สถานีคิดเลขที่ 12 : เลิก พรก.ฉุกเฉิน : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลิก พรก.ฉุกเฉิน : โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลิก พรก.ฉุกเฉิน : โดย นฤตย์ เสกธีระ

พอเข้าสู่เดือนมิถุนายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดฮวบลง การเปิดธุรกิจในเฟสต่างๆ ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชนมาอย่างดี

การใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว

ไม่จำเป็นแล้วสำหรับสถานการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เชื่อว่าหลังจากนี้ รัฐบาลคงจะประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะเมื่อชั่งน้ำหนัก “ผลดี” กับ “ผลเสีย” การยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินน่าจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์การฟื้นฟูมากกว่า

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อต้นปี การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนไทยตกใจ

ความตกอกตกใจอาจนำไปสู่ความโกลาหล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด

นั่นคือสถานการณ์เมื่อต้นปี

Advertisement

ขณะนี้สถานการณ์ควบคุมโรคได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าไทยทำได้ดี

เหลือแต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องฟื้นฟูขึ้นมาให้เร็ว

ณ เวลานี้ มาตรการเยียวยาของรัฐบาลดำเนินการมาจนถึงเดือนสุดท้ายจากที่ตั้งเป้าไว้ 3 เดือน

นั่นคือเริ่มเยียวยาเดือนเมษายน และจะมาจบสิ้นที่เดือนมิถุนายน

หลังจากนี้คงจะหาเงินมาเยียวยาคนทั้งประเทศยากลำบากเต็มทน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการฟื้นฟู

การฟื้นฟูประเทศต้องอาศัยกำลังจากภาคเอกชน และภาคประชาชน

แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ศักยภาพของภาคเอกชนและภาคประชาชนถดถอย

ภาครัฐอาจจะไม่เข้าใจ แต่ภาคเอกชนเข้าใจดี

เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลไม่เชื่อคำทัดทานจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือนักวิชาการที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล

รัฐบาลก็ควรจะฟังที่ปรึกษาด้านธุรกิจ และบรรดาผู้ประกอบการ

คำกล่าวของเจ้าสัวที่ว่า การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น เป็นความจริง

ดังนั้น หากรัฐบาลมั่นใจว่า มาตรการทางสาธารณสุขของไทยเชื่อมั่นได้

สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลก็ต้องเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเปิดทางให้ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนมีอิสระในการประกอบสัมมาอาชีพ

ยกเว้นเสียแต่ว่า การควบคุมโรคโควิด-19 ระบาดเป็นผลมาจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่มาตรการทางสาธารณสุขที่ทุกคนกำลังภาคภูมิใจกัน

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงปฏิเสธการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้

แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เหมือนกับการยึดอำนาจและรัฐประหารที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีปัญหา ข้าราชการอยู่ได้ รัฐบาลอยู่ได้

แต่ประชาชนอยู่ไม่ได้

ดังนั้น เมื่อมาตรการสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิภาพ สถานการณ์ของไทยเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

การเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ

ยกเว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลจะมีวาระซ่อนเร้นนอกเหนือจากควบคุมการระบาดของโควิด-19

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image