‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เพิ่มศักยภาพประเทศรับมือวิกฤตโควิด-19 : โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เพิ่มศักยภาพประเทศรับมือวิกฤตโควิด-19 : โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เพิ่มศักยภาพประเทศรับมือวิกฤตโควิด-19 : โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

เมื่อเร็วๆ นี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของประเทศไทยลดลงเหลือศูนย์ในแต่ละวัน ถือได้ว่าเราผ่านจุดสูงสุดของการระบาดมาแล้ว และเข้าสู่สถานการณ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น จากตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานด้วยแรงกดดัน เพื่อควบคุมการระบาด ประชาชนจำเป็นต้องชะลอการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ

ย้อนกลับไปในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด บางวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 100 คน ทรัพยากรด้านสาธารณสุขของเราต้องรองรับผู้ป่วยและผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสนับพันคน มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจล้นโรงพยาบาล หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ทั้งยังมีรายงานพบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันอีกด้วย เช่น หน้ากากอนามัย และชุดพีพีอี

แต่เราก็ผ่านมันมาได้ แม้ว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่จบสิ้นในวันนี้

Advertisement

การลดลงของผู้ติดเชื้อรายใหม่ หนึ่งในสาเหตุหลักคือ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่จำกัดการเดินทางและการรวมตัวกันของผู้คนในช่วงที่มีโรคระบาด ทั้งยังส่งเสริมการทำงานอยู่กับบ้าน สามารถลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อได้อย่างมีประสิทธิผล

ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถควบคุมโรคระบาดได้ค่อนข้างดี นั่นคือศักยภาพของระบบสุขภาพไทย ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

และที่สำคัญ เรามี “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “บัตรทอง” เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการด้านส่งเสริมป้องกันโรค ตรวจเชื้อ และรักษาโรคโควิด-19 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

Advertisement

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือโครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้ภาษีจากประชาชนได้อย่างคุ้มค่า ปัจจุบันมีผู้มีสิทธิในระบบมากกว่า 49 ล้านคน ประชากรที่เหลือประมาณ 20 ล้านคน มีสิทธิด้านรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการข้าราชการ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ความพยายามของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน กลุ่มผู้ป่วย ส่วนการแพทย์ และฝ่ายการเมือง ในการสร้างหลักประกันสุขภาพในอดีต ได้เกิดดอกออกผลในวันนี้ เมื่อประชากรมากกว่าร้อยละ 99 ของประเทศไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลและเข้าถึงระบบสุขภาพ

เมื่อประชาชนไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถมาขอรับการตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ หากมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อเดิม หรือเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ร่วมกับมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อ เช่น มีไข้เกิน 37.5 องศา ไอ เจ็บคอสูญเสียการรับรู้รสหรือกลิ่น

และเมื่อประชาชนมาขอรับการตรวจและเข้ารักษา ยิ่งเข้าระบบมาเร็วเท่าไรก็ยิ่งก็ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถระบุที่มาของเชื้อได้รวดเร็ว และหยุดการแพร่กระจายของโรคได้ทันท่วงที

นั่นคือเหตุที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่เชื้ออยู่ที่ประมาณ 3,121 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 58 คน (ข้อมูลในวันที่ 9 มิ.ย.2563) ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเกือบๆ 70 ล้านคน ทั้งยังมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศมากกว่า 40 ล้านคนต่อปี

เราอาจไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ หากปราศจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เพิ่มศักยภาพประเทศรับมือวิกฤตโควิด-19 : โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

ก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 ผู้ป่วยจำนวนมากโดยเฉพาะคนยากจนล้วนรู้สึกกังวล หรือมีความตะขิดตะขวงใจเวลาที่ต้องมาโรงพยาบาล เพราะกลัวว่าตนจะไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ และอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายอีก กลายเป็นว่ายิ่งรักษาโรค ยิ่งยากจนลง

ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมักมาโรงพยาบาลเมื่ออาการป่วยเข้าขั้นวิกฤต หรืออยู่ในระยะร้ายแรง นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการรอดชีวิตน้อยลงแล้ว หากผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบตัวกว่าจะมาถึงมือแพทย์

ลองจินตนาการว่าหากเกิดโรคระบาดเช่นโควิด-19 ในตอนนั้น การควบคุมโรคคงทำได้ยากลำบาก การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงทำให้ผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะป่วย กล้าที่จะเดินมาขอรับการรักษา โดยไม่ต้องกังวลว่าตนเองจะล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาลในภายหลัง

นอกจากนี้ คุณประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกประการ คือการสร้างระบบสุขภาพที่เราสามารถเคลื่อนย้ายงบประมาณมาสู้โรคระบาดหรือภัยพิบัติได้ทันที เพราะรัฐบาลจัดสรรงบด้านสุขภาพให้ประชาชนอยู่แล้วในทุกปี

ไม่ต้องรอของบประมาณจากรัฐบาลเมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อน ซึ่งมีกระบวนการที่ต้องใช้เวลา จะทำให้การรับมือวิกฤตไม่ทันการณ์

เมื่อโรคโควิด-19 เริ่มระบาดในไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงรีบกันงบบัตรทองไว้ส่วนหนึ่ง บวกกับรัฐบาลจัดสรรงบกลางส่วนหนึ่งมาให้ เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,280 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19

การมีงบประมาณพร้อมต่อสู้โรคระบาดเช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบสุขภาพของไทยพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากโรคระบาดได้ทันที แม้ว่าจะมีข้อติดขัดเรื่องการบริหารจัดการอยู่บ้างในตอนต้น เพราะเราเพิ่งมีประสบการณ์จัดการโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรก

เมื่อทางโรงพยาบาลแน่ใจว่ามีงบประมาณบัตรทองรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลก็สามารถให้การบริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าตนเองจะขาดทุนหรือไม่

งบประมาณของบัตรทองบางส่วนยังถูกจัดสรรไปยังท้องถิ่นในรูปแบบของ “กองทุนส่งเสริมสุขภาพตำบล” บางส่วนนำไปสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการทำงานเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือที่เรียกกันว่า “Active case finding” และยังมีงบประมาณในส่วนของการติดตามดูแลผู้ต้องสงสัยติดเชื้อและผู้ติดเชื้อ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรค่าชดเชยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในขวัญกำลังใจให้กับความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์

ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศหรือพื้นที่ปกครองที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่างแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างเช่น ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน (National Health Insurance) เมื่อควบรวมกับการพัฒนาระบบไอซีทีที่ก้าวหน้า กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไต้หวันสามารถติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และนำเข้าสู่การรักษาก่อนที่จะแพร่เชื้อต่อไป ไต้หวันจึงสามารถควบคุมโรคระบาดได้เร็วและมีประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกับในเกาหลีใต้ ซึ่งระบบประกันสุขภาพแห่งชาติใช้ระบบร่วมจ่ายระหว่างผู้ประกันตนและรัฐบาล และมีการดึงงบประมาณมาจากค่าธรรมเนียมยาสูบมาเสริม เมื่อเกิดภาวะวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลก็ยกเว้นค่าตรวจเชื้อและค่ารักษาให้กับประชาชน ส่งเสริมให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็ว

จากประสบการณ์ที่เราเรียนรู้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทำนี้ ทำให้เราเห็นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นรากฐานสำคัญในการจัดการกับวิกฤตที่ไม่คาดไม่ถึง และเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับทุกคน

สหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้หลักประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนในประเทศของตนเองให้ได้ภายในปี 2573

โรคระบาดโควิด-19 จึงเป็นเสมือนกับเสียงเรียกเตือน ให้ผู้นำนานาชาติเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน

เพราะไม่ช้าก็เร็ว เราอาจต้องเผชิญกับวิกฤตระลอกใหม่ อาจจะเป็นโรคระบาดอีกครั้ง หรืออาจจะเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงจนไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้

ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง มีความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างหลักประกันให้กับประชาชน ให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะพบวิกฤตใด ก็สามารถผ่านมันไปได้โดยที่ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

หมายเหตุปรับจาก COVID-19 highlights the importance of UHC to cope with crisis.
By Sakchai Kanjanawatana, MD Secretary-General of Thailand’s National Health Security Office (NHSO)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image