สถานีคิดเลขที่ 12 : รูปปั้น-ปั้นแต่ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : รูปปั้น-ปั้นแต่ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : รูปปั้น-ปั้นแต่ง

การโค่นรูปปั้นบุคคลสำคัญหรืออนุสาวรีย์ในอเมริกาและยุโรปยังเกิดต่อเนื่อง ระหว่างการประท้วงการเหยียดสีผิวตามคำขวัญ “ชีวิตคนดำก็มีค่า” จากความตายของ จอร์จ ฟลอยด์ จนเกิดคำถามถกเถียงกันว่าวิธีการนี้ผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร

ระหว่างการถกเถียงที่ยังไม่มีบทสรุป ผู้ประท้วงหลายกลุ่มในหลายมลรัฐของสหรัฐ และหลายเมืองในยุโรป ก็ทยอยรื้อถอนรูปปั้นบุคคลสำคัญไปเรื่อยๆ จากพ่อค้าทาส นายทหารใหญ่ยุคสงครามกลางเมือง และกษัตริย์ยุคล่าอาณานิคม เริ่มลามถึงผู้นำระดับตำนานที่อยู่ฝั่ง “ฮีโร่”

วินสตัน เชอร์ชิล นายกฯอังกฤษ ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรเอาชนะนาซี ตกเป็นเป้าหมายว่าจะถูกโค่นรูปปั้นด้วย เพราะมีประวัติด้านเหยียดเชื้อชาติ ทำให้นายกฯ คนปัจจุบัน บอริส จอห์นสัน ต้องออกโรงปรามผู้ประท้วงอย่านะ…อย่า

Advertisement

ส่วนที่สหรัฐ รูปปั้น โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 ไม่รอดเช่นกัน ทั้งที่เป็นผู้ประพันธ์ “คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา” ระบุว่า “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน” แต่ชีวิตจริงเจฟเฟอร์สันครอบครองทาสอยู่ราว 600 คน ก็เลยกลายเป็นจุดด่างพร้อยและถูกพ่นสีว่า “เจ้าของทาส” ก่อนถูกลากดึงลงมา

ภาพเหตุการณ์รื้อถอนและโค่นรูปปั้นเหล่านี้ สื่อรายงานอารมณ์ของผู้คนออกมาก้ำกึ่ง โดยเฉพาะเมื่อรูปปั้นบุคคลนั้นๆ มีประวัติชีวิตที่เป็นแบบสีเทา คือมีทั้งด้านบวกและด้านลบ

หากเปรียบเทียบกับบุคคลที่ถูกตราหน้าว่าเป็นวายร้ายมาก่อน ไม่ว่า วลาดิมีร์ เลนิน หรือ โจเซฟ สตาลิน ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหภาพโซเวียต ค่อยๆ ถูกทำลายหรือรื้อถอนออกไปตั้งแต่โซเวียดล่มสลาย หรือรูปปั้น ซัดดัม ฮุสเซน ถูกมวลชนรุมโค่นทันทีที่อเมริกายกทัพมาถล่ม ไม่มีประเด็นถกเถียงอะไรมากนัก

Advertisement

อาจเพราะปัจจุบันการศึกษาประวัติศาสตร์มีหลายด้าน ไม่ใช่ผู้ชนะหรือฝ่ายมีอำนาจเท่านั้นที่เขียนประวัติศาสตร์ได้อีกต่อไป

โดยเฉพาะเมื่อโลกออนไลน์ปฏิวัติการสื่อสาร ประวัติศาสตร์ตามแบบเรียนแบบท่องจำตามตำราเป๊ะๆ ค่อยๆ หมดการยอมรับ ไม่เฉพาะกับโลกตะวันตกเท่านั้น แม้แต่กับสังคมไทยก็เห็นเด่นชัดว่าคนรุ่นใหม่พร้อมศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ลึกและรอบด้านมากกว่าเดิม

ใครเผลอคุยโม้ว่าคนไทยมาจากแถบเทือกเขาอัลไต อาจจะถูกอำไปอีกนานแสนนาน

เช่นเดียวกับการปั้นแต่งตัวละคร หรือเรื่องราวเข้าไปแทรกในประวัติศาสตร์จนแนบเนียนราวกับมีตัวจริง หรือเป็นเรื่องจริง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก เพราะโลกออนไลน์ถึงแม้จะมีข่าวปลอมจำนวนมาก แต่ก็เป็นโลกที่เปิดให้มีการตรวจสอบอย่างไร้พรมแดน

บางประเทศอาจจะบล็อกข้อมูลได้ โฆษณาชวนเชื่อได้ แต่ก็ไม่ใช่กับคนทั้งหมด และใช้ไม่ได้ตลอดไป

ดังนั้นกรณีของรูปปั้น เป็นเรื่องที่น่าขบคิดว่าการเก็บรูปปั้นไว้อาจไม่ได้หมายความว่ายกย่องเชิดชูเสมอไป แต่เป็นอนุสรณ์และบทสรุปของคนในสังคมว่าบุคคลนี้เคยมีความสำคัญในประวัติศาสตร์

ผู้คนอาจมองรูปปั้นด้วยสายตาและความคิดที่เปลี่ยนไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image