ความเคลื่อนไหว ในสมการอำนาจใหม่ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวในสังคมปัจจุบัน เราอาจจะมองเห็นความเคลื่อนไหวนอกสภา และนอกรัฐบาลอยู่สามมิติ ได้แก่ ความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา และความเคลื่อนไหวจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่พรรคการเมืองเสียทีเดียว แต่พยายามเปิดกว้างให้เกิดการตั้งประเด็นใหม่ๆ ให้กับสังคมในความหมายที่ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม/สมาคม

ที่พูดถึงการเคลื่อนไหวสามกลุ่มใหญ่นี้ อาจไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการเคลื่อนไหวในแง่ของชาวบ้านและชุมชนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ต่อเนื่อง การไม่ได้ครอบคลุมไปถึงประเด็นดังกล่าว เพราะการเคลื่อนไหวเช่นนี้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด และการเข้าร่วมจากคนนอกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่อย่างใดในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในช่วงนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะโดยรัฐบาล และฝ่ายค้านในรัฐสภาอาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันประเด็นบางประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนได้ทั้งหมดและได้ครอบคลุม อาจด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น สภานั้นมีเวลาประชุมไม่นาน หรือกรอบกฎหมายและกติกาทางการเมืองไม่เอื้อให้สามารถผลักดันประเด็นในระบบได้ เช่น หากเสนอเข้าไปในระบบโดยตรงก็อาจจะเจอกลไกทีมงานกองเชียร์ที่ตั้งเองกับมือเข้ามาปัดทิ้ง หรือโหวตคว่ำได้ง่าย ถ้าไม่ได้รับแรงหนุนจากประชาชน

อีกด้านหนึ่งเราเริ่มเห็นแล้วว่ากลไกพรรคการเมืองที่มีนั้น เกิดปัญหาเดิมๆ ที่ยังคงปรากฏตัวขึ้นเสมอก็คือ กลไกการแย่งชิงอำนาจในการบริหารพรรค และปัญหาความสัมพันธ์ภายในพรรค โดยเฉพาะระบบการบริหารจัดการพรรค และการสั่งการของพรรค ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าวนั้นเกิดจากโครงสร้างการจัดองค์กรของพรรคเอง ที่ยังต้องมีสายการบังคับบัญชา และรูปแบบสไตล์การบริหารเอง เรื่องนี้เกี่ยวพันไปหมดตั้งแต่พรรคของรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านทั้งพรรคใหญ่ และพรรคของคนรุ่นใหม่เดิม

Advertisement

การวิเคราะห์ในระดับภาพรวมน่าจะเห็นว่าเกิดทางตันทางการเมืองในช่วงนี้อยู่อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยโครงสร้างอำนาจของพลเอกประยุทธ์นั้น พลเอกประยุทธ์มีฐานอำนาจหลายทาง ไม่ได้มีแต่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่ยังมีฐานอำนาจทางวัฒนธรรม ฐานอำนาจจากรัฐสภา องค์กรอิสระ และเครือข่ายที่พลเอกประยุทธ์ และทีมงานคณะรัฐประหารเชิญผู้คนหลากหลายกลุ่มมาร่วมงาน มีฐานอำนาจกองทัพที่ตนเองยังคุมกระทรวงกลาโหม และฐานอำนาจจากการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่รวมกองเชียร์เรารักลุงตู่ที่น่าจะมีปริมาณไม่น้อย

การมีฐานอำนาจที่หลากหลาย ทำให้พลเอกประยุทธ์อาจไม่ได้ให้ความสนใจกับความวุ่นวายในพรรคพลังประชารัฐที่เคยสนับสนุนตนเองขึ้นมาเป็นนายกฯมากนัก โดยเฉพาะกับกระแสเรื่องของการปรับ ครม. โดยเฉพาะในส่วนของการปรับ ครม.ของพรรคพลังประชารัฐเอง

อีกส่วนหนึ่งของเหตุผลที่การปรับ ครม.จากแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐอาจไม่เกิดขึ้นง่ายนัก แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า การไล่บี้ผู้บริหารเดิมของพลังประชารัฐนั้น อาจสำเร็จแค่ขับพวกเขาออกจากกรรมการบริหารพรรค แต่คนพวกนี้คือ คนที่ใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ในการขับเคลื่อนนโยบายมาตั้งแต่ยุคคณะรัฐประหาร

Advertisement

ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่อยากจะสื่อความหมายก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นจะต้องมาจากการเลือกของพลเอกประยุทธ์มากกว่าแรงกดดันจากคนอื่นๆ โดยเฉพาะจากนักการเมือง ด้วยว่า พลเอกประยุทธ์นั้นดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความสนใจและเชี่ยวชาญต่อการทำงานกับนักการเมืองมากนัก แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ที่ประเทศไทยยังอยู่ในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินการทำงานของพลเอกประยุทธ์นั้นก็ดูจะเน้นหนักไปทางการขับเคลื่อนนโยบายตรงกับระบบราชการมากกว่าปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีมากนัก

ในอีกด้านหนึ่งก็คือ หากเราพิจารณานัยสำคัญของผลกระทบของโควิดที่มีในสังคมไทยนั้น เราอาจนำเสนอข้อสรุปประการหนึ่งได้ว่า มิติทางสาธารณสุขนั้นเป็นมิติที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างดีเยี่ยมในช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้

แต่มิติทางเศรษฐกิจนั้นยังเป็นเรื่องใหญ่

ประเด็นท้าทายสำคัญของเรื่องมิติทางเศรษฐกิจในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีเงินงบประมาณ (เพราะไปกู้มาแล้ว) แต่เกี่ยวพันกับการบริหารจัดการงบประมาณต่างๆ เสียมากกว่า

ไล่ตั้งแต่เรื่องของการเปิดให้ระบบราชการเดิมเท่านั้น ที่นำเสนอโครงการต่างๆ เข้ามาใช้เงินกู้ แทนที่จะมีรูปแบบของการนำเสนอโครงการจากภาคส่วนอื่นๆ ทางสังคมเข้าร่วม จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าความเป็นปกติใหม่ในสังคมไทยเรื่องงบประมาณสู้ภัยโควิดนั้น เอาเข้าจริงเป็นความปกติเดิมที่ระบบราชการครอบงำวิธีการคิดและแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม หรืออาจจะลามไปถึงเรื่องของการเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติแบบเดิมๆ ด้วยซ้ำ

รวมไปถึงเรื่องของการไม่เห็นโครงสร้างการร่วมพิจารณางบประมาณจากภาคส่วนต่างๆ นอกไปจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาล ที่ยังผูกขาดการพิจารณางบประมาณและโครงการของระบบราชการ (อีกเช่นกัน) ที่นำเสนอโครงการขึ้นมา

อธิบายเช่นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเปราะบางในเรื่องของเศรษฐกิจน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากวันนี้ ทั้งในระยะสั้นที่เพิ่งจะกล่าวถึงไป

และในระยะยาวก็คือ ผลสะเทือนทางเศรษฐกิจที่เกิดหลังการทำโครงการเหล่านั้น ว่าจะประสบความสำเร็จสมความมุ่งหมายหรือไม่

ส่วนในมิติทางการเมืองนั้น เราก็จะเห็นว่าการคงอยู่ของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นยังดำเนินต่อไป แม้จะมีการปรับลดมาตรการลงไปมากแล้ว คำถามที่ยังท้าทายสังคมก็คือ ยังมีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ และสิ่งที่เราจะพบต่อไปนี้ก็คือ การสร้างเงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐที่วางอยู่บน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เป็น พ.ร.ก.อำนาจนิยม เพื่อสร้างสภาวะยกเว้นในการใช้อำนาจการเมืองและการบริหารของรัฐ ทั้งที่สิ่งที่ควรจะทำก็คือ การใช้กรอบกฎหมายปกติ และการปฏิรูปกรอบกฎหมายปกติให้เท่ากันกับสถานการณ์ในวันนี้ และสถานการณ์ที่อาจจะมาถึงในวันข้างหน้า

การขับเคลื่อนทางสังคมในวันนี้ จึงน่าจะวางอยู่บนรากฐานสามประการที่สำคัญ (เป็นอย่างน้อย)

1.การสร้างความเป็นส่วนรวมที่เป็นปึกแผ่นมากขึ้นจากความหลากหลายและความขัดแย้งที่ดำเนินมาในสังคม การอธิบายว่าเราสามารถทำงานร่วมกันโดยไม่มีความแตกต่าง คืออธิบายภายใต้ความเหมือนแบบที่ไม่เข้าใจความแตกต่างและรากเหง้าของความขัดแย้งอันยาวนานที่มีมานั้นอาจไม่สามารถทำให้เกิดความร่วมมือกันได้อย่างจริงๆ จังๆ

การยอมรับข้อจำกัด และยอมรับว่าความขัดแย้งนั้นเคยมีมา และยังคงมีอยู่ แต่ความขัดแย้งนั้นไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานร่วมกันในบางประเด็น หรือความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อาจมีประโยชน์ในการเป็นเงื่อนไขในการตรวจสอบการทำงานร่วมกันอาจจะเป็นประโยชน์กว่าการลืมความขัดแย้ง หรือ กดทับ/ปฏิเสธความขัดแย้งที่เคยมีมา

2.การไม่ปล่อยให้การบริหารงานภายใต้สภาวะยกเว้นนั้นดำรงอยู่ต่อไป โดยปราศจากการตรวจสอบที่เข้มข้น ตั้งแต่เรื่องของงบประมาณ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล อย่าลืมว่าการปกครองในสภาวะยกเว้นนั้นเป็นที่ชื่นชอบในบ้านเราเพราะว่าสามารถทำอะไรที่ปลอดความผิดไปได้

3.การทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของความสัมพันธ์ระหว่าง ความกลัว ความหวัง และความกล้าหาญ กล่าวคือ รัฐมักจะชอบปกครองเราด้วยความกลัว โดยใช้ความกลัวในการขับเคลื่อนประเด็นให้ยอมรับอำนาจรัฐ เพื่อชี้ให้เราเห็นว่า รัฐบาลคือ “ความหวัง” เดียวเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอดจากความกลัว

สมการอำนาจง่ายๆ ก็คือ เปลี่ยนความกลัว ความหวัง ผ่าน “การยอมรับ” อำนาจรัฐว่าเป็นทางเลือกเดียว (รัฐคือความหวังเดียว)

ขณะที่สมการใหม่ในการเคลื่อนไหวน่าจะมาจากการทำความเข้าใจก่อนว่า ความกลัวกับความหวังเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน

กล่าวคือ ความกลัวนั้น อาจจะกลัวว่าบางอย่างอาจจะเกิดขึ้น หรืออาจจะไม่เกิดขึ้น

ความหวังก็เช่นเดียวกัน หมายถึงว่า หวังว่าจะเกิดขึ้น และหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น

ในแง่นี้ความกลัวและความหวังอาจจะเกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่แน่นอน ผันผวน ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และเรากำหนด หรือควบคุมมันได้ยาก

แต่ทั้งความกลัวและความหวังนั้นก็ต้องพึ่งการกระทำบางอย่างที่จะทำให้เราพ้นไปจากสภาวะความกลัว และ สภาวะความหวังที่ยังแฝงความกลัวอยู่ลึกๆ โดยการกระทำนั้นจะต้องเกิดขึ้นเพื่อพ้นจากความกลัว และทำความหวังทางบวก (ความใฝ่ฝัน) ให้เกิดขึ้นให้ได้ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เรากลัวว่าจะเกิดขึ้น

การก้าวพ้นไปจากสภาวะความกลัว และไม่ยอมรับความหวังสำเร็จรูปที่ถูกกำหนดลงมาจากรัฐบาลทำให้เราต้องมาหาเงื่อนไขและทางออกใหม่ๆ นั่นก็คือ “ความกล้าหาญ” ในการที่จะหวังและทำความหวัง/ความใฝ่ฝันให้เป็นจริง

สมการอำนาจใหม่ในการเคลื่อนไหว-ใช้ชีวิตก็คือ เปลี่ยนความกลัว ความหวัง ที่ผ่าน “ความกล้าหาญ” (courage) ในการตั้งคำถามกับอำนาจรัฐว่าเป็นทางเลือกเดียวในการแก้ปัญหา

ซึ่งอาจหมายถึงการทำเรื่องใหม่ๆ ด้วยกันเอง โดยไม่ต้องพึ่ง/ไม่ต้องผ่านรัฐในทุกๆ เรื่อง หรือการนำเสนอและกดดันให้รัฐนั้นทำงานในทิศทางที่เราต้องการ และตอบคำถามและสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน ตรวจสอบการทำงานของรัฐ ทำให้รัฐพร้อมรับผิดและชดใช้/ชดเชยอย่างเป็นธรรม

การเคลื่อนไหว จึงไม่ใช่เรื่องของการปะทะตรงกับรัฐเท่านั้น แต่ยังมีแนวรบและแนวร่วมมืออีกมากมายที่เกิดขึ้นได้ หากเราก้าวพ้นความกลัว เข้าใจการเชื่อมโยงระหว่างความกลัวกับความหวัง เข้าใจความแตกต่าง และเข้าใจว่าความกล้าหาญคือ ทางออกจากการสยบยอมอย่างไร้เงื่อนไขต่ออำนาจรัฐเหมือนกับที่พวกเขาต้องการมาโดยตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image