นิรโทษกรรมเพื่อเปิดทางสู่วิถีใหม่หลังโควิด-19 : โดย โคทม อารียา

นายกรัฐมนตรีกำลังเดินสายพูดคุยกับหลายฝ่าย ซึ่งคงไม่เป็นข่าวเสมอไปยกเว้นเมื่อไปพูดคุยกับสื่อมวลชน เพราะสื่อมีหน้าที่บอกกล่าวต่อประชาชนอยู่แล้ว ผมเดาว่าการเดินสายครั้งนี้เป็นไปตามคำกล่าว ของนายกฯ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ว่าจะ

1) ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย
2) ให้ผู้มีส่วนได้เสียตัวจริงเป็นผู้ประเมินผลงานภาครัฐ
3) กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม “ไม่ปล่อยให้เกมการเมืองที่ไม่สุจริตมาดึงรั้งการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ”

ในการพูดคุยกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มีเรื่องที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีคือ การผ่านวิกฤติครั้งนี้ต้องดึงมือฝ่ายค้านเข้ามาร่วมเผชิญวิกฤติด้วย ทิ้งปัญหาการเมืองและความขัดแย้งไว้ข้างทาง เราต้องเดินผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า รัฐบาลต้องระวังการใช้จ่ายไม่ให้เกิดการทุจริตและเตรียมงบสำรองเอาไว้ ขณะนี้มีคณะทำงานที่ปรึกษานายกฯหลายชุด ล้วนมีศักยภาพ รวมถึงมี ครม. เศรษฐกิจ โดยนายกฯได้นำข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการ ร่วมกันดูแลทุกภาคส่วน ประเด็นคือ นายกฯ นักการเมือง ข้าราชการ สื่อสารมวลชน มองเฉพาะหน้ามากเกินไป ทำอย่างไรจะเปลี่ยนหลักคิดมาเป็น มองให้ไกล มองให้กว้าง อยากให้ทุกคนเดินหน้าสู่อนาคต ไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน

ในเรื่องการสร้างความปรองดอง ขณะนี้มีคณะทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่นายกฯยังไม่ได้ทำด้วยตนเอง

Advertisement

ขณะนี้ ปัญหาใหญ่คือเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าในสองปีนี้ คงยังไม่ฟื้นคืนสู่ปกติเดิม คำถามก็คือ จะถือโอกาสของวิกฤติ คิดใหม่ว่าเราไม่จำเป็นต้องคืนสู่ปกติเดิมได้ไหม ไม่จำเป็นต้องเน้นการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นายกฯกล่าวเองว่า “หลักการของผมคือเท่าเทียมด้านโอกาส” เราจะไปสู่ปกติใหม่ (new normal) ที่เน้นการลดความเหลื่อมล้ำมากกว่าการเพิ่ม GDP ได้ไหม หากเห็นด้วยตามนี้ มาตรการทางเศรษฐกิจก็ไม่ควรจะเน้นการกระตุ้นการบริโภค การเพิ่มการใช้จ่ายของครัวเรือน การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ฯลฯ ใช่หรือไม่ หากควรเน้นการผลิตและการมีงานทำในระดับฐานราก การส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยให้เข้าถึงตลาดโดยลดการพึ่งพาคนกลาง การศึกษาเพื่อความเชื่อมั่นและการปลดปล่อยจากพันธนาการทางความคิด ฯลฯ

นายกฯยังกล่าวอีกว่า “หลักการของผมคือเท่าเทียมด้านกฎหมาย” แต่กฎหมาย เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ แม้จะเขียนดีในเรื่องความเท่าเทียมกันโดยทั่วไป แต่พอมาถึงการคงอำนาจ รัฐธรรมนูญก็เอื้อต่อนายกฯและมวลมิตรของท่านอยู่ดี องค์กรอิสระที่มีขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (มิให้ลุแก่อำนาจต่อพลเมือง) กลายเป็นองค์กรเพื่อค้ำจุนความคิดของระบบราชการในนามของสิ่งดี ๆ เช่น จริยธรรม ความสุจริต และพร้อมเล่นงานฝ่ายที่ถูกตีความว่าเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจ จึงอยากร้องขอต่อนายกรัฐมนตรีว่า การสู้ภัยโควิด – 19 ไปด้วยกันนั้น น่าจะหมายรวมถึงการปฏิรูประบบยุติธรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256) และในหมวดอื่น ๆ ที่จะแก้ไขได้สะดวกขึ้นหากมีการแก้ไขมาตรา 256 แล้ว

ภายใต้ความพยายามของนายกฯที่จะผนึกทุกภาคส่วนเพื่อวางอนาคตของประเทศ ได้มีการเสนอไปแล้วว่า ภาคส่วนที่ควรผนึกภาคส่วนหนึ่งได้แก่ฝ่ายค้าน ส่วนภาคส่วนอื่น นายกฯย่อมถนัดอยู่แล้วที่จะเชิญมาหนุนเสริมการวางอนาคต โดยเฉพาะผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงิน แต่โจทย์ที่สำคัญคือ จะมีวิธีการใดที่จะทำให้ผู้ที่ไม่ค่อยจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ รู้สึกว่าตนเองเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ กล่าวคือ มีผู้รับฟังพวกตน และมีการกำหนดนโยบายการพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของพวกตน

Advertisement

วิธีการใดเล่าที่เราน่าจะนำมาใช้เพื่อระดมความเห็นของคนจำนวนมากให้มาช่วยกันขบคิดปัญหายาก ๆ ของชาติ ผมมีข้อเสนอเบื้องต้นว่าเราน่าจะใช้วิธีที่เรียกว่า “การถกแถลงแห่งชาติ” (National Deliberation) การถกแถลงหมายความว่า เรายกประเด็นขึ้นมาหนึ่งประเด็น แล้วมา “ถก” ถึงข้อดีข้อเสีย มาอภิปราย มาอธิบายในแง่มุมของเราโดยการแถลงแจงเหตุผลให้ชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ก็กล่าวถึงประเด็นย่อยต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นทางเลือกที่มีข้อดีข้อเสียโดยเปรียบต่างกับประเด็นทางเลือกอื่น ๆ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมถกแถลง (ซึ่งมีได้หลายฝ่าย หลายกลุ่ม) ก็ตั้งใจฟัง แล้วจึงถึงคราวที่ฝ่ายอื่นจะแถลงแจงเหตุผลบ้าง กระบวนการนี้คล้ายการระดมสมอง แต่เราสามารถยกเหตุผลมาโต้แย้งหักล้างกันได้ โดยไม่ต้องมีข้อสรุปว่า ฝ่ายใดมีโวหารดีกว่า มีเหตุผลดีกว่า มีผู้เห็นด้วยมากกว่า ผลการถกแถลงนั้นจะถูกรวบรวมเป็นรายงานสรุปโดยผู้จัดการถกแถลง เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ ที่จะต้องเลือกประเด็นที่น่าจะเหมาะสมที่สุด (optimal) ในการนำไปปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบต่อไป

ถ้าจะจัดให้มีการถกแถลงแห่งชาติ ก่อนอื่นอาจจะต้องมีคณะทำงานในระดับชาติ (ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีจะชอบใช้คำนี้ เพื่อให้ดูว่าไม่ใหญ่โตเกินไป) เพื่อกำหนด “หมวดนโยบาย” ในการวางอนาคตของประเทศในวิถีใหม่ หมวดนโยบายอาจตรงกับการจัดหมวดตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านที่นายกฯกล่าวถึงหรือไม่ก็ได้ อันที่จริงควรต้องปรับให้ต่างออกไปโดยให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโลกและของประเทศที่กำลังเปลี่ยนไป สำหรับแต่ละหมวดนโยบายที่คณะทำงานการถกแถลงแห่งชาติกำหนด ควรมีคณะทำงานการถกแถลงในหมวดนโยบายนั้น ๆ เช่น ถ้ามีนโยบายแห่งชาติ 7 หมวด ก็มีคณะทำงาน 7 คณะมีหน้าที่หลักในการจัดหมู่นโยบายหรือแยกแยะหมวดนโยบายแห่งชาติออกเป็นแผนงานยุทธศาสตร์ เช่น แต่ละนโยบายแห่งชาติมีแผนงานยุทธศาสตร์ 5 ถึง 9 แผน ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการวางกรอบเบื้องต้น ยังไม่เริ่มถกแถลงอย่างกว้างขวาง คือถกแถลงแต่เพียงในหมู่คณะทำงานทั้งสองระดับ

การถกแถลงควรมีขึ้นในระดับของกลุ่มจังหวัดที่มีลักษณะที่สอดประสานกัน ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ คณะทำงานในกลุ่มจังหวัดควรประกอบด้วยภาคีที่สำคัญ อาทิ ภาคราชการ (ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น) ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมและวิชาการ สำหรับแผนยุทธศาสตร์แต่ละแผน คณะทำงานกลุ่มจังหวัดจะกำหนดโครงการหรือประเด็นที่สำคัญและจัดทำข้อเสนอทางเลือกพร้อมเหตุผลประกอบสำหรับโครงการหรือประเด็นนั้น ซึ่งควรสอดคล้องกับบริบทของกลุ่มจังหวัดด้วย จากนั้นจึงจัดให้มีการถกแถลงจนพอสรุปข้อดีข้อเสียของโครงการหรือประเด็นทางเลือกต่าง ๆ จัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะทำงานหมวดนโยบาย ซึ่งจะจัดทำรายงานที่ประกอบด้วยแผนงานและโครงการสำหรับแต่ละนโยบาย เสนอสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายแห่งชาติที่เป็นวิถีใหม่สำหรับอนาคตของประเทศต่อไป

อย่างไรก็ดี ความเห็นอกเห็นใจและการร่วมมือกันจะเกิดขึ้นยาก หากหลายคนยังอัดอั้นตันใจ มีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ซึ่งนายกฯได้ตั้งหลักการข้อที่สามไว้เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยกล่าวว่า “หลักการของผมคือความเท่าเทียมด้านความเป็นธรรม” นั่นเอง ผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลายคนยังขุ่นเคืองกับผลกระทบทั้งทางวัตถุและจิตใจอันเนื่องมาแต่การต่อสู้นั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) ถ้าในใจยังรู้สึกถึงกำแพงที่ขวางกั้นอยู่ นายกฯบอกว่ามีคณะทำงานด้านการสร้างความปรองดองแล้ว อันที่จริงควรเร่งรัดให้คณะทำงานนี้เสนอข้อคิดเห็นต่อสังคมในลำดับก่อน ก่อนที่จะเดินหน้ากระบวนการถกแถลงเพื่อวิถีใหม่ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร

ก่อนอื่น อยากร้องขอให้นายกฯปรับทัศนคติจากระบบคิดแบบทหารคือ การบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสาร (command control and communication CCC) โดยหันมาเห็นประโยชน์ของความคิดแผ่กว้างที่รวมทุกฝ่ายได้ด้วยใจจริง เพื่อมีทัศนคติในวิถีใหม่ นายกฯน่าจะคุยกับคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและทางความคิดที่ข้ามพ้นขีดแบ่งในสังคม ปัญหาคือว่า คนในสังคมยังเห็นต่างว่าผู้นำทางจิตวิญญาณเหล่านั้นคือใคร เขาหรือเธอจะสนใจเสนอทางออกให้แก่สังคมผ่านนายกฯหรือไม่ ผมคิดถึงคนหลายคนและขออนุญาตเอ่ยนามบางคนด้วยความเคารพ ขอเริ่มด้วยผู้อาวุโสในวัยแปดสิบกว่า เช่น หมอประเวศ คุณอานันท์ อาจารย์สุลักษณ์ ในวัยหกสิบ – เจ็ดสิบปี เช่น พระพยอม พระไพศาล อาจารย์ประมวล ป้ามล (ทิชา) อาจารย์มารค อาจารย์ชัยวัฒน์ คุณนารี และในวัยถัดลงมา เช่น อาจารย์วิจักขณ์ คุณชญานิษฐ์ ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับเรื่องความปรองดองหรือสันติวิธี คงเคยได้ยินชื่อของเขาเหล่านี้มาบ้าง ถ้านายกฯได้ปรึกษาผู้นำที่มีความสามารถในการใช้ปัญญาญาณร่วมกับความคิดวิเคราะห์ มีความเมตตาสูงและถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าจะให้สติและปณิธานอันจำเป็นต่อการสร้างวิถีใหม่ของสังคมไทย แถมยังอาจได้แนวคิดเรื่องความปรองดองที่ชัดขึ้นด้วย

แนวทางสู่ความปรองดองอาจเลียนแบบของแอฟิกาใต้คือ การตั้งคณะกรรมการความจริงและการคืนดี (Truth and Reconciliation Commission) หรือต่อยอดจากศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แต่แนวทางเช่นนี้จะมีกระบวนการที่ยืดยาวและไม่แน่ว่าจะได้ “ความจริง” ดังที่ตั้งใจ อีกแนวทางหนึ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเข้าใจว่าคณะทำงานของนายกฯกำลังศึกษาอยู่ รัฐบาลก่อน ๆ เคยพยายามใช้แนวทางการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดด้วยแรงจูงใจทางการเมือง แต่ก็ไม่สำเร็จ คณะทำงานอาจจะต้องสรุปบทเรียนหลังจากได้ปรึกษาผู้นำที่มีปรีชาญาณบางคน

ข้อเสนอของผมคือ ขอให้สร้างแนวทางการปรองดองที่จริงจัง อันจะเปิดทางสู่การร่วมกันสร้างวิถีใหม่ ด้วยจิตใจที่ปล่อยวางความขุ่นเคือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image