ที่เห็นและเป็นไป : เมื่อเน้นที่‘ความมั่นคง’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : เมื่อเน้นที่‘ความมั่นคง’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : เมื่อเน้นที่‘ความมั่นคง’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

วันที่ 1 มิถุนายนนี้ ประเทศไทยเราจะเริ่มเข้าวาระของมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ของการป้องกันโควิด-19 ระบาด

ความน่าสนใจอยู่ที่อำนาจในการกำหนดรายละเอียดของมาตรการเป็นของ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ”

ยิ่งนับวันยิ่งชัดเจนว่าการจัดการเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ในทางที่เป็นปัญหาต่อผู้คนและสังคมโดยภาพรวมอย่างรุนแรง

Advertisement

การใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อควบคุมความใกล้ชิดของประชาชนด้วยเหตุผลทางสาธารณสุขเกิดผลสะเทือนต่อปัญหาเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศจนถึงการทำมาหากิน ปัญหาปากท้องของคนในสังคมอย่างรุนแรง

ถึงวันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจได้ส่งเสียงเตือนไปในทางเดียวกันคือ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะย่ำแย่ลง สร้างความเดือดร้อนสาหัสในทุกระดับ

ธุรกิจจะล้มระเนระนาด คนจะตกงานกัน 5-7 ล้านคน หรือมากกว่า ส่งผลต่อกำลังซื้อ และรายได้ประเทศรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดความโกลาหลในสังคมที่ทุกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด

มีเสียงเรียกร้องให้คำถึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น แทนที่จะหมกมุ่นอยู่แต่ความหวาดกลัวในเรื่องการระบาดของโรค

เตือนถึงขั้นให้ระวังว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ และความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องของประชาชน จะก่อความสูญเสียที่น่ากลัวกว่าให้เกิดขึ้นกับประเทศ

ท่ามกลางเสียงเตือนเหล่านี้ คล้ายกับว่ารัฐบาลได้ยินแต่ไม่รับฟังอย่างใส่ใจ

การเลือกหน่วยงานที่จะตัดสินใจกำหนดมาตรการเพื่อรับมือปัญหาของประเทศ แสดงให้เห็นถึงการกำหนดทิศทางของปัญหาและการทำให้น้ำหนักต่อวิธีการในมาตรการรับมือ

การเลือก “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดมาตรการ ย่อมสะท้อนถึงทัศนคติของผู้บริหารประเทศว่าต้องการให้การจัดการปัญหามุ่งผลไปในด้านใด ด้วยแนวความคิดแบบไหน

ระหว่างองค์กรหรือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ องค์กรหรือหน่วยงานด้านสังคม และหน่วยงานด้านความมั่นคง ย่อมมีกระบวนการคิดที่แตกต่างกัน

มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะกำหนดมุมมองของปัญหาที่แตกต่างกัน

การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของทางเศรษฐกิจของคนในสังคม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยผู้มีความรู้ในเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง เช่นเดียวกับการแก้ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมจะต้องอาศัยผู้มีความรู้และความเข้าใจเรื่องกลไกของสังคม และอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน

การเลือกใช้ผู้กำหนดมาตรการที่ไม่ให้น้ำหนักกับความเชี่ยวชาญเรื่องปากท้องประชาชนและความอ่อนไหวของสังคมนั้น ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเสียงเตือนที่ดังขรมไปทั่วให้นึกถึงความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลักนั้น ไม่น่าจะได้รับความใส่ใจสักเท่าไร

ซึ่งที่สะท้อนมากับมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ก็ชี้ให้เห็นเช่นนั้น

แม้เป็นมาตรการที่ดูคล้ายจะผ่อนคลาย แต่คนทำมาหากินเมื่อคิดจะนำมาตรการเหล่านั้นไปปฏิบัติ ย่อมรู้สึกได้ถึงปัญหามากมายที่มาตรการเหล่านั้นยังเป็นปัญหาต่อการดำเนินกิจการ

หลายกิจการที่ต้องดำเนินธุรกิจในกรอบของมาตรการเหล่านั้น ไม่มีทางที่จะสร้างรายได้ที่จะทำให้คุ้มกับต้นทุนที่ต้องลงไป บางเรื่องก่อความยุ่งยากให้กับการประกอบกิจการชนิดที่ปิดต่อเสียยังเสี่ยงต่อการขาดทุนน้อยกว่า

เป็นมาตรการที่ยังเน้นการใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มงวด เหมือนให้เปิดกิจการได้ แต่เป็นเปิดโดยมีข้อจำกัดในส่วนสำคัญของธุรกิจ

สะท้อนถึงความไม่เข้าใจความเป็นจริงของการประกอบกิจการ

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงยิ่งว่าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศนับจากนี้จะเป็นอย่างไร

“สภาความมั่นคงแห่งชาติ” มีหน้าที่หลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ เพื่อให้ชาติเกิดความสามัคคี อันเป็น “ความมั่นคงที่แท้จริง”

แต่ดูเหมือนว่า “มาตรการที่ยังควบคุมด้วยอำนาจเข้มข้น” นั้น จะกลายเป็นเงื่อนไขที่สร้าง “ความขัดแย้ง แตกแยกในสังคมเสียเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image