ทรุดแค่ 1 ปี แต่ต้องเดินหน้าอีก 3 ปี เพื่อกลับสู่ที่เดิม : โดย สมหมาย ภาษี

ทรุดแค่ 1 ปี แต่ต้องเดินหน้าอีก 3 ปี เพื่อกลับสู่ที่เดิม : โดย สมหมาย ภาษี

ทรุดแค่ 1 ปี แต่ต้องเดินหน้าอีก 3 ปี เพื่อกลับสู่ที่เดิม : โดย สมหมาย ภาษี

เมื่อได้ฟังคำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า “ถ้าข้าพเจ้าแพ้การเลือกตั้งก็มีอย่างอื่นที่ต้องทำ” ทำให้มองเห็นว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศที่เป็นผู้นำประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา จำเป็นจะต้องเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองและของตัวเอง และต้องคิดถึงอนาคตของตนเองไว้ล่วงหน้าเสมอ ซึ่งต่างจากผู้นำของประเทศไทยเราที่ยึดอยู่แต่อัตตา คิดเรื่องของบ้านเมืองได้แค่รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน เป็นอย่างมาก

ตอนนี้ใครๆ ที่ติดตามการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างก็พอจะมองออกว่า จากการเจอภาวะวิกฤตเพียง 2 เรื่อง คือเรื่องการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศที่ยังไม่ยุติลงง่ายๆ เกี่ยวกับการเหยียดผิวสีที่เกิดจากการที่ตำรวจเข่นฆ่าผู้ต้องหาผิวดำ George Floyd ที่ไม่มีทางสู้ และเรื่องการแพร่ระบาดอย่างมากของโควิด-19 รอบสอง ที่ปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนนี้ ก็พอจะทำให้เห็นชัดว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ หรือในอีก 6 เดือนข้างหน้า อนาคตที่จะเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งของทรัมป์เหลือแสงแค่ริบหรี่เต็มทีแล้ว

ที่ยกเรื่องการเมืองมากล่าวเปิดบทความในวันนี้ ก็เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ผู้นำของประเทศคือบุคคลที่สำคัญที่สุดที่จะนำพาประชาชนทั้งประเทศไปในทิศทางใดๆ ก็ได้ ยิ่งประเทศที่เจ็บป่วยมานานร่วม 10 ปี อย่างประเทศไทย เมื่อต้องมาเจอวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทุกคนได้เห็นฤทธิ์เดช และยอมรับกันแล้วว่าวิกฤตครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศเราต้องมีผู้นำที่เก่งและฉลาดรอบรู้ มานำพาประเทศให้พ้นจากการป่วยไข้ที่เอาตัวไม่ค่อยรอดในขณะนี้ ให้ฟื้นไข้แข็งแรงกว่าเดิมได้โดยเร็ว

Advertisement

เป็นที่แน่ชัดว่าการทรุดตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นี้ จะทำให้ GDP ของประเทศในปี 2563 นี้ ต้องหดตัวไม่ห่างจาก -10% อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี เศรษฐกิจไทยจึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมเท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าประเทศต้องถูกนำพาโดยผู้นำที่ยอมรับได้ของประชาชนเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วอาจต้องถูไถไปถึง 4-5 ปี

อยากจะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การที่คนไทยซึ่งชินกับการมีเสรีภาพที่จำกัดอยู่แล้ว ได้ช่วยเสียสละความสุขและเสรีภาพทั้งมวลเพื่อช่วยรัฐบาลหยุดโควิด-19 ได้ผลอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ความสำเร็จในการแก้ปัญหาโควิด-19 นี้ ต้องยกให้กับท่านนายกรัฐมนตรีของเราด้วย แต่ผมก็สงสารและเห็นใจท่านมาก เพราะท่านสามารถทำความดีให้ประเทศชาติได้ในหลายเรื่อง แต่จริงๆ กลับไม่ค่อยมีประชาชนยกย่องสักเท่าไหร่ อันนี้ไม่นับพวกหน้าม้าทั้งหลายของท่านนะครับ ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งท่านก็มักจะกระทำสิ่งที่ไม่น่าจะทำในบางเรื่องพร้อมๆ กัน ให้ปิดบังสิ่งที่ดีที่ท่านได้กระทำ เช่น กรณีการปราบปรามโควิด-19 นี้ ท่านก็ได้พยายามยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปจนเกินความจำเป็น เป็นต้น น่าเสียดายจริงๆ

ไหนๆ ก็มาถึงการผ่อนคลายในเรื่องเสรีภาพและการดำเนินธุรกิจของประเทศในเฟส 4 แล้ว ถือว่าได้มีการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนถ้วนหน้าอย่างดีมากแล้ว ก็อยากให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันกับอนาคตข้างหน้าให้ดี เราไม่ต้องพูดถึงอดีตว่าประเทศไทยเรานั้นป่วยเรื้อรังมาเป็นสิบปีแล้ว และมีจุดอ่อนทำให้ล้าหลังประเทศระดับใกล้เคียงกันไปมากแค่ไหน ขอให้ท่านมองจากจุดนี้ จากช่วงวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ไปจนถึง 3 ปีข้างหน้า

Advertisement

ปัจจุบันประเทศไทยเราทรุดหนัก ผมเองที่คลุกคลีอยู่กับตัวเลขและความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจตลอดเวลา เชื่อว่าปี 2563 นี้ เศรษฐกิจของไทยจะหดตัวเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่จะหนักกว่าประเทศในระดับใกล้เคียงกัน เพราะประเทศเรามีอาการป่วยมานาน ลองมาดูตัวเลขกัน

เอาเป็นว่าปี 2563 นี้ GDP ไทยจะทรุดถึง -10% ปีหน้า 2564 แม้ไม่มีโควิด-19 รอบสอง เศรษฐกิจประเทศไทยจะฟื้นตัวได้เล็กน้อย 1-2% ไม่ถึงกับติดลบ ปี 2565 เกือบเข้าสู่อาการปกติ GDP อาจโตได้ 2-3% และปีที่สาม 2566 เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ 3-4% ซึ่งถือว่าดีมาก รวมกัน 3 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แค่ 10% ทำให้ประเทศกลับมาอยู่ที่เดิมคือ GDP จะกลับมาสู่ฐานเดิมในปี 2562 ที่มีมูลค่าของ GDP ตามตัวเลขของสภาพัฒน์จำนวน 16,876 พันล้านบาท หรือให้จำได้ง่ายๆ ก็ 16.9 ล้านล้า

ผมว่าเราทำได้แค่นี้ถือว่าดีมากแล้ว เพราะยังไงๆ ก็จะยังไม่มีพรรคการเมืองไหน หรือผู้นำคนไหน ที่จะสามารถฟันฝ่าทำการปฏิรูปประเทศให้โตขึ้นได้สักเท่าไหร่

ในอีก 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังมองไม่เห็นว่าภาคข้าราชการประจำที่เป็นแกนหลักจะถูกผลักดันให้พัฒนากันอย่างไรให้มีศักยภาพดีกว่าทุกวันนี้ ยิ่งการเมืองขาดธรรมาภิบาลและความซื่อสัตย์ให้เห็นอยู่เช่นทุกวันนี้ ข้าราชการก็มีการเอาอย่างกันมากขึ้นด้วย

เอาเป็นว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะเห็นด้วยกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อย่างเก่งก็แค่สามารถดึงให้ GDP ในปี 2566 มีมูลค่า 16.9 ล้านล้านบาท เท่ากับ GDP ในปี 2562 แล้วมาดูว่าเราจะเห็นอะไรบ้างในอีก 3 ปีข้างหน้า

ประการแรก คนจนของประเทศที่มีสถิติเห็นชัดอยู่ในขณะนี้ว่ามีกี่ล้านคนจะยิ่งจนลงไปกว่าเดิม เพราะรายได้ประชาชาติที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า (2564-66) เพื่อให้ GDP กลับฟื้นมาเท่าเดิมในปี 2562 นั้น จะตกอยู่ในหมู่คนชั้นกลางและคนรวยมากกว่าคนจน เพราะรัฐบาลไม่เคยมีมาตรการในการกระจายรายได้ โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีให้เห็น กระทรวงการคลังก็คงไม่สามารถคิดนโยบายและมาตรการใหญ่ๆ ออกมาได้ เพราะที่ผ่านมาสองสามปีนี้ก็เชี่ยวชาญแต่เฉพาะมาตรการแจกเงินคนจนเท่านั้น

ผลที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้ตามมา คือหนี้ครัวเรือนของไทยที่กำลังจะสูงกว่า 80% ของ GDP จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอีกปีละ 1.5% เป็นอย่างน้อย และแน่นอนที่สุดปัญหาสังคมที่มีมากขึ้นและเลวร้ายลงทุกวัน ก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงตามมา

ประการที่สอง รัฐบาลจะถึงทางตันในการกู้เงินมาใช้จ่ายในงบประมาณประจำปีต่อจากนี้ เนื่องด้วยรายได้จากภาษีอากรที่จะเก็บได้แต่ละปีจากนี้ไปอีก 3 ปี จะไม่เพิ่มขึ้นจากที่เคยเก็บได้ถึง 2.563 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 แต่ความต้องการในการเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายประจำปียิ่งมีมากขึ้น งบที่ต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างมากผิดปกติตั้งแต่ปีหน้าคืองบใช้หนี้เงินกู้ของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้หนี้เงินกู้ก้อนใหญ่ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเข้าไปช่วยบรรเทาและเยียวยาประชาชนในปีนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลก็มีภาระต้องใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่แล้ว

อย่าลืมว่าภาระหนี้ระยะยาวที่เป็นของเก่าที่รัฐบาลต้องรับมามีมากอยู่แล้ว นับตั้งแต่หนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของ FIDF จากภาวะวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ยังมีภาระหนี้อยู่ถึง 750,000 ล้านบาท หนี้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่อาจเหลือภาระหนี้ที่ต้องชำระอีกไม่น้อยกว่า 350,000 ล้านบาท และมาคราวนี้ภาระหนี้โควิด-19 ที่รัฐจะต้องรับใช้หนี้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปอีก 1 ล้านล้านบาท

ผลที่จะเกิดขึ้นจากความบีบคั้นทางการคลังภาครัฐก็คือ จะทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาชดเชยงบประมาณการขาดดุลแต่ละปีมากขึ้นแบบเอาไม่อยู่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถทำได้ตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

ตามปกติรัฐบาลไทยบริหารหนี้ของประเทศชาติไม่ต่างจากการบริหารหนี้ของคนจนทั้งประเทศหรือธุรกิจทั่วไปเขาทำกันนั่นแหละ คือในแต่ละปีรัฐบาลต้องจัดตั้งงบประมาณชำระหนี้ครบถ้วนทั้งต้นและดอกเบี้ย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความต้องการกู้เงินใหม่ที่เป็นหนี้ใหม่เพื่อชดเชยการคลังขาดดุลที่มากขึ้นทุกปีนั้น จะรวมวงเงินกู้ที่กู้มาเพื่อใช้หนี้เก่าในปีงบประมาณนั้นส่วนหนึ่งเข้าไปด้วยทุกปี โดยคนทั่วไปไม่เคยได้รู้เห็นกัน

ในปีงบประมาณประจำปี 2563 นี้ นอกจากเงินกู้พิเศษตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ยังมีเงินกู้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ตั้งไว้อีกจำนวน 469,000 ล้านบาท ซึ่งยังไงเสียรัฐบาลต้องกู้เต็มตามนั้น แต่ในปีงบประมาณประจำปี 2564 ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2563 หรือในอีก 3 เดือนครึ่งข้างหน้านี้ ซึ่งจากการคาดการณ์ผลการจัดเก็บรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย และวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่ลงตัวยังไม่มีการสรุปชัดเจนจากรัฐบาล แต่เชื่อได้ว่าความต้องการเงินกู้เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลต้องเพิ่มขึ้นจากปีนี้มากทีเดียว อย่างน้อยๆ ก็ต้องเป็นวงเงินกู้ถึง 600,000-700,000 ล้านบาท คำถามที่ต้องตั้งตาดูกันตั้งแต่วันนี้ก็คือ รัฐบาลนี้จะฝ่าทะลุ (Break Through) กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ที่ออกมาสมัยรัฐบาลนี้เองได้อย่างไร

รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนที่อาจมีอัศวินผู้กล้าหาญเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม จะต้องยอมจำนนต่อรายจ่ายมากหลายที่จำต้องจัดงบประมาณเพิ่มให้นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 นี้ เป็นต้นไป ที่สำคัญคืองบชำระหนี้ที่มีแต่เพิ่ม งบค่าบำเหน็จบำนาญ งบค่ารักษาพยาบาลให้ข้าราชการเกษียณ และงบค่าสวัสดิการเรื่องสุขภาพให้แก่คนจนทั่วประเทศ งบผูกพันด้านโครงการคมนาคม เช่น ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ทั้งหลาย และงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร แม้ไม่มีการสั่งซื้ออาวุธใหม่อีก 3 ปี แต่งบผูกพันการซื้อในปีที่ผ่านๆ มาที่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายก็มีมากอยู่ แค่นี้รัฐบาลก็อ่วมแล้ว

ประการที่สามสุดท้าย ไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะภาครัฐที่กำหนดไว้ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ดังกล่าวที่ว่าไม่ให้เกิน 60% ของ GDP นั้น จะต้องเกินอย่างแน่นอน แล้วรัฐบาลจะฝ่าทะลุกฎหมายสำคัญนี้อีกเรื่องได้อย่างไร เรื่องนี้จะเป็นความเป็นความตายของประเทศไทยเชียวละ

ขอเริ่มต้นช้าๆ ให้เห็นว่า ตอนนี้ที่กำลังดำเนินการกู้เงินของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.พิเศษกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังไม่นับเงินกู้ก้อนนี้เข้าไป ข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2563 หนี้สาธารณะของไทยคงค้างมีจำนวน 7.186 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของ GDP

หนี้สาธารณะประกอบด้วยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่คือหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการคลังขาดดุลซึ่งมีมาตลอดทุกปี ต่อมาก็เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้มาเพื่อชดใช้ความเสียหายจากวิกฤตที่จำกันได้ คือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 วิกฤตจำนำข้าวเปลือกในปี 2555-56 และวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ต่อมาก็คือหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่กู้เองรับผิดชอบเองและที่รัฐบาลค้ำประกัน เช่น หนี้ของบริษัทการบินไทยก่อนเกิดเรื่องเข้าสู่ศาลล้มละลาย หนี้ของ ปตท. หนี้ของ รฟม. หนี้ของการรถไฟ ขสมก. เป็นต้น และรายการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน เช่น หนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หนี้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ หนี้ของธนาคาร SME หนี้ของธนาคารเพื่อการส่งออก เป็นต้น

ตัวเลขสำคัญที่เกี่ยวโยงกับหนี้สาธารณะคือ GDP ซึ่งปี 2562 GDP ของไทยมีมูลค่า 16.876 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2563 ที่ทุกสถาบันคาดการณ์ว่าจะลดลงมากพอควร โดยผมเห็นว่าจะไม่หนี -10% ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทรุดตัวอย่างหนักที่สุด และมีความเห็นว่าจะต้องใช้เวลาพัฒนาและทำงานหนักอีก 3 ปี (2564-66) เป็นอย่างน้อย เศรษฐกิจจึงจะฟื้นและค่อยๆ ขยายตัวได้เท่ากับระดับเดิมในปี 2562 คือประมาณ 16.876 ล้านล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินการธนาคารถึงเห็นต่างไปบ้างแต่ก็คงอยู่ในระนาบนี้แหละ

แต่ว่าภาระหนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบจะต้องสูงขึ้นแน่ๆ และไม่ใช่น้อยด้วย ถ้าจะประมาณการเฉพาะหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการคลังขาดดุล (Deficit Financing) ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องกู้ใน 3 ปีข้างหน้า (2564-66) แบบอนุรักษนิยมหน่อย ปี 2564 จะไม่น้อยกว่า 620,000 ล้านบาท ปี 2565 อาจเป็น 660,000 ล้านบาท ปี 2566 อาจเป็น 720,000 ล้านบาท รวม 3 ปี จะเท่ากับ 2,000,000 ล้านบาท (2 ล้านล้านบาท)

หวนกลับมาดูจำนวนหนี้สาธารณะจากรายงานของสำนักบริหารหนี้ในขณะนี้ที่เท่ากับ 43% ของ GDP นั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 7.186 ล้านล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ถ้าหักยอดชำระหนี้เงินต้นคืนแต่ละปี ประมาณปีละ 150,000 ล้านบาท ชำระช่วง 3 ปี จะเหลือภาระหนี้ 6.736 ล้านล้านบาท และเมื่อนำเงินกู้สู้โควิด-19 เร็วๆ นี้ที่กำลังเบิกจ่ายจำนวน 1 ล้านล้านบาท เข้าไป บวกยอดเงินกู้ชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2563 จำนวน 0.469 ล้านล้านบาท เข้าไป บวกยอดกู้ชดเชยการขาดดุลในช่วง 3 ปีข้างหน้า จำนวน 2 ล้านล้านบาท เข้าไป และยอดกู้เงินสุทธิของรัฐวิสาหกิจและรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ใน 3 ปีข้างหน้า ที่จะเพิ่มอีกประมาณปีละ 5% ของภาระหนี้ ทั้งสองรายการในปัจจุบันซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มอีก 1.233 ล้านล้านบาท ดังนั้น ยอดหนี้สาธารณะทั้งหมดตอนสิ้นปี 2566 ก็จะมีจำนวนถึง 11.038 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับ GDP ปี 2566 ที่จะโตมาเท่า GDP ของปี 2562 คือจำนวน 16.876 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ในตอนนี้ที่ต่ำแค่ 43% จะเพิ่มขึ้นเป็น 65% หรือเพิ่มขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของสัดส่วนในตอนนี้

การที่หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 3 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 43% ของ GDP เป็น 65% ของ GDP สัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 22% ในช่วงสั้นอย่างนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติ ต่อธุรกิจ และต่อประชาชนเป็นแน่ ทั้งในด้านเครดิตเรตติ้งของประเทศ ด้านการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ ทั้งลงทุนจริงและลงทุนด้านการเงินในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ที่จะค่อยๆ หดตัวให้เห็น ประเทศไทยเราจะต้องถอยหลังไปอีกนาน โดยจะเห็นได้ชัดเจนใน 3 ปีข้างหน้านี้แหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image