ที่เห็นและเป็นไป : บทเรียนจากระยอง

ที่เห็นและเป็นไป : บทเรียนจากระยอง

ที่เห็นและเป็นไป : บทเรียนจากระยอง

เหตุการณ์ทหารอียิปต์ที่มีภารกิจในจีนมาอาศัยนอนพักที่ระยอง แล้วฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคติดต่อ หนีออกไปเที่ยว แล้วที่สุดตรวจสอบพบว่าทหารผู้นั้นมีเชื้อโควิด-19 อันก่อความโกลาหลครั้งใหญ่ในประเทศไทยเรานั้น

ทุกฝ่ายสรุปว่าควรใช้เรื่องนี้เป็นบทเรียน

บทเรียนที่ส่วนใหญ่เห็นว่าจะต้องไม่ให้เกิดซ้ำอีก คือ การไม่ให้คนบางกลุ่มได้รับอภิสิทธิ์รับการผ่อนปรนมาตรการป้องกันอย่างที่ให้กับทหารต่างประเทศและคนในครอบครัวทูตอีก

Advertisement

เสียงเรียกร้องดังขรมว่าจะต้องจัดการในมาตรฐานเดียวกัน

นั่นเป็นบทเรียนแรกที่เรียกร้องจากรัฐบาลว่าจะต้องจัดการให้เกิดขึ้นให้ได้

อย่างไรก็ตามในช่วงหลังมีเสียงเรียกร้องให้นึกถึงอีกบทเรียนหนึ่ง ที่คนจำนวนมากเห็นว่า “สำคัญกว่าบทเรียนแรก” เสียด้วยซ้ำ

นั่นคือการมองผ่าน “ความตื่นกลัว” ที่เกิดขึ้น

ทันทีที่ ศบค.แถลงว่ามีทหารอียิปต์ละเมิดมาตรการผ่อนปรน หนีออกมาเที่ยวห้างที่ระยอง ความโกลาหลก็เกิดขึ้น

ระยองที่การทำมาหากินกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากมาตรการผ่อนปรน กลับสู่อาการล้มระเนระนาดในพริบตา โรงแรมถูกระงับการจอง เช่นเดียวกับกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่นๆ ห้างสรรพสินค้าถูกสั่งปิด เลยเถิดไปถึงโรงเรียนทั้งจังหวัด

ที่หนักไปกว่านั้นคือ ลามไปถึงจังหวัดต่างๆ สั่งให้ตรวจสอบเข้มคนที่เดินทางจากระยอง บางแห่งให้กักตัว 14 วันกันเลย

ความตื่นตระหนกแบบกระต่ายตื่นตูมทำให้เกิดความหวาดผวาว่าโควิด-19 จะระบาดระลอก 2 ในไทย

นายกรัฐมนตรีหงุดหงิดงุ่นง่านกล่าวโทษสื่อมวลชนว่ากระพือข่าวจนน่ากลัวเกินเหตุ โดยไม่ได้นึกว่าข่าวที่สื่อมวลชนนำมาเสนอนั้นที่แท้จริงคือมาตรการที่หน่วยราชการสั่งการให้กระทำ และคำแถลงจากคนของรัฐบาลเอง

ไม่ว่าจะเป็นการให้ระวังคนเดินทางจากระยอง การตรวจเข้มข้น ฆ่าเชื้อกันทั่วพื้นที่ในระยอง และอะไรต่ออะไรอีกมากมายที่สะท้อนว่าเหตุการณ์ไม่ปกติ

กว่าจะตั้งหลักกันได้ เล่นเอาวุ่นวายกันไป 2-3 วัน

ทั้งที่แท้จริงแล้ว เมื่อตั้งสติได้ก็พบว่าไม่มีอะไรเลย

เมื่อเรารับมือกับการระบาดของโควิด-19 ด้วยการสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากาก ล้างมือ มีระยะห่างในพื้นที่ต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมายที่เชื่อว่าเป็นวิธีป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสได้ดี

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ระบบสาธารณสุขของไทยเราปัจจุบันเข้มแข็ง และมีเพียงพอที่จะรับมือได้เป็นอย่างดีหากมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น

ไม่มีอะไรน่ากลัว

ที่ “ความกลัว” เกิดขึ้น และลุกลามไปจนโกลาหลไปทั่วนั้น เพราะเมื่อมีเหตุขึ้น ทุกฝ่ายกลับลืมไปว่าเรามีมาตรการป้องกันอยู่แล้ว และที่สุดป้องกันไม่อยู่ เราก็มีระบบสาธารณสุขที่จะทำการรักษาให้ผู้ป่วยหายได้ไม่ยาก

หากจะว่าไป ที่ลืมเพราะการแก้ปัญหาเรื่องการระบาดของโควิดเน้นไปที่การ “สร้างความกลัว” ไม่เลิก

แม้จะมีความพยายามชี้ให้เห็นว่า “ควรจะบริหารอย่างมีศิลปะ” อันหมายถึงให้เกิดความสมดุลระหว่างผลทางเศรษฐกิจที่ส่งสู่ปัญหาปากท้องของประชาชน กับโอกาสการระบาดของโรค

จะต้องให้ความกลัวการระบาดไม่ทำลายการทำมาหากินได้อย่างง่ายดาย

แต่ข้อเสนอเช่นนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เคยรับฟัง

ประเทศที่ปลอดการระบาดยังเป็นเป้าหมายที่นำมาประกาศเป็นความสำเร็จกันอย่างเคร่งเครียด

ไม่ว่าผู้คนจะต้องลำบากยากแค้นแค่ไหน จะต้องรักษาอำนาจด้วย พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ เพื่อให้ทุกคน “กลัว”

เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องใช้อำนาจกันเอาเป็นเอาตาย ตามคำสั่งควบคุมการระบาด โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อนในเรื่องอื่นโดยไม่จำเป็นอย่างไรกันบ้าง

ประเทศไทยเราดำเนินมาตรการจัดการกับประชาชนด้วยการสร้างความกลัวต่อการระบาดของโรคมาอย่างยาวนาน

ดังนั้นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่ระยองครั้งนี้

จึงให้บทเรียนสำคัญว่า “การสร้างความกลัวจนเกินเหตุ” จนก่อสภาวะ “กระต่ายตื่นตูม” ได้ง่ายดายในการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐ

อย่างไรก็ตามบทเรียนนี้จะเป็นประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะมองเห็นหรือไม่

และนำมาใช้เพื่อให้การบริหารเป็นไปอย่างมีศิลปะได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image