วิกฤตการคลัง : วิบากกรรมของรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศ : โดย สมหมาย ภาษี

วิกฤตการคลัง : วิบากกรรมของรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศ

วิกฤตการคลัง : วิบากกรรมของรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศ

ตามที่ได้เสนอบทความเมื่อวันพุธที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่อง “งบ 63 และ 64 ต่างพากันไปตายดาบหน้า” นั้น ผมยังไม่ได้ชี้ชัดว่าข้างหน้าในระยะช่วงสั้นๆ แค่ 3 เดือน หรือจะยาวไปอีก 1 ปี นั้น มีอะไรที่ใหญ่โตพอที่จะพากันไปตายบ้าง วันนี้จึงขอวิเคราะห์ให้เห็นกันชัดๆ ว่าความหายนะทางด้านการคลังข้างหน้านั้นมีจริง

ขอพูดถึงงบประมาณ ประจำปี 2563 ที่จะสิ้นสุดในอีก 2 เดือนครึ่งข้างหน้านี้ก่อน กล่าวคือ สิ่งที่ได้มีการจัดทำงบประมาณแบบซ้ำซาก ไม่สนใจไยดีกับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่เกิดขึ้น ไม่อินังขังขอบกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เห็นตำตาจากโควิด-19 ของผู้ที่รับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) นั้น ทุกอย่างหดตัวหมด นับตั้งแต่การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งการหดตัวนี้ไม่ใช่ธรรมดาแต่ร้ายแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ดังนั้น รายได้ที่จะจัดเก็บได้ของรัฐบาล ก็จะลดน้อยถอยลงไปมาก ยิ่งกว่านั้นรายได้ที่ยอบแยบมานานเต็มทนอยู่แล้วนี้ รัฐบาลยังทำการลดภาษีที่จะจัดเก็บได้ เช่น ภาษีทรัพย์สินที่จะได้เข้ามาปีละ 40,000 ล้านบาท กลับถูกปรับให้ลดลง 90% เหลือแค่ 10% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งวันนี้ไม่รู้ว่าเป็นคำสั่งของใครที่ได้เสนอให้ ครม.ชุดที่ไม่ค่อยมีเวลาไตร่ตรองวาระการประชุมนี้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้

สิ่งที่ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในเรื่องการคลังภาครัฐก็คือ ประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2563 ที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 จำนวน 2.731 ล้านบาท นั้น จะหลุดเป้าถึง 390,000 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย เงินที่จะนำไปหนุนใช้กับงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท ก็จะขาดมาก แล้วเหลือเวลาอีก 2 เดือนครึ่งนี้ จะหาเงินจากไหนมาใช้

Advertisement

เข้าใจว่าทางสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง คงพอจะรู้ถึงวิธีแก้ไขปัญหานี้อยู่บ้างแล้ว กล่าวคือ การตั้งยอดเงินกู้ชดเชยการขาดดุลนั้น ได้ตั้งไว้ตามเกณฑ์สากลคือไม่ให้เกิน 3% ของ GDP ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 นี้ ตั้งวงเงินกู้ไว้จำนวน 469,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.94% ของ GDP

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 มาตรา 21 ได้วางกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในงบประมาณ (Revenue Shortfall) ไว้ โดยให้กู้เงินมาชดเชยการที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกด้วย 80% ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 จะมีวงเงินกู้ตามกรอบนี้จำนวนประมาณ 670,000 ล้านบาท แต่ในปีนี้รายจ่ายที่จะสูงกว่ารายได้จะมากกว่างบเงินกู้ชดเชยที่ตั้งไว้แน่นอน เพราะการจัดเก็บรายได้หลุดเป้ามาก รัฐบาลก็จำเป็นต้องกู้มาใช้เพิ่มเติมจากที่ตั้งไว้ในงบประมาณได้อีกจนครบ 670,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังจะไม่พอกับความต้องการด้านรายจ่าย จึงอาจจำเป็นต้องตัดรายจ่ายลงอีกด้วย คราวนี้ละจะยุ่งและจะหน้าซีดกันแน่

การที่รัฐบาลต้องดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งไม่เคยมีการกระทำมาเลย จะก่อให้เกิดการกู้เงินมาใช้ในงบประมาณสูงกว่า 3% ของ GDP และจะทำให้ยอดภาระหนี้สาธารณะที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากขึ้นๆ ไม่เป็นไปตามท่านนายกฯได้คุยโอ้อวดเมื่อเร็วๆ นี้ว่ารัฐบาลนี้สามารถรักษาสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP มาทุกปีให้อยู่ในระดับแค่ 42% ของ GDP นั้น คอยดูเถอะครับ นับจากสิ้นปี 2563 นี้เป็นต้นไปอีก 3 ปี ท่านนายกฯจะจำหน้าตาของหนี้สาธารณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของท่านมา 6 ปี ได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาไม่ได้อีก เพราะว่าสัดส่วนจะสูงมากกว่ากรอบ 60% ของ GDP ที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องวินัยการคลัง ภาวะเช่นนี้เป็นตัวแสดงให้เห็นการก่อตัวของวิกฤตการคลัง (Fiscal Crisis) ของประเทศได้เกิดขึ้นมาอย่างชัดเจนแล้ว

Advertisement

เรื่องการใช้เงินของรัฐนั้น คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีอาจไม่รู้ว่า ใช้กันเละเทะจนเพลินปีนี้มันไปส่งผลปีหน้าและปีต่อๆ ไป กว่าจะรู้ว่าเจ๊งก็สายเสียแล้ว แต่ถ้าคิดว่าช่างมันให้รัฐบาลหน้ามาแก้ไข ประชาชนก็จะต้องสาปแช่งตามหลังก็แค่นั้นเอง

วิกฤตการคลัง : วิบากกรรมของรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศ

ทีนี้ก็ขอพูดถึงงบประมาณประจำปี 2564 ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ไปตลอดจนถึงกันยายน 2564 งบตัวนี้ตามที่ได้เห็นได้ฟังกันมาจากทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน และจากสื่ออย่างหนาหูในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเป็นงบที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับวิกฤตโควิด-19 เลย ประชาชนอดอยากปากแห้งกันถ้วนหน้าโดยเฉพาะคนจนถึง 25 ล้านคน รัฐไม่ได้ให้ความใส่ใจให้เห็นอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามกลับจัดงบประมาณจำนวนมากไปสั่งซื้อเรือดำน้ำอีกลำ และยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ อีก ดูๆ ไปแล้วไม่มีอะไรที่แสดงออกถึงการมุ่งมั่นแก้ปัญหาความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชนเลย ตรงกันข้ามกลับมีการลดภาษีบาป ภาษีของร้านพวกผับและบาร์ให้น้อยลง อย่างนี้เหมือนแกล้งทำร้ายประชาชนเข้าไปอีก แถมยังไปกดให้รายได้ของรัฐบาลที่หลุดเป้ามากมายอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีกแม้นไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็เป็นการเพิ่มกิจกรรมการขยันลดภาษีของรัฐบาลนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น อย่างนี้เป็นการแกล้งหรือเป็นเพราะความคิดที่ไม่ได้เรื่องกันแน่

ท่านผู้อ่านคงพอจะจำได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการลดภาษีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีมาตรการออกมาเมื่อปี 2562 การลดหย่อนภาษีในโครงการช้อปช่วยชาติจากการซื้อสินค้าโอท็อป การลดหย่อนภาษีเงินได้จากการนำเงินไปลงทุนในโครงการสตาร์ตอัพ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ไปกระเทือนเรื่องภาษีทั้งนั้น วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติแบบนี้ ประเทศอื่นเขาไม่ค่อยทำกัน คนที่คิดทำมักเป็นคนสิ้นคิดแล้วทั้งนั้น

หันมาดูงบเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่ตั้งไว้ในงบประมาณ 2564 ที่มีถึง 623,000 ล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ คิดได้เป็น 3.70% ของ GDP เมื่อกลับมาดูกรอบการก่อหนี้ในกรณีที่รายได้หลุดเป้า ซึ่งแน่นอน รายได้ที่ตั้งไว้ในงบประมาณ 2564 จำนวน 2.677 ล้านล้านบาท นี้ก็จะหลุดเป้ามากไม่แพ้กัน เพราะว่าแม้ปี 2564 ภาวะแพร่ระบาดของโควิด-19 จะหมดจากประเทศไทย และจะเบาบางลงในประเทศที่ยังหนักอยู่ก็ตาม ตอนนี้ใครก็พูดกันว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลำเข็ญยังจะมีอยู่ต่อไป หาฟื้นขึ้นรวดเร็วในปี 2564 ได้เท่าไหร่ไม่

ขณะเดียวกันตามกรอบของมาตรา 21 ในกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ ในปีงบประมาณ 2564 นี้ รัฐบาลมีวงเงินที่จะกู้เพิ่มเติมตอนปลายปีได้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท แต่รายจ่ายจะสูงกว่ารายได้ที่จะจัดเก็บได้มากมาย จะตัดงบอีกบางอย่างมาใส่ในงบช่วยคนจน หรือมากระตุ้นเศรษฐกิจก็จะยากเย็น เพราะทุกเรื่องต้องการงบประมาณหมด คราวนี้แหละรัฐบาลจะเห็นวิบากกรรมที่แท้จริง และจะยิ่งนำพาคนทั้งประเทศต้องตกระกำลำบากเข้าไปอีกด้วย

ตอนนี้ทุกคนเห็นภาพผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนี้กลางเดือนกรกฎาคม 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 12 ล้านคน และมีคนตาย 550,000 คน เข้าไปแล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกทุกประเทศทรุดตัว ห่อเหี่ยว ต้องล้มละลาย ต้องเลิกกิจการ ไปมากต่อมากให้เห็นทุกวี่วัน เรายังไม่รู้ว่ามันจะถึงจุดสุดยอดเมื่อไหร่ ช้าหรือเร็ว

แต่ ณ วันนี้ ท่านผู้อ่านจะได้ฟังว่าท่ามกลางความเลวร้ายของการหดตัวทางเศรษฐกิจนี้ ประเทศไทยต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนหรืออาจในเอเชีย ไม่ว่าจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่เป็นธนาคารระดับโลกที่ดูแลประเทศในเอเชียเป็นหลัก ไม่ว่าจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์เศรษฐกิจของนานาประเทศแล้ว ลงความเห็นเดียวกันว่าในเอเชียนี้ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจหดตัวในปี 2563 นี้มากที่สุด

ผมเองเคยเขียนลงในบทความประมาณ 2 เดือนมาแล้วว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวถึง 10% แน่ ซึ่งตอนนั้นสถาบันของทางการไม่ว่าสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจของธนาคารใหญ่ๆ ได้ออกตัวคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2563 แบบม่านตาไม่ค่อยจะเปิด ว่าจะหดตัว -5.5% บ้าง -6.5% บ้าง แต่เมื่อสองสามสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกตัวเลขมาใหม่ว่า จะหดตัว -8.1% เท่านั้นแหละหลายสำนักก็กล้าออกตัวเลขที่ไม่แพ้กันออกมา เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สายงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ก็ออกมาแถลงว่าได้ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะหดตัวถึง -10.3% และต่อไปก็จะได้เห็นสำนักอื่นๆ เพิ่มตัวเลขให้สูงขึ้นแบบนี้อีก

นอกจากนี้ ในด้านการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ออกข่าวว่า จากการหดตัวของการส่งออกในเดือนพฤษภาคมนี้ที่หดตัวประมาณ -22.5% ก็คาดการณ์ว่าทั้งปีจะหดตัวถึง -10% ส่วนด้านการท่องเที่ยวที่หน่วยงานที่รับผิดชอบคาดการณ์ว่าปีนี้จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 40 ล้านคน นั้น ปีนี้คาดว่าจะได้สัก 10 ล้านคน เข้ามาเที่ยวเมืองไทย แต่ตอนนี้บางสำนักให้ความเห็นว่า ได้อย่างมากแค่ 8 ล้านคน ก็ดีมากแล้ว

ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาพึ่งพาการส่งออกถึง 50% การท่องเที่ยว 15% ของ GDP การลงทุนพึ่งได้ไม่มาก ยิ่งเกิดวิกฤตโควิด-19 จนปิดกิจการกันระนาว จะหานักลงทุนเมาหมัดมาจากไหนได้ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนตอนนี้ก็ตกต่ำสุดสุด คนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านคน คนที่มีรายได้พอประทังชีวิตให้อยู่ได้ก็ต้องระวังการใช้จ่าย การจะทำให้การใช้จ่ายบริโภคเพิ่มขึ้นได้ ก็ต้องรอตอนที่เศรษฐกิจเบ่งบาน ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิด จะรอรัฐบาลใหม่ผู้นำใหม่ ก็ยังไม่เห็นแม้แต่เงา

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ตลอดจนนักธุรกิจและนักลงทุนทุกคน ต่างก็เห็นว่ามีช่องทางเดียวหรือเครื่องยนต์เดียวที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ คือ การอัดเงินของรัฐบาลเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนักเท่านั้นที่จะทำให้โงหัวขึ้นมาได้ แต่เมื่อในภาครัฐกำลังเผชิญกับ “วิกฤตการคลัง” อยู่ในขณะนี้ และจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีกในปี 2564 แล้วประเทศไทยเราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร จะพยายามหาอัศวินมาเป็นผู้นำประเทศก็ติดที่รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ จะพยายามเร่งการส่งออกทั้งลดค่าเงินบาท ทั้งลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งได้รัฐบาลที่ชาญฉลาดจริงไม่ใช่อวดฉลาดมาบริหารประเทศ และทั้งให้ทำทุกทางเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวให้เพิ่มจาก 7-8 ล้านคนในปีนี้ ให้กลับมาเที่ยวไทยมากขึ้นในปีหน้า มันก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี จึงจะคืนสภาพ

ผมอยากถามว่า ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ที่ประชาชนต้องตกอยู่ในภาวะลำเข็ญอย่างที่ไม่เคยเห็นเช่นนี้ รัฐบาลที่เกิดมาผิดธรรมชาติของประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญครึ่งใบนี้จะเอาอยู่ไหม น่าเป็นห่วงและน่าสะพรึงกลัวมาก เพราะถ้าหากว่าเมื่อใดไม่มีวงเงินกู้เพื่อชดเชยการคลังขาดดุลเหลือ เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะหมดเรี่ยวแรง เพราะว่าตามข้อเท็จจริงการเก็บรายได้ของรัฐบาลจะน้อยกว่างบประมาณรายจ่ายทุกปี เมื่อใดไม่มีวงเงินกู้เหลือ ท่อส่งน้ำเข้าเงินคงคลังก็จะขาดทันที

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image