ปรากฏการณ์กระบวนการยุติธรรม : โดย รศ.ดร.กรกฎ ทองขะโชค

ปรากฏการณ์กระบวนการยุติธรรม : โดย รศ.ดร.กรกฎ ทองขะโชค

ปรากฏการณ์กระบวนการยุติธรรม

เหตุเกิดปี 2555 ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานลงพื้นที่ ตรวจที่เกิดเหตุบริเวณที่ถูกชนซอยสุขุมวิท 47 ลากยาวจนถึงซอย 49 เป็นระยะทางยาวกว่า 200 เมตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดห้าประเด็น คือ

ข้อ 1 เมาแล้วขับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น…” (อัยการสั่งไม่ฟ้อง)

ข้อ 2 ขับรถเร็วเกินตาม พ.ร.บ.ผู้จราจรทางบก พ.ศ. 2522 “ขับขี่ต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง…” (ขาดอายุความไปแล้วเมื่อกันยายน 2556)

Advertisement

ข้อ 3 ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 “ประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน…..” (ขาดอายุความไปแล้วเมื่อกันยายน 2556)

ข้อ 4 ชนแล้วหนีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 “ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม…” (ขาดอายุความไปแล้วเมื่อกันยายน 2560)

จากข้อ 1 ไม่ฟ้องเพราะตรวจพบแอลกอฮอล์หลังขับรถแล้วหนีเข้าบ้านให้การว่าเครียดเลยต้องดื่มเหล้าที่บ้านหลังขับ ตรวจพบแอลกอฮอล์จึงไม่ผิดในข้อหาเมาแล้วขับเพราะดื่มหลังขับไม่ได้ดื่มแล้วขับ

Advertisement

จากข้อ 2 ถึง ข้อ 3 อายุความหนึ่งปีทำให้ขาดอายุความ พ้นข้อหาด้วยเทคนิคของคนในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องถูกลงโทษทางวินัย ป.ป.ช.ชี้มูลเป็นวินัยไม่ร้ายแรง

ข้อ 5 ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีกำหนดจะหมดอายุความในเดือนกันยายน 2570 หรืออายุความฟ้องคดีอาญา 15 ปี ณ วันนี้สั่งไม่ฟ้องไปแล้ว พ้นข้อหาด้วยทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้แยกหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญาชั้นต้นออกจากกันระหว่างตำรวจและอัยการกล่าวคือ ในคดีอาญาปกติที่ไม่ใช่คดีพิเศษอัยการไม่ได้ร่วมสอบสวนคดีอาญากับพนักงานสอบสวนตั้งแต่ต้นเหมือนหลายประเทศ โดยตำรวจหรือพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีตั้งแต่เริ่มแรกแต่ฝ่ายเดียว จนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้น

เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการสั่งคดีต่อไป

ขั้นตอนการสั่งคดีของพนักงานอัยการ การสั่งคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นทนายความแผ่นดิน ดำเนินคดีในชั้นศาลแทนรัฐ การสั่งคดี คือ การที่พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจการสั่งคดีอาญาว่าคดีอาญาที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลที่จะฟ้องร้องต่อศาลต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาจากสำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ส่งมา พร้อมพยานหลักฐานที่รวบรวมมาทั้งหมด หากพนักงานอัยการเห็นว่าคดีอาญานั้นไม่มีมูลที่จะฟ้องร้อง (เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้ทำผิด) พนักงานอัยการอาจมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือหากว่าพนักงานอัยการเห็นว่าตามสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานนั้นเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง ก็มีคำสั่งฟ้องคดีและนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป

การตัดสินใจสั่งไม่ฟ้องต้องเป็นที่พอใจเสมือนว่าการสั่งดังกล่าวนั้นอยู่ในมาตรฐานอย่างเดียวกัน และจะบังเกิดผลในทางแก้ไขบำบัดผู้กระทำความผิดในแต่ละคดีไป ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวจะมีพื้นฐานจากการพิจารณาผ่อนปรนให้แก่ผู้กระทำผิดก็ตาม การให้ความปรานีแก่ผู้กระทำความผิดมากเกินไปก็อาจทำให้ประชาชนลดความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของกฎหมายลงได้ และผู้กระทำความผิดเองก็อาจเกิดความรู้สึกได้ว่าตนมีอิสระที่จะประกอบการใดได้อีกโดยไม่หวั่นเกรงโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย

ดังนั้น นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่การใช้ดุลพินิจจะต้องกระทำโดยคำนึงถึงทั้งผลที่จะเกิดต่อผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลและต่อสาธารณชนโดยส่วนรวมด้วยเสมอ และบุคคลแต่ละคนย่อมมีค่านิยมในการรับรู้สิ่งต่างๆ ทัศนคติและบุคลิกภาพทางจิตใจที่แตกต่างกัน ซึ่งพนักงานอัยการเองก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่แตกต่างไปกว่าคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่มีมาตรฐานใด ในการใช้ดุลพินิจกำหนดแนวทางมาตรฐานไว้ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อการที่อาจยึดถือความถูกต้องของตนเองเป็นใหญ่ในการใช้ดุลพินิจ ทำให้การ และการใช้ดุลพินิจเกิดความลักลั่นและเป็นไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจ

แนวทางการสร้างความเชื่อมั่น ควรควบคุมตรวจสอบดุลพินิจอาจทำควบคู่ไปทั้งทางควบคุมจากภายในองค์กรเองซึ่งมีอยู่แล้ว และการควบคุมจากภายนอกองค์กร คือ สร้างองค์กรการตรวจสอบภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดโอกาสให้องค์กรนี้ได้รับข้อมูลการร้องทุกข์ได้โดยตรงจากผู้เสียหาย สื่อมวลชน และประชาชนโดยทั่วไป สร้างกุญแจสำคัญของการควบคุมใช้ดุลพินิจ โดยการพยายามหาช่องทางให้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบองค์กรได้มากขึ้น โดยการสร้างความโปร่งใสในระบบการทำงาน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลต่างๆ มากขึ้น

รศ.ดร.กรกฎ ทองขะโชค
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image