ปีนี้ GDP ไทยจะหดตัวมากสุดในอาเซียน : โดย สมหมาย ภาษี

ปีนี้ GDP ไทยจะหดตัวมากสุดในอาเซียน : โดย สมหมาย ภาษี

ปีนี้ GDP ไทยจะหดตัวมากสุดในอาเซียน : โดย สมหมาย ภาษี

ADB หรือธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นธนาคารระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เหมือนธนาคารโลกแต่ดูแลหลักประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งเคยให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือแก่ประเทศไทยมานาน เพิ่งจะลดบทบาทลงตอนนี้เพราะเห็นว่าไทยได้เป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้ว แต่ ADB ก็ยังติดตามภาวะเศรษฐกิจของไทยอยู่อย่างใกล้ชิด

ตามตารางที่แสดงการคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ปีนี้และปีหน้าของประเทศในอาเซียน 11 ประเทศ ที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาปรากฏชัดว่า ในปีนี้ประเทศไทยหดตัว -6.5% ต่ำสุด ต่ำกว่าประเทศลาว เมียนมา เขมร และประเทศน้องใหม่อย่าง อีสต์ ติมอร์ ส่วนประเทศที่ดีที่สุดคือ ประเทศเวียดนาม ที่ขยายตัว 4.1% สรุปแล้วในปี 2563 นี้ GDP ของไทยเทียบกับเวียดนาม มีการเติบโตห่างกันถึง 10.6% แล้วอย่างนี้ ผู้บริหารระดับรองนายกรัฐมนตรี ยังมีหน้าออกมาคุยฟุ้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้ผ่าน Bangkok Post ว่าประเทศไทยตอนนี้ชะลอตัวเพื่อรอทะยาน พูดได้อย่างไรหรือ!

อ่านดูความเห็นของผู้กำกับด้านเศรษฐกิจของประเทศในวันนี้ที่ยังฝันว่ามีการอัดฉีดเงินเข้าไปเท่านั้นเท่านี้ มีการเยียวยาแก่คนจนและเกษตรกรร่วม 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งเงินช่วยเหลือให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแก่ธุรกิจ SME ทั้งประเทศ อีก 400,000 ล้านบาท แล้วจะสามารถเพิ่มพลังซื้อและการบริโภคในประเทศให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นจนถึงทะยานขึ้นแบบมังกรในอนาคตอันใกล้ นั้น ผมว่าท่านพูดแบบลักษณะของคนชอบฝันเสียมากกว่า ตั้งแต่เรื่องที่ได้ฝันว่าคนจนจะหมดจากประเทศไทยโดยเร็ว นั้น ใครๆ ก็รู้ดีกันว่าเป็นการฝันกลางแดดแท้ๆ

Advertisement

ท่านที่ชอบฝันกลางแดดทั้งหลาย คงจะไม่เคยมองเห็นมิติของการหดตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นมาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2563 นี้ ที่เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ถ้ามองให้เห็นมิติของผลกระทบ ก็จะเห็นว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดให้เห็นทันทีในปีนี้คงไม่น้อยกว่า 10% ของ GDP หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น เงินที่รัฐบาลได้ถมลงไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกันนี้ มันก็เหมือนกับการเอาดินทรายไปถมลงไปในหลุมลึก ก็จะไม่เกิดพลังผลักดันให้เศรษฐกิจทะยานขึ้นได้แต่อย่างใด

ถ้าพิจารณาดูให้ดี นอกเหนือจากความสูญเสียทาง GDP ถึงร่วม 10% ในปีนี้ ยังมีความสูญเสียที่เกิดจากผลสะท้อนของความหายนะในลักษณะเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นทวีคูณ (Multiplier Effect) อีกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่คล้ายๆ กับผลที่จะได้จากการลงทุนนั่นแหละ ซึ่งจะเกิดผลได้ต่อเนื่องเป็นทวีคูณมากกว่าทุนที่ลงอีกมาก การลงทุนผลกระทบต่อเนื่องจะเกิดในทางบวก แต่ความหายนะผลกระทบต่อเนื่องจะเกิดในทางลบ สรุปแล้วความฝันใหม่ของท่านรองนายกรัฐมนตรีก็คงจะเป็นความฝันกลางแดด อีกเช่นเคย ท่านผู้นำของรัฐบาลไปเชื่อเข้าก็จะเสียทั้งความรู้สึก ค่าโง่ และคะแนนนิยม

เราลองมาดูการคาดการณ์ของ ADB ในเรื่องการขยายตัวของ GDP ในประเทศกลุ่มอาเซียนว่าจะถูกต้องใกล้เคียงหรือไม่แค่ไหนกันดีกว่า (โปรดดูตารางการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนโดย ADB)

ในเบื้องต้นเราต้องเชื่อว่า ADB ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ใหญ่มาก มีผู้เชี่ยวชาญมากมาย และการคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเป็นเรื่องที่เขาทำประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องถือว่าการคาดการณ์ของ ADB นี้คงไม่ผิดจากที่จะเป็นจริงมาก

สิ่งที่เห็นว่าถูกต้องมากก็คือ การคาดการณ์ว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดถึง -6.5% และประเทศสาธารณรัฐเวียดนามจะเติบโตมากที่สุดถึง 4.1% ในกลุ่มอาเซียน 11 ประเทศ และมีประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือเวียดนามและเมียนมาที่เหลือเศรษฐกิจหดตัวหมด

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการคาดการณ์ในช่วงกลางปี 2563 เท่านั้น ตอนปลายปีหรือต้นปีหน้า ADB ก็คงต้องปรับการคาดการณ์ใหม่อีกครั้ง เชื่อได้ว่าตัวเลขจะเปลี่ยนไป แต่ข้อเท็จจริงเรื่องความแตกต่างที่ว่าเวียดนามจะมีการเติบโตดีที่สุดและประเทศไทยจะมีการหดตัวมากที่สุด จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

สิ่งที่จะแตกต่างออกไปคือ ตัวเลขการขยายตัวและหดตัวของ GDP แต่ละประเทศ โดยเฉพาะของไทยเชื่อได้ว่าตัวเลขการหดตัวจะมากกว่านี้อย่างแน่นอน เพราะการที่ทุกสถาบันมองว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นี้
นักท่องเที่ยวจะเข้ามาประเทศไทยมากมายเหมือนแต่ก่อนถึง 15-20 ล้านคนนั้น มันจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะค่อนข้างชัดเจน แล้วว่าอีก 4-5 เดือนข้างหน้า จนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาโควิด-19 ยังไม่หมดไป ตอนนี้เชื้อไวรัสยังระบาดเพิ่มขึ้นทุกวันถึงประมาณ 9 ล้านคนแล้วทั่วโลกและจะต้องถึง 10 ล้านคน ไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ แล้วจะให้หยุดระบาดในปลายปีนี้ ได้อย่างไร

ปีนี้ GDP ไทยจะหดตัวมากสุดในอาเซียน : โดย สมหมาย ภาษี

ดังนั้น ฝ่ายผู้จะมาท่องเที่ยวก็ต้องถอดใจเพราะถึงมาได้ก็ต้องเจอมาตรการคัดกรองมากมาย จะมาเที่ยวให้สนุกได้อย่างไร และทางฝ่ายไทยซึ่งแม้มีการหยุดระบาดของโควิด-19 แล้วก็ตาม ก็ต้องกลัวการนำโรคมาแพร่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องมีการนำมาตรการคัดกรองมาใช้จนน่ารำคาญ แล้วใครอยากจะมาท่องเที่ยวพักผ่อนในบ้านเรา

เมื่อสองวันที่แล้วผมได้มีโอกาสเดินทางไปดูหาดต่างๆ ที่ภูเก็ต นับตั้งแต่หาดป่าตอง หาดกะตะ กะรน แหล่งตากอากาศอันเลื่องชื่อของภูเก็ตและของไทย ซึ่งได้มีการเปิดหาดไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน ได้พบเห็นว่าทั้งหาดและถนนหนทางไร้ผู้คนอย่างสิ้นเชิง เมื่อหันไปดูร้านรวงและโรงแรมสองข้างทาง ปรากฏว่าปิดสนิทหมดเลย ถึงกับงงมากเมื่อได้ทราบว่าร้านอาหารและแผงลอยเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่บ้างก่อนหน้านี้ตอนที่ยังไม่เปิดเขต แต่พอมีการเปิดเขตให้ไปมาหาสู่กันระหว่างตำบลได้ ร้านและแผงลอยกลับพากันปิดและคนขายก็ขนข้าวของกลับบ้านต่างจังหวัดกันหมดเลย ทราบว่าก่อนหน้านั้นก็ขายพวกที่ถูกกักบริเวณเป็นเขตตำบลให้มีการซื้อขายกันได้ ตอนนี้เมื่อมีการเปิดเขตแล้วคนก็หายกันไปหมด ไม่รู้จะขายใคร คนขายรายเล็กรายน้อยก็เลยปิดกิจการหายไปด้วย

สรุปแล้วแหล่งท่องเที่ยวหลักทั้ง 3 หาดที่ภูเก็ต ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนจะเงียบสงบ กลางวันพอเห็นเหล่าคนงานก่อสร้างบ้าง แต่ไม่เห็นพนักงานของโรงแรม เพราะขณะนี้ยังไม่มีโรงแรมใดเปิดรอบใหม่อีกเลย ได้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่จะเปิดกันในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2563 ดังนั้น ใครที่ไม่เคยเห็นเมืองซอมบี้ (Zombie Town) ของจริง ให้รีบสมัครรับแจกเงินส่งเสริมการเที่ยวในประเทศของรัฐบาลก่อนเดือนตุลาคมนี้ เพื่อมาตระเวนดูเมืองซอมบี้ที่ภูเก็ตให้หนำใจ

ดูๆ ไปแล้วการจะพึ่งการท่องเที่ยวให้มาช่วยดันเศรษฐกิจให้เข้าเป้าสักหน่อย ก็ต้องฝันข้ามปีกันเป็นแน่ จากเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเคยตั้งไว้ว่าปี 2563 นี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 39.8 ล้านคน นั้น ของจริงจะถึง 10 ล้านคน หรือ 25% ของเป้าหมาย จะได้หรือเปล่า

สำหรับเป้าของการส่งออกปี 2563 นั้น ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่มีเป้าแล้ว จะพอมีก็การคาดการณ์ของธนาคาร เช่น ศูนย์วิจัยกสิกร โดยคาดว่าไทยจะมีการส่งออกหดตัวทั้งปีถึง -5.6% ซึ่งน่าจะน้อยไป เพราะตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคม 2563 หลังจากได้มีการระบาดของโควิด-19 ชัดเจนแล้ว ได้ปรากฏให้เห็นชัดว่าหดตัวมากจริงๆ

ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) และโดยเฉพาะในเดือนมีนาคม สินค้าส่งออกหลักของไทย 8 อันดับแรก สามารถส่งออกเพิ่มเพียง 2 ประเภท คือ ทองคำและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ นอกนั้นอีก 6 ประเภท มีการส่งออกในเดือนมีนาคมลดลงอย่างน่ากลัวมาก นับตั้งแต่อันดับแรก รถยนต์และส่วนประกอบหดตัวลง -28.7% ดังได้ทราบดีว่า โรงงานประกอบรถยนต์ในไทยได้ลดคนงานลง หรือได้ยกเลิกโรงงานเลิกผลิตชิ้นส่วนไปก็มี รายการต่อมาคือ เม็ดพลาสติก -15.3% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ -11.7% น้ำมันสำเร็จรูป -17.9% เคมีภัณฑ์ -14.8% เหล่านี้คือสินค้าส่งออกหลักของไทยทั้งนั้น อย่าคิดว่าเป็นทุเรียน ลำไย นะครับ

แค่การหดตัวอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างนี้แล้ว ผมจึงเห็นว่าที่ ADB ได้คาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้จะหดตัว -6.5% นั้น จะผิดแน่นอน -10% นั่นแหละจะเป็นของจริง

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image