HONG KONG IS NOT CHINA : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

HONG KONG IS NOT CHINA

HONG KONG IS NOT CHINA

สมัยประชุมสามัญสภานิติบัญญัติเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้สิ้นสุดลงวันที่ 17 กรกฎาคม

บัดนี้ สามารถใส่เครื่องหมาย “full stop” ได้แล้ว

เวลา 4 ปีที่ผันผ่าน สภาแห่งนี้ถูกโจมตีทุกรูปแบบ และถูกทำลายทรัพย์สินซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตกาล อันเป็นเหตุให้กลายเป็นสนามรบอย่างแท้จริง ปัญหาในสภาคือ

Advertisement

1 นักการเมืองฝ่ายโปรประชาธิปไตยและฝ่ายโปรจีนมีความขัดแย้ง ศรศิลป์ไม่กินกัน

1 ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเกิดความแตกแยก เป็นไม้เบื่อไม้เมา

ดังนั้น เหตุการณ์ “สภาล่ม” จึงเสมือน “อาหารประจำวัน”

นอกจากนี้ สมาชิกสภาต่างแก่งแย่งชิงดีกันทางการเมือง จนหลงลืมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดูประหนึ่งว่าสภาอยู่ในสภาพอัมพาต ทำงานแบบ “เช้าชามเย็นชาม”

วันนี้ ประชาชนมิได้ตั้งความหวังไว้กับนักการเมือง เพราะความเชื่อถือมีไม่พอให้เชื่อได้

การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กลายเป็นประเพณีไปแล้ว

หากจะอุปมาอุปไมยสถานการณ์ในสภานิติบัญญัติของฮ่องกงก็คือ

“ไม่มีคำว่ายุ่งที่สุด หากมีแต่ยุ่งมากขึ้น”

ย้อนดูเหตุการณ์แรกเริ่มเปิดสมัยประชุมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2016 ก็เกิดปัญหาปฏิญาณตนของผู้ทรงเกียรติ 4 คนในสภาด้วยการใช้สโลแกน “HONG KONG IS NOT CHINA” (ฮ่องกงมิใช่ประเทศจีน) สภาเห็นว่าเป็นพฤติการณ์อันมิชอบ จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล

ในที่สุด ศาลสูงได้พิพากษาให้การปฏิญาณตนของว่าที่สมาชิก 4 คนเป็นโมฆะ คุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติก็ต้องสิ้นสุดตามผลแห่งกฎหมาย

ย้อนมองอดีต 2017 ผู้ว่าเหลื่อง ลงจากตำแหน่ง “แคร์รี่ หล่ำ” รับช่วงแทน เธอได้ทำงานร่วมกับผู้ที่โปรประชาธิปไตยในประเด็นการศึกษา สังคมสงเคราะห์ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดูเหมือนว่ามีความก้าวหน้าไประดับหนึ่ง ถือกันว่าเป็นช่วง “ฮันนี่มูน” ระยะสั้น

ต่อมา เกิดความขัดแย้งปัญหารถไฟความเร็วสูง และการแก้ไขระเบียบวาระการประชุม

ในที่สุด “ฮันนีมูน” กลายเป็น “รักร้าว”

ล่าสุด ปีที่แล้วเกิดปัญหาแก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้จีนแผ่นดินใหญ่

เป็นเหตุให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแตกหักอย่างสิ้นเชิง

เหตุการณ์ต่อต้านร่างแก้กฎหมาย ฮ่องกงเข้าสู่สภาพสงครามการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2019 ผู้ชุมนุมประท้วงทำการบุกรุกสภานิติบัญญัติ เหตุการณ์มิเพียงทำลายอาคารและทรัพย์สินอื่น หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของสภาอัมพาต

แม้ว่าใช้เวลา 3 เดือนซ่อมแซมอาคารรัฐสภาเรียบร้อย

แต่การทำงานยังถือว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากนี้ การปะทะกันในประเด็นแก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ เกิดขึ้นทั้งบนถนนและในสภา การปราบจลาจลกลายเป็น “เมโลดี้หลัก” ของฝ่ายบริหาร

เป็นเวลาเกินกว่าครึ่งปี คณะกรรมาธิการสภาไม่สามารถเลือกประธานสภาได้ อันเป็นเหตุให้งานการร่างกฎหมายเป็นจำนวนมากไม่สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมาย

ไม่ว่าฝ่ายโปรประชาธิปไตย ไม่ว่าฝ่ายโปรรัฐบาลจีน ต่างมีผู้ปฏิบัติตนเสมือน “เชื้อเพลิง”

ก็เพราะเชื้อเพลิง จึงก่อให้เกิดปัญหา เป็นปัญหา “วางเพลิงเผาทรัพย์”

ดังนั้น การสาดโคลน การด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

เหตุการณ์ในที่ประชุมสภาก็ไม่แตกต่างกัน การปะทะคารมนับวันรุนแรงและดุเดือด

สภานิติบัญญัติคือสัญลักษณ์ของสังคม หากสภาไร้ประสิทธิภาพ ไร้ระเบียบวินัย ไร้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ย่อมหมายถึงความล้มเหลวของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และในทำนองเดียวกันปัญหาของสังคมก็ยิ่งถาโถมมากขึ้นแน่นอน

จวบจนต้นเดือนกรกฎาคม 2020 สภาฮ่องกงร่างกฎหมายได้เพียง 17 ฉบับ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือร่างกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ยังคั่งค้างหรือระงับการพิจารณา

ส่วนกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ e-cigarette เป็นต้น “แท้งหมด”

แต่ก็ยังถือว่าคนฮ่องกงโชคดี โชคดีกว่าคนในแถบนี้ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สภานิติบัญญัติเปิดประชุมสามัญทั้งสมัยได้กฎหมายเพียง 1 ฉบับคือ “หมวกกันน็อก”

หากพินิจถึงวัตถุประสงค์ของสภานิติบัญญัติ ก็คือเป็นองค์กรที่แก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง หากมิใช่
สถานที่สร้างปัญหาให้มากขึ้น

ฝ่ายโปรประชาธิปไตยเห็นว่า ความล้มเหลวของสภาฮ่องกง เกิดจากเขตปกครองพิเศษกับรัฐบาลจีน ต่างไม่ยอมลดราวาศอก

ส่วนฝ่ายโปรรัฐบาลจีนเห็นว่า ปัญหาเกิดจากฝ่ายโปรประชาธิปไตยมองรัฐบาลจีนคือศัตรู

ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลของตน กรณีไม่ต่างไปจาก “ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน”

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายน่าจะหันหน้าเข้าหากัน ทำงานร่วมกัน แก้ไขปัญหาบ้านเมืองโดยปราศจากอคติ ดีกว่ามาสกัดเตะขัดขา เสียประสาท เสียเวลาโดยใช่เหตุ

แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า “ส.ส.ทำหน้าที่เพียงเสมือนตรายางเท่านั้น”

ต้องยอมรับความจริง 1 ว่า การเมืองฮ่องกงปัจจุบันอยู่ในสภาพ “เอาเป็นเอาตาย” กัน

การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในเดือนกันยายน มีฝ่ายโปรประชาธิปไตยส่วนหนึ่งประกาศว่าจะเข้าไปนั่งในสภาให้ได้ วัตถุประสงค์ก็คือ ทำให้รัฐบาลเป็นอัมพาต ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เคยยื่นมาแล้วสมัยที่มีการประท้วงแก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ผล Primary vote ของฝ่ายโปรประชาธิปไตยสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดประชาธิปไตยมีความเสถียรน่าพอใจ แต่จะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมหรือไม่ ควรแก่การวินิจฉัย

ปัญหาในฮ่องกงปัจจุบันมีอยู่มากทีเดียว มากเพราะเกิดจากการสะสม อาทิ

ปัญหาที่อยู่อาศัย ชีวิตความเป็นอยู่ระดับรากหญ้า ผู้สูงวัยที่ต้องการความช่วยเหลือ

นักการเมืองต้องไม่ลืมว่า ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ละเลยมิได้ และถ้าฮ่องกงจะให้หลุดพ้นจากวังวนเช่นว่า ควรต้องสร้างระบบการเมืองให้มีประสิทธิภาพ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย เพราะว่า

ตบมือข้างเดียวไม่ดังแน่นอน

ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองฮ่องกงจะเลวร้ายสักปานใด รัฐบาลกลาง เขตปกครองพิเศษ ฝ่ายโปรประชาธิปไตย และฝ่ายโปรจีนก็มิควรปิดทาง “เปิดอกคุยกัน” หากมิฉะนั้น

ปัญหาจะมิได้รับการแก้ไขเป็นอันขาด

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image