การเมืองการปกครองกทม. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในกระแสที่มีการพูดถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ควรจะเกิดขึ้นสักที หลังจากเว้นว่างมานานนับจากการทำรัฐประหารโดย คสช.เมื่อ 2557 (ของ กทม.เองคือการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อ 2556 และ ส.ก. ส.ข.เมื่อ 2553) จึงทำให้ต้องมาคิดกันอีกทีว่า ในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ส.ก.และ ส.ข.นั้นจะทำอย่างไร

ตัวผมเองก็มีความกังวลและไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ส.ก. ส.ข.โดยเร็วไหม หรือควรจะเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ กทม.ใหม่ทั้งหมดเสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหา หรือจะเป็นไปได้ไหมที่จะทำไปพร้อมๆ กัน เพราะ กทม.มีปัญหาด้านการเมืองและการบริหารมากมาย

คำว่า กทม.เป็นคำที่มีทั้งความหมายกว้าง ที่หมายถึงพื้นที่ของกรุงเทพฯ และก็มีความหมายเฉพาะ ที่หมายถึงรูปแบบการปกครองพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีขนาดพื้นที่ที่เล็กกว่าพื้นที่เมืองจริงที่ยาวต่อออกไปถึงจังหวัดปริมณฑล และรูปแบบการปกครองที่เรียกกันว่ารูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528

ถ้าจะสรุปง่ายๆ รูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษของ กทม.มีลักษณะที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ เพราะ กทม.ไม่มีสถานะเป็น “จังหวัด” ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เขาไม่ได้เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่แต่งตั้งมาจากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เหมือนผู้ว่าราชการจังหวัดท่านอื่นๆ ผู้ว่าฯกทม.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและรับผิดชอบพื้นที่ กทม.ทั้งหมด

Advertisement

ส่วนพื้นที่ กทม.มีการปกครองในแบบพิเศษ คือมีหน่วยการปกครองท้องถิ่นเดียว ไม่ใช่มีสองชั้นแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัด และอีกชั้นคือมีเทศบาลต่างๆ ดูแลส่วนพื้นที่เมือง และองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ดูแลพื้นที่ชนบท นอกจากนั้นก็ไม่มีนายอำเภอ ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่อาจจะมีผู้นำชุมชนดูแลแต่ละชุมชน

พูดง่ายๆ ผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้บริหาร กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียว ไม่ต้องแบ่งอำนาจกับผู้ว่าราชการที่ถูกส่งมา (แต่ต้องรายงานตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) โดยผู้ว่าฯกทม.จะแต่งตั้งรองผู้ว่าฯในภายหลังเพื่อมาเป็นทีมบริหาร และระบบการบริหาร กทม.ก็แบ่งเป็นสองส่วนคือ “สำนัก” และ “เขต”

สำนักก็เหมือนกระทรวง/กรมย่อยๆ ที่อยู่ที่ส่วนกลางของ กทม. (เสาชิงช้าและดินแดง เวลาจะติดต่อก็โทรไปถามก่อนว่าหน่วยไหนอยู่ที่ไหน) และส่วนพื้นที่คือ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งเป็นเสมือน “สาขา” ของสำนักต่างๆ คืออธิบายว่าเขตก็เหมือนระบบภูมิภาคของ กทม. คือส่งคนลงไปโยกย้ายคนจากส่วนกลาง โดยมีผู้อำนวยการเขต (ผอ.เขต) ที่เป็นข้าราชการใน กทม.เองที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯกทม.ลงไปทำหน้าที่

ส่วนระบบตรวจสอบการบริหารจัดการก็จะมีสองระดับ หนึ่งคือ สมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) ซึ่งก็เหมือน ส.ส. (คือมาจากการเลือกตั้ง) ของแต่ละเขต เขตละไม่ต่ำกว่าหนึ่งคน เว้นแต่มีจำนวนประชากรมากจริงๆ ก็ขยายเป็นสองคน สภา กทม.มีหน้าที่เหมือนสภานั่นแหละครับ คือติดตามการทำงานของผู้ว่าฯกทม. และอนุมัติงบประมาณ

ส่วนในระดับเขตก็มีสภาเขต และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีบทบาทมาก เป็นเพียงคณะให้คำปรึกษา ผอ.เขต ไม่มีอำนาจตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณ แต่เขตหนึ่งมีหลายคน

สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายในการเมืองและการบริหาร กทม.ในวันนี้อาจจะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนการทำรัฐประหาร 2557 และปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหาร 2557

ปัญหาการเมืองและการบริหาร กทม.ก่อน 2557: คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งแม้ว่าจะมาจากเลือกตั้งและดูจะมีความชอบธรรมทางการเมืองสูง เพราะเป็นผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งที่มีพื้นที่ให้เล่นมากที่สุดไม่ต้องแบ่งอำนาจให้ใคร แต่สุดท้ายกระทรวงมหาดไทยก็ยังรวบอำนาจหรือคอยกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเคร่งครัด ดังจะเห็นจากกรณีการงัดข้อกันบ่อยครั้งของผู้ว่าฯกทม.กับรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งโดยทั่วไปในสายตาของกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มองว่า กทม.และผู้ว่าฯกทม.ใหญ่โตอะไรมากไปกว่านายกเทศมนตรีที่ดูแลพื้นที่เมืองขนาดใหญ่เท่านั้นเอง (อาทิ การพยายามเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของผู้ว่าฯกทม.จาก Governor เป็น Lord Mayor ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนบางมิติของความเข้าใจ กทม.จากมุมมองของ มท.ได้)

ผมจะขอไม่วิจารณ์เรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักใน กทม. เพราะระบบราชการทุกแห่งมีปัญหาเรื่องนี้เป็นปกติ แต่อยากชี้ว่า กทม.มีภาพรวมของระบบการปกครองท้องถิ่นที่ไม่ได้ขาดแคลนงบประมาณ แถมยังมีความคล่องตัวอยู่สูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเปราะบางต่อแนวโน้มที่จะเกิดการคอร์รัปชั่นได้ง่าย ดังจะเห็นในเรื่องของคดีความอันยาวนานตั้งแต่การสั่งซื้อรถดับเพลิง มาจนถึงเรื่องการจัดซุ้มไฟ

ประการสำคัญต่อมาในเรื่องการเมืองและบริหารจัดการ กทม.ก็คือเรื่องของการบริหารในพื้นที่ โดยเฉพาะระบบเขต เพราะระบบเขตนั้นตัว ผอ.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การโอนย้ายไม่ได้ขึ้นตรงกับความสามารถในการบริหารงานที่พร้อมรับผิดต่อประชาชน (accountability) แต่เป็นการพิจารณาจากส่วนกลางของ กทม. ซึ่งแม้ว่าผู้ว่าฯกทม.จะมาจากการเลือกตั้งแต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าผู้ว่าฯกทม.จะมีความเข้าใจสภาพปัญหาในรายละเอียดของแต่ละเขต นอกจากนั้น ผอ.เขตก็ยังมาจากกลุ่มข้าราชการของ กทม.ที่ไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะทำให้การคัดสรรตัว ผอ.เขตได้คนที่เหมาะสมกับงานเสมอไป (เมื่อเทียบกับการคัดสรรนายอำเภอที่มีจำนวนคนให้เลือกมากกว่า และมีขั้นตอนการคัดสรรและเตรียมบุคลากรที่ซับซ้อน) อีกทั้งในหลายกรณีเราก็จะเห็นว่า ผอ.เขต/รักษาการได้มีทรรศนะและพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเป็นคุณกับการบริหาร กทม. โดยเฉพาะต่อความเข้าอกเข้าใจกับชุมชนที่ประสบปัญหาการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งเรื่องที่จอดรถ เมรุเผาศพ ฯลฯ

นอกจากนี้สภาเขตที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ผอ.เขตในแบบที่ ส.ก.มีอำนาจตรวจสอบผู้ว่าฯกทม. (ทำได้แค่สอดส่องติดตามดูแลการดำเนินงานของเขต และให้คำแนะนำ ผอ.เขต หาก ผอ.เขตไม่ทำตามก็ให้แจ้งไปทางผู้ว่าฯกทม. รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและสังเกตเป็นหลัก ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเขตดูจะไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชนมากนัก รวมถึงการไม่เห็นบทบาทเชิงรุกในเรื่องต่างๆ ของสภาเขต)

ท่ามกลางสภาวะของการที่ผู้ว่าฯไม่ได้เข้าถึงปัญหาในระดับเขตและตัว ผอ.เขตก็ไม่ได้เข้าใจพื้นที่ได้มากนักเพราะย้ายไปมา และมี pool ในการเลือกน้อย ขณะที่ ส.ข.ก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบที่เข้มข้น อำนาจจริงในพื้นที่เขตใน กทม.จึงอยู่ที่ ส.ก.ที่เป็นเสมือน “นายกเทศมนตรีจำแลง” (disguised mayor) ในพื้นที่

ส.ก.จะลงพื้นที่ตลอดเวลาและมีความรู้สึก (และถูกคาดหวัง) ให้ต้องดูแลพื้นที่ (อาจจะมากกว่าตัว ผอ.เขตด้วยซ้ำ เพราะ ผอ.เขตย้ายไปมาโดยไม่เกี่ยวกับเสียงและความต้องการของประชาชน และประชาชนไม่มีโอกาสประเมินการทำงานของ ผอ.เขต)

ความคาดหวังของ “ชุมชน” ต่อ ส.ก.นั้นสำคัญ และในด้านกลับกัน ชุมชนก็เป็นฐานคะแนนสำคัญในการเลือกตั้งของ ส.ก. ขณะที่ ส.ข.ชุมชนก็คาดหวังมากเช่นกัน และ ส.ข.ก็มักเป็นคนในชุมชนนั่นเองที่ย่อมจะต้องลงพื้นที่เช่นกัน ทั้งนี้ทั้ง ส.ก.และ ส.ข.ก็จะทำหน้าที่ประสานกับเขตและมีงบพัฒนาด้วย (งบพัฒนาของ ส.ก.ถูกตัดหลังรัฐประหาร 2549 ส่วนของ ส.ข.มีรวมกันทั้งเขตคือประมาณ 1.2 ล้านบาท ส่วน ส.ส.ถูกตัดไปก่อนหน้านั้้นนานแล้ว เข้าใจว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540) แต่ที่กล่าวมานั้นจะพบว่าความคาดหวังในการแก้ปัญหาตรง หรือนำเสนอข้อร้องเรียนจากชุมชนไปยังสำนักงานเขต สำนักส่วนกลางของ กทม. หรือรัฐบาลก็มักจะกระทำผ่าน ส.ก.นี่ละครับ (และถ้า ส.ก.มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ว่าฯก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่างบประมาณในพื้นที่ต่างๆ จะอยู่รวมไปในงบประมาณของสำนักและเขตอยู่ดี)

กล่าวโดยสรุปปัญหาสำคัญก่อนการทำรัฐประหารเมื่อ 2557 ของการเมืองและการบริหาร กทม.ก็คือเรื่องของเขต ไม่ใช่เขตไม่ทำงาน เพราะถ้าลงไปดูที่เขต ประเด็นท้าทายอยู่ที่ก็งานล้นมือ แต่การเสริมอำนาจให้ประชาชนได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในระดับกำกับดูแลเขตนั้นมีต่ำมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ระดับเทศบาลตำบล หรือ อบต. ทั้งที่แต่ละเขตของ กทม.มีขนาด ความหนาแน่นของประชากร และเงินรายได้/งบประมาณมากกว่าพื้นที่หน่วยการปกครองท้องถิ่นนอก กทม.เหล่านั้น แต่ตัวแทนของประชาชนในระดับเขตตรวจสอบ กำกับดูแลการทำงานของเขตและ ผอ.ไม่ได้โดยตรง

ปัญหาการเมืองและการบริหาร กทม.หลัง 2557: ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือคณะรัฐประหารได้ยกเลิกการทำงานของ ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยตั้งอดีตผู้บริหารและข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่แทน นอกจากนี้ในท้ายที่สุดยังปลดผู้ว่าฯกทม.ออกจากตำแหน่งทั้งที่สุดท้ายข้อกล่าวหาที่ผู้ว่าฯกทม.ถูกตั้งก็ผ่านพ้นไปแล้ว (คนละเรื่องกับความนิยมที่ตัวผู้ว่าฯกทม.มี ซึ่งไม่ค่อยมากนักตั้งแต่เรื่องน้ำท่วมไปจนถึงเรื่องอื่นๆ) การปลดผู้ว่าฯกทม.ไม่ใช่ลักษณะของการปล่อยให้คณะทำงานเดิมของผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากเลือกตั้งนั้นรักษาการไป เพื่อรอให้ตัวผู้ว่าฯกทม.กลับมาทำงานหลังจากได้พิสูจน์ข้อกล่าวหา แต่เป็นการอาศัยอำนาจรัฐประหารในการแต่งตั้งบุคคลอื่นเข้ามามีบทบาทในการบริหาร กทม. โดยปราศจากการเห็นชอบและยึดโยงกับประชาชน

ในส่วนของ ส.ก.นั้นมีการแก้กฎหมายให้โอกาสที่จะมี ส.ก.สองคนในพื้นที่เป็นไปได้ยาก เพราะขยับจำนวนประชากรที่จะมี ส.ก.คนที่สองให้สูงขึ้นจนปัจจุบันยังไม่มีเขตไหนที่จะมีโอกาสมี ส.ก.มากกว่าหนึ่งคน ดังนั้น ภายใต้การแก้กฎหมายใหม่นี้ ส.ก.จะมีจำนวนไม่เกินเขต คือ 50 คนแทนที่จะเป็น 61 คน เหมือนในครั้งที่ผ่านมา (หลายเขตมี ส.ก.สองคน หมายถึงมีจำนวนประชากรมาก)

สำหรับ ส.ข.นั้นมีการตัดออกเลย หรืออธิบายง่ายๆ ว่า หากมีการเลือกตั้ง กทม. (ทั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.) ก็จะไม่มีโอกาสเลือก ส.ข.ในรอบนี้ ส่วนข้อเสนอนั้นทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นเสนอ ก็จะมีเรื่องของการยกเลิกสภาเขต แล้วให้มี “คณะกรรมการประชาคมเขต” 20 คนต่อเขตขึ้นมาแทน โดยให้มีการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ 10 คน (แบบ ส.ว.) และมีกลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่ 6 คน และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนที่ผู้อำนวยการเขตคัดสรรอีก 4 คน (ข้อเสนอเรื่องยุบสภาเขตมาคู่กับการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อป้องกันแก้ปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)

ความเห็นของกรรมาธิการถึงเหตุผลสำคัญที่ต้องยกเลิก “สภาเขต” นั้นก็คือ “ผลงานของสมาชิกสภาเขต หรือ ส.ข.ที่ผ่านมาคือ การเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และใช้บทบาทเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือคุณภาพชีวิตที่ดีที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายการเมือง เช่น ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนน หรือฐานพิทักษ์คะแนนเสียงให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น จึงขาดความเหมาะสมที่จะให้มีอยู่ต่อ อีกทั้งการมีอยู่ของ ส.ข.ยังสร้างปัญหาต่องานบริหารระดับเขต เดิมในหลักปฏิบัติ ผู้อำนวยการเขตจะถูกกำกับโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ถูกตรวจสอบโดยสมาชิกสภากรุงเทพฯ และ ส.ข.อีก ทำให้ขาดความเป็นอิสระในการทำงาน” (“เล็งแก้กฎหมาย กทม.ยกเลิก ส.ข.” คมชัดลึก 17 มี.ค.2560)

ลองคิดดีๆ ว่าปัญหาในเขตอยู่ที่ ส.ข.ที่ซ้ำซ้อนกับ ส.ก. ส.ข.ที่เป็นลูกน้องกับ ส.ก. หรือเป็นปัญหาที่ ผอ.เขตเอง? ลองคิดใหม่ว่าถ้าคณะกรรมการปฏิรูป กทม.ไม่ได้ถูกตั้งจากคณะรัฐประหารแต่มาจากตัวแทนที่หลากหลายกว่านี้ เขาจะมีมุมมองที่ต้องการเพิ่มอำนาจ สร้างความเป็นตัวแทน และพยายามตรวจสอบทั้ง ส.ข.และ ผอ.เขตมากกว่านี้ไหม?

สิ่งที่ผมได้อธิบายมาทั้งหมดนี้คือมิติบางส่วนของการเมืองและการบริหาร กทม. ยังไม่ได้รวมไปถึงปัญหาการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอีกมากมายมหาศาล สิ่งที่อยากจะหารือก็คือ แน่นอนว่าเรามีประเด็นท้าทายของการที่เราถูกลิดรอนอำนาจในการปกครองตนเองมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร เมื่อผู้ว่าฯกทม.โดนปลด (2559) ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นอีกมากมายได้รับการต่ออายุไปเรื่อยๆ ส.ก.เองก็ถูกปลดและมีการตั้งคนอื่นมาทำงานแทน แถมถูกลดจำนวนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขณะที่ ส.ข.ก็ถูกตัดทิ้งและข้อเสนอใหม่ก็ยังไม่ลงตัวและยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากประชาชน

ถ้าเราได้ผู้ว่าฯกทม.ใหม่ และ ส.ก.ใหม่เข้ามาภายใต้ระบบการบริหาร กทม.ที่เป็นอยู่ เราจะสามารถบริหารจัดการและแก้ปัญหา กทม.ได้จริงๆ ไหม?

และถ้าเราต้องการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นของ กทม.เอง เราจะมีตัวแบบอะไรที่น่าสนใจ

ผมจะลองยกตัวแบบที่สำคัญสักสามตัวแบบ

1.การใช้ระบบผู้จัดการเมือง (city manager) คือการที่สภาท้องถิ่นสามารถว่าจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารพื้นที่ อาทิ ในกรณีของเขต ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงว่า ผอ.เขตจะต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ ผอ.เขตอาจจะต้องถูกว่าจ้างโดยสภาท้องถิ่น (เหมือนผู้จัดการทีมฟุตบอล หรือ ซีอีโอ) ให้มาบริหารจัดการเขต โดยตอบสนองต่อข้อตกลงที่มีกับสภาเขตที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เรื่องนี้ในบ้านเราเป็นไปได้ยากมาก เพราะว่า รธน.กำหนดให้ผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้พัทยาซึ่งเคยใช้ระบบนี้ก็ต้องยุบเลิกไป

2.การตั้งคำถามกับการบริหารจัดการชุมชนใหม่ ทั้งชุมชนข้ามพื้นที่ (เช่น การบริหารจัดการระบบรถเมล์ หรือปัญหาฝุ่นพิษ) หรือชุมชนในพื้นที่คือ ซอยย่อยเขตให้มีตัวแทนจากเขตย่อยๆ ไม่ใช่เลือกเป็นพวกแบบเดิม หรือล้มแล้วไปคิดเรื่องกลุ่มอาชีพ

3.การปรับระบบการบริหารจัดการชุมชนใหม่ เพราะระบบชุมชนใช้ได้กับรูปแบบเดิมที่นับบ้านเป็นหลังและมีจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อย ทำให้ชุมชนเล็กๆ มีความไม่เป็นทางการ รวมทั้งรูปแบบการอยู่อาศัยใหม่ อาทิ คอนโด หรือกลุ่มทาวน์เฮาส์

ข้อเสนอเหล่านี้ไม่เคยถูกคิด ท่ามกลางความสนใจโปรไฟล์ของผู้สมัครการเลือกตั้งในตอนนี้ในด้านหนึ่ง กับเรื่องของการที่พรรคต่างๆ ที่ทำงานในสภาเองไม่ได้สนใจผลักดันประเด็นการบริหารจัดการกรุงเทพฯอย่างจริงจังในการเสนอกฎหมายต่างๆ และหมายถึงการตั้งคำถามกับการปกครองท้องถิ่นทั้งประเทศด้วย

ถ้าเลือกผู้ว่าฯกทม.ในตอนนี้คำถามก็คือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการบริหารจะทำได้ ท่ามกลางปัญหาที่เราเผชิญอยู่

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเรามัวแต่รอให้การปฏิรูปเดินไปก่อนแล้วไม่เลือกผู้ว่าฯและ ส.ก.เลย เราก็จะพบว่า เราก็จะเจอปัญหาอีกแบบหนึ่งนั่นก็คือปัญหาในการชอบธรรมในการบริหารจัดการ กทม. เพราะผู้ว่าฯและคณะบริหารปัจจุบัน รวมทั้ง ส.ก.แต่งตั้งทั้งหมดขาดความชอบธรรมในการบริหาร กทม. เพราะทั้งหมดมาจากอำนาจรัฐประหาร โดยเฉพาะ ม.44 ซึ่งพูดกันง่ายๆ ได้เลยว่า ตัวคนสั่งเองก็ย้ายตัวเองไปอยู่ในระบบเลือกตั้งแล้ว โดยให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อมาเป็นนายกฯ แต่ตัวเขาเองดันทิ้งมรดกรัฐประหารไว้ที่ กทม. โดยใช้อำนาจรัฐประหารฝ่าฝืน พ.ร.บ.กทม.2528 ทั้งการปลดผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง ปลด ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้ง แถมยุบ ส.ข.ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือถ้าจะใช้ภาษาที่พวกเขารับได้ก็คือเว้นวรรค พ.ร.บ.กทม.บางมาตรา ขณะที่บ้านเมืองก็กลับเข้าสู่ภาวะการเมืองปกติแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้การทำงานของคณะผู้บริหาร กทม.และ ส.ก.ปัจจุบันก็ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนและเจตนารมณ์ของประชาชนใดๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้วิจารณ์ทั้งผู้บริหาร กทม.และสภา กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยส่วนตัวเพราะเชื่อว่าทุกท่านได้มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพียงแต่ว่าที่มาและสถานะในปัจจุบันของระบบการบริหาร กทม.ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของทั้งรัฐธรรมนูญใหม่และ พ.ร.บ.กทม.เดิม

ถามว่าทางออกคืออะไร ผมคิดว่าทางออกหนึ่งคือ ถ้าต้องการทั้งเลือกตั้งผู้บริหารใหม่ และปฏิรูประบบการบริหาร กทม.ไปพร้อมกัน ก็ต้องเรียกร้องให้คณะบริหารปัจจุบันทั้งคณะผู้ว่าฯกทม.และสภา กทม.ลาออก เมื่อเกิดการลาออกก็จะอยู่ในสภาวะรักษาการ เมื่อรักษาการก็จะเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมเห็นว่าการตั้งผู้บริหารใหม่ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งในกรอบกฎหมายปัจจุบันนั้นทำไม่ได้และขาดความชอบธรรมยิ่ง

ส่วนในการนำเสนอรูปแบบการบริหาร กทม.ใหม่ก็เป็นหน้าที่ที่พรรคการเมือง หรือผู้ที่สนใจสมัครตำแหน่งต่างๆ ใน กทม.และผู้ที่สนใจปัญหาการบริหาร กทม.ได้นำเสนอโครงสร้างการบริหาร กทม.ใหม่ ได้ผลักดันและนำเสนอให้สาธารณะเข้าใจและผลักดันในสภาปัจจุบันอย่างจริงจัง ถ้าไม่ทำเลย ก็ต้องทำเมื่อมีการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. เช่น จะทำอย่างไรกับเขตและ ส.ข.

ช่วยกันคิดและตั้งคำถามกับผู้สมัครและพรรค/กลุ่มที่จะส่งผู้สมัครเพื่อ กทม.ของเราทุกคนครับ และถ้ามันเป็นไปได้ การเปลี่ยนแปลงที่ กทม.ก็จะส่งผลต่อการเปลี่บนแปลงท้องถิ่นอื่นๆ โดยเฉพาะในระดับเมืองก็จะอาจเป็นไปได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image