อำนาจ ปรับ ครม. ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอำนาจ ‘อื่น’

อำนาจ ปรับ ครม. ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอำนาจ ‘อื่น’

อำนาจ ปรับ ครม.
ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กับอำนาจ ‘อื่น’

ประหนึ่งว่าการทอดเวลาแห่งการปรับ ครม.ให้ยาวนานออกไปจะสะท้อนให้เห็น “อำนาจ” ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีมากเพียงใด

เพราะหากไม่มี “อำนาจ” ในมือก็คงต้อง “ปรับ” ไปแล้ว

ปรับตั้งแต่เมื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ยื่นใบลาออกจากทั้งตำแหน่งหัวหน้าและสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย

Advertisement

เพราะนั่นคือเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณทางการเมือง

ยิ่งคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทยประชุมและเห็นชอบให้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ยิ่งเป็นการตอกย้ำและยืนยัน

Advertisement

ยังสัญญาณอันมาจากที่ประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐเห็นชอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคแทน นายอุตตม สาวนายน ยิ่งเด่นชัด

เด่นชัดในความจำเป็นต้อง “ปรับครม.”

จากเดือนมิถุนายนเข้ามายังเดือนกรกฎาคมยังไม่มีวี่แววใดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะส่งสัญญาณให้เห็นว่าจะมีการปรับ ครม.

ทาง 1 เป็นการยืนยันว่า “อำนาจ” อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะเดียวกัน ทาง 1 ก็เป็นการยืนยันด้วยว่า “อำนาจ” ที่อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะขัดกับอำนาจ “อื่น” ในทางการเมือง

จากพรรคพลังประชารัฐ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย

เพราะยิ่งทอดเวลาเนิ่นนานก็เท่ากับว่าเป็นการให้ความชอบธรรมแก่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งๆ ที่เป็นโควต้าของพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ยิ่งกว่านั้น การทอดเวลาเนิ่นนานออกไปเท่าใดก็ยิ่งจะทำให้อำนาจในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปปะทะกับกลุ่มอำนาจ “ใหม่” ในพรรคพลังประชารัฐ

ทำไมจึงว่าเป็นกลุ่มอำนาจ “ใหม่”

ขอให้ศึกษากระบวนการกดดันนับแต่การยื่นใบลาออกของ 18 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐก็จะสัมผัสได้ว่าความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐไม่ธรรมดา

เป็นความขัดแย้งที่ต้องการการแตกหัก

ยิ่งผลการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ยิ่งแจ่มชัดว่าเป็นการรุกไล่อย่างชนิดที่เรียกว่า “ล้างบาง” ในทางการเมือง

ไม่เพียงแต่พุ่งเป้าเข้าใส่ นายอุตตม สาวนายน

หากแต่ทุกคนอันถือว่าเป็นเครือข่ายของ “กลุ่ม 4 กุมาร” ก็ถูกจัดการให้พ้นไปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่ง นายชวน ชูจันทร์ หรือ นายพรชัย ตระกูลวรานนท์

ถามว่ากลุ่มอำนาจ “ใหม่” ต้องการเพียงแค่นั้นหรือ

ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทอดเวลาให้เนิ่นนานไปเพียงใด ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับอำนาจอื่นอันมาจากพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เท่านั้น

นี่คือระเบิด “เวลา” ที่รอการ “ปะทุ”

ประหนึ่งว่าการเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นการเข้าไปจัดแถวภายในพรรคพลังประชารัฐ

อาจเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เพราะอำนาจอย่างแท้จริงภายในพรรคพลังประชารัฐเป็นอำนาจจาก “จำนวน” ของ ส.ส.ซึ่งสามารถต่อรองและสำแดงพลังได้อย่างไม่ขาดสาย

ทั้งยังมีโอกาสท้าทายต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image