างจากความสามารถ (Capacity) เพราะศักยภาพ หมายถึงสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด และความหลักแหลมที่มีอยู่ในตัวผู้นำ ส่วนความสามารถ (Capacity) หมายถึง ปริมาณ จำนวน ขนาดที่รองรับ หรือแบกรับน้ำหนักซึ่งมักนิยมใช้ในกลุ่มคนที่เป็นนักกีฬา
นักมวย กรรมกร ผู้นำที่มีความสามารถ คือ ผู้นำที่ใช้เล่ห์กลเอาตัวรอดในเชิงคณิตศาสตร์ ส่วนผู้นำที่มีศักยภาพ (Ability) คือผู้นำที่ใช้สติปัญญา ความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤต ด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบหรือตระหนักรู้เกี่ยวกับความทุกข์ยากของคนในสังคม

2.วิสัยทัศน์ (Vision) ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คือผู้นำที่มองปัจจุบันและอนาคตแบบแทงทะลุ ไม่ใช่มองแค่ปัจจุบันหรือใฝ่ฝันแต่เรื่องอนาคต แต่ต้องมองปัจจุบันให้ครบถ้วนพื่อวางแผนงานในการทำงานให้เชื่อมโยงกับอนาคต ผู้นำที่มองเฉพาะปัจจุบันคือผู้นำที่กินบุญเก่า ส่วนผู้นำที่มองเฉพาะอนาคตคือผู้นำที่เพ้อฝันสร้างวิมานในอากาศ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จึงเป็นผู้นำที่มองปัจจุบันและใฝ่ฝันถึงอนาคตของประเทศอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน

การกู้หนี้ยืมสินในปัจจุบันเพื่อเยียวยาประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากมหันตภัยไวรัสโควิด-19 อาจมีความจำเป็นเพื่อฟื้นฟูชีวิตสำหรับผู้ขัดสนและยากไร้ในสังคม แต่การกู้หนี้ยืมสิน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่จนจริง แต่มีข้อมูลและหลักฐานในเชิงตรรกะรองรับนี่ซิ ย่อมท้าทายศักยภาพของผู้นำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนทุกคนและทุกอาชีพล้วนต้องการเงิน เยียวยานักธุรกิจรายย่อยที่ปิดกิจการเพราะมาตรการของรัฐเรียบร้อยแล้ว รายต่อไปก็คือกลุ่มชาวนา-ชาวไร่ที่รอคอยการเยียวยาจากรัฐเช่นกันซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นชาวนา-ชาวไร่ที่แท้จริง และชาวนา-ชาวไร่ที่แอบแฝง ล้วนท้าทายผู้นำอีกเช่นกัน เพราะผู้นำที่ต้องการเอาใจหัวคะแนนกลุ่มคนที่เป็นเครือข่ายของหัวคะแนนสามารถสร้างหลักฐานเพื่อขอเยียวยาได้ไม่ยาก ส่วนคนที่ไม่มีเส้นมีสายคงต้องฆ่าตัวตายกันเรื่อยๆ

3.การใช้เงินจากการเยียวยา : (Monetary Using) การได้รับเยียวยาจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท หากนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตย่อมสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่งเพื่อชดเชยกิจการที่หยุดชะงัก จากภาวะวิกฤตตามนโยบายของรัฐบาล แต่ถ้านำเงินไปเล่นการพนัน หรือเที่ยวเตร่ไม่กี่วันก็หมด ทุกคนที่ได้รับเงินเยียวยาซึ่งรัฐบาลได้มาจากการกู้หนี้ยืมสินและงบประมาณแผ่นดินต้องอุดรูรั่วให้สนิทชีวิตจึงจะอยู่รอดได้ หากชีวิตมีรูรั่วได้เท่าไรก็ไม่พอ เหมือนภาชนะก้นรั่ว เทน้ำลงไปเท่าไรก็ไม่เต็ม ฉันใดก็ฉันนั้น

4.อดตายเพราะไม่มีกินกับทำมาหากินแล้วติดโรค (Covid-19 and Poverty) : ภาวะวิกฤตจากสถานการณ์แพร่ระบาดของมหันตภัยไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชากรโลกลดลงหลายแสนคนในชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ขณะที่การเกิดใหม่มีจำนวนลดน้อยลง ในส่วนของประเทศไทยได้เริ่มย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยลำดับซึ่งจะสมบูรณ์ตามเกณฑ์ใน พ.ศ. 2564 หรือปีหน้า ขณะที่ประชากรวัยแรงงานลดลงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว จำนวนหลายแสนคนมาทดแทน

ความอดอยากและหิวโหยจะปรากฏขึ้นในสังคมโลกอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สำหรับประเทศไทย แม้ผลกระทบจากโรคระบาดจะมีค่อนข้างน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในทวีปเอเชียหรือบางประเทศในประชาคมอาเซียน แต่ความที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขาลงมาตั้งแต่ครั้งรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2557 จึงเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง คาดว่าต้องใช้เวลาในการเยียวยาอาการบาดเจ็บ จากภาวะวิกฤตอีกหลายปีกว่าจะฟื้นได้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อรายได้หลักของประเทศ คือ การท่องเที่ยว อย่างสาหัส

ประชาชนอดอยากปากแห้งหลายสิบล้านคน เพราะโรงงานปิด ร้านอาหารยุติกิจการ โรงแรมไม่มีคนพัก ห้างสรรพสินค้างดบริการ และบางวัดงดเผาศพ เป็นต้น แม้รัฐจะสร้างขวัญและกำลังใจด้วยการเยียวยาบ้างก็ตาม แต่ใช่ว่าจะได้กันทุกคน ขณะที่ผลกระทบทุกคนได้รับ โชคดีที่มหาเศรษฐีมีน้ำใจในยามยาก ในหลากหลายรูปแบบก็พอจะประทังชีวิตไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่ในระยะยาวรัฐจะบริหารจัดการอย่างไร ขโมยขโจนคงจะเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะความอดอยากผลักดันชีวิต รวมทั้งการฆ่าตัวตายเพราะความเครียด

5.โลกหายนะเพราะฝีมือมนุษย์ (Human and Distress): กระแสการพัฒนาสู่ความยั่งยืนไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโลกมนุษย์มีความโลภหรือเห็นแก่ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อพัฒนาความสะดวกสบายจนขาดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ทั่วโลกปฏิบัติกันมีผลเท่ากับการทำลาย คือทำลายระบบนิเวศ ทำลายธรรมชาติจนเกิดมลพิษ มลภาวะ และโรคระบาดนานาชนิด ทั้ง ซาร์ส เมอร์ส และโคโรนา โรคเหล่านี้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization=WHO) ย้ำว่าเกิดจากธรรมชาติ ธรรมชาติที่ขาดความสมดุล จากฝีมือมนุษย์ที่ประดิษฐ์คิดค้น เทคโนโลยี นวัตกรรมที่วิจิตรพิสดาร และหลากหลายรูปแบบเพื่อแข่งขันกันสู่ความทันสมัยในยุคดิจิทัล

การพัฒนาสู่ความยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์ในภายภาคหน้าด้วยฝีมือของมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้ประกาศให้ทั่วโลกยึดถือและดำเนินการมานานแล้ว แต่ผู้นำโลกโดยเฉพาะในค่ายเสรีนิยมไม่ได้ยิน เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมโลกอย่างรุนแรง ผู้นำคงจะเริ่มได้ยินบ้างเพื่อจะได้รณรงค์จัดระเบียบการพัฒนาสังคมโลกใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเกิดสงครามจากฝีมือมนุษย์ทำลายล้างโลกในอนาคตซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าสงครามจากฝีมือของธรรมชาติ

6.วิสาขบูชาโลกมีคุณูปการต่อชาวโลก : วิสาขบูชาโลกในปี 2563 ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เชื้อโรคกำลังแพร่ระบาดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก จึงไม่มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวิสาขบูชาโลก แต่ถึงกระนั้น พระพุทธศาสนาก็ยังคงคุณค่าและคุณูปการต่อสังคมโลกไม่เปลี่ยนแปลง เพราะหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก คือสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ตลอดเวลาไม่ล้าสมัยแต่ประการใด ไม่เหมือนเทคโนโลยีที่มีการล้าหลังต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

หลักพุทธธรรมที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ชาวโลกพิสูจน์ (เอหิปัสสิโก) คือ ทางสายกลางของชีวิต หรือมัชฌิมาปฏิปทา หากการดำเนินชีวิตตามเส้นทางนี้ ชีวิตจะมีความสมดุลในยามวิกฤต ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 ขั้นตอน คือ

6.1 การปรับจูนชีวิตไม่ให้สุดโต่ง (สัมมาทิฏฐิ)

6.2 การปรับจูนชีวิตสู่มุมมองที่สร้างสรรค์ (สัมมาสังกัปปะ)

6.3 การปรับจูนชีวิตให้เกิดความน่าไว้วางใจ (สัมมาวาจา)

6.4 การปรับจูนชีวิตให้เกิดความกระตือรือร้น (สัมมากัมมันตะ)

6.5 การปรับจูนชีวิตให้เกิดความปลอดภัย (สัมมาอาชีวะ)

6.6 การปรับจูนชีวิตให้มีความมานะ อดทน (สัมมาวายามะ)

6.7 การปรับจูนชีวิตให้มีความระมัดระวัง (สัมมาสติ)

6.8 การปรับจูนชีวิตให้มีอารมณ์ที่หนักแน่น (สัมมาสมาธิ)

การปรับจูนชีวิตทั้ง 8 ขั้นตอน อาจจะดูยุ่งยากมากเรื่องจนเกินไปสำหรับสังคมมนุษย์ที่จะปรับใช้ในชีวิตได้ จึงสามารถบีบให้กระชับเหลือ 3 ขั้นตอน คือ 1) ปรับจูนชีวิตให้ปกติ หลีกเลี่ยงการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (มีศีล) 2) ปรับจูนชีวิตให้นิ่งและสงบ (มีสมาธิ) และ 3) ปรับจูนชีวิตให้ไปสู่มุมสว่างในการอยู่ร่วมกันในฐานะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (มีปัญญา)

สรุป : โลกในยามวิกฤตมักเป็นโลกที่มืด เพราะขาดทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ในการคลี่คลายปัญหา มีลักษณะดุจเส้นผมบังภูเขา การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด และจุดประทีปในที่มืด โลกที่มืดด้วยอำนาจและผลประโยชน์ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งแบ่งแยกในเรื่องประโยชน์สุขของประชาชน และความยั่งยืนของบ้านเมืองเสมอ วิสาขบูชาโลกมิอาจจะช่วยชาวโลกให้รอดพ้นจากห้วงเหวแห่งหายนะได้ ถ้าชาวโลกมองไม่เห็นคุณูปการของพระพุทธศาสนา

ในภาวะวิกฤตที่ชาวโลกถูกมรสุมไวรัสโควิด-19 เบียดเบียนยิ่งต้องให้ความสนใจในหลักพุทธธรรม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับจูนชีวิตให้เกิดความสมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจ หากจะต้องตายเพราะโรคระบาดก็ไม่หวาดหวั่นเพราะได้สร้างต้นทุนชีวิตไว้เรียบร้อยแล้วทุกประการ

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
คณะสังคมศาสตร์ มจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image