ข้อเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจสังคมหลังโควิด-19

ข้อเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจสังคมหลังโควิด-19

ข้อเสนอแนวทางแก้ไข
ปัญหาเศรษฐกิจสังคมหลังโควิด-19

การจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เป็นเรื่องยากมาก เพราะความไม่แน่นอนสูงยิ่ง โควิด-19 ทำให้ผู้วางนโยบายต้องคิดนอกกรอบ และคิดทางออกด้านโครงสร้าง สู่อนาคตของความปกติใหม่ด้วย หนึ่งคือ วัคซีนจะต้องใช้เวลา เราจึงจะต้องอยู่กับโควิดให้ได้ เหมือนเราต้องอยู่กับโรคหวัดธรรมดา (ไม่มีวัคซีน) แม้โควิดจะร้ายกว่าอีกหนึ่งคือ ต้องสามารถจัดการกับความปกติใหม่ของภาวะเศรษฐกิจ ที่จะไม่มีบูม มีแต่การซึมยาว โดยให้ทุกคนพออยู่พอกิน ไม่ล้ม รักกัน ช่วยกัน และจะเตรียมสร้างแหล่งความเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่เพื่อนาคตด้วย

สำหรับไทยคือ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ผู้อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60-70 ไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่พอจะประทังชีวิต เด็กและผู้สูงวัยทุกข์ยาก เป็นปัญหาหนักสุด

หลายคนยังหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้น โดยให้คนอเมริกัน คนจีน ซื้อสินค้าเรา มาเที่ยวบ้านเรา ถ้าคิดเข่นนั้น เราจะไม่ทำอะไรใหม่ เศรษฐกิจจะยิ่งซึมยาวแบบตัวแอล

Advertisement

ทางออกที่ทำกันทั่วโลก คือต้องใช้นโยบายการคลัง เพราะนโยบายการเงินไม่ได้ผลเมื่อทั้งโลกเข้าสู่วิถีบริโภคต่ำลงทุนต่ำ ส่งออก การท่องเที่ยวหยุดชะงัก เราต้องพึ่งตนเอง

รัฐบาลต้องเป็นพระเอก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมาตรการออกจากวิถีบริโภคต่ำ ลงทุนต่ำ โดยใช้จ่ายแทนภาคเอกชน อุดหนุนรายได้ ยอมก่อหนี้สาธารณะ สร้างความมั่นใจว่าจะดูแลทุกคน เพื่อลดปัญหาสังคม โดยจัดทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกแข่งกันจัดทำ

ประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่ำ เพราะมีวินัยการคลังเคร่งครัดมาก่อนโควิดสามารถ “ยิงกระสุน” ทำงบประมาณขาดดุลได้มาก เช่น ที่เยอรมนี หนี้สาธารณะ 68.7 ต่อจีดีพี รัฐบาลจัดงบขาดดุล อุดหนุนทุกคนและสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวสู่อนาคตคิดเป็นร้อยละ 13 ของจีดีพี ที่ญี่ปุ่นแม้หนี้สาธารณะ 251.9% ต่อจีดีพี ยังทำงบประมาณขาดดุล 21% ต่อจีดีพี เมื่อสหรัฐอเมริกาใช้นโยบายนิวดีล (เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ค.ศ.1929-1937) สร้างงานเพื่อลดปัญหาสังคม หนี้สาธารณะขึ้นสูงถึง 100% ต่อจีดีพี ของไทยมีแนวโน้มรักษาวินัยทางการคลัง หนี้สาธารณะก่อนโควิดต่ำกว่าเกณฑ์เพดานทั่วไปที่ใช้กันที่ 60% ต่อจีดีพี นักวิชาการล่าสุดบอกว่าในสภาวะที่เป็นเหตุจำเป็นอาจเพิ่มเพดานได้ถึง 90% ต่อจีดีพี หมายความว่า ไทยยังเพิ่มหนี้สาธารณะได้อีก และครั้งนี้รัฐบาลต้องใจป้ำมากกว่าครั้งใดในอดีต เพราะปัญหาสังคมอาจทำให้รัฐและสังคมล่มได้ จึงต้องไม่กลัวหนี้สาธารณะ

Advertisement

ขอนำเสนอให้พิจารณาทางออกในด้านนโยบายการคลังและนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เขียนกลั่นกรองมาจากความสำเร็จของสหรัฐที่แก้ปัญหาการว่างงานครั้งวิกฤตตกต่ำครั้งใหญ่ปี ค.ศ.1929-1937 ได้ และจากนโยบายเยียวยาโควิดของรัฐบาลเยอรมนีในปัจจุบัน ซึ่งผู้สันทัดกรณีชี้ว่าจะทำให้เยอรมนีฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศในโออีซีดีทั้งหมด โดยสำหรับประเทศไทยต่อจากนี้ และ (2) 5 ชุดโครงการสำหรับระยะปานกลางใน 5-10 ปี ดังนี้

1.ระยะสั้น 2-3 ปีต่อจากนี้

เป้าหมาย เข้าใจร่วมกันว่าต้องรัดเข็มขัด ทุกคนอยู่ได้พอควรไม่ถูกบีบคั้นมาก รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจออกจากวิถีบริโภคและลงทุนต่ำ พึ่งพาตนเองเป็นหลัก ใช้เงินให้ถูกจุด

โครงการ

1. ให้มีมาตรการรายได้ขั้นต่ำแบบถ้วนหน้า เน้นที่ครัวเรือนระดับล่าง ที่ไม่มีช่องทางหารายได้ในช่วงวิกฤตในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า รายได้ขั้นต่ำนี้ ไม่ต้องมาก อาจจะครัวเรือนละ 5,000 บาท ครอบครัวใดมีเด็ก เพิ่มอีกคนละ 10,000 บาท

2. นอกเหนือจาก 1 แล้ว ต้องเพิ่มรายได้ให้ผู้ตกงาน โดยมีโครงการจ้างงานในทุกอำเภอ จังหวัด ที่โยงกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พลังงานทางเลือก การสร้างและดูแลสวนสาธารณะใหม่ๆ สนามเด็กเล่น โดยใช้ที่ดินของรัฐซึ่งถูกทิ้งร้างอยู่ มีหลายแห่งทั่วประเทศ โครงการฟื้นฟู ป่า อุทยาน ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้วแต่เสื่อมโทรมไป โครงการสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ท้องถิ่นยังขาดแคลน และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ เหล่านี้เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปรกติได้ ก็จะยิ่งทำให้เมืองไทยน่ามาเที่ยวมากขึ้นทั้งกับพวกเรากันเองด้วย

3. กำหนดให้นายจ้างไม่ปลดคนงานโดยรัฐช่วยจ่ายบางส่วนของค่าจ้างเป็นรายหัว

การช่วยให้บริษัทอยู่รอดได้แม้จะชั่วคราว จะช่วยให้ทางการมีเวลาเตรียมการฝึกอบรมที่จำเป็นต่อการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาบุคลากรสายอาชีพด้านต่างๆ ให้รองรับกับความพยายยามเข้าสู่ Thailand 4.0 ในปัจจุบัน การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ on-the-job training ประสบความสำเร็จมากกว่าการให้อุปกรณ์ใหม่ (retooling) แก่คนงานที่ถูกลอยแพ การฝึกฝนใหม่ก็สำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้คนงานเหล่านั้นได้เรียนรู้ทักษะ ความสามารถใหม่ เช่นเดียวกับการสร้างงานให้นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบ

4. จัดให้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่เพื่อ start up ในกิจการใหม่ๆที่เป็นไปได้ อาจทำเป็นกลุ่ม (มีงานศึกษาที่ชี้ว่าส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่-gen y-ชอบทำงานอิสระแบบไม่มีนายจ้าง) สำหรับผู้ที่ต้องการงานประจำ มีโครงการจ้างงานแบบมิยาซาวาสมัยวิกฤตการเงิน 2540 ที่รัฐบาลกู้เงินจากญี่ปุ่นจ้างผู้สำเร็จ ป.ตรีใหม่ๆ ไปทำงานในพื้นที่ ที่เป็นประโยชน์กับคนในท้องถิ่น เช่นเป็นนักบัญชี ช่วยเพิ่มทักษะด้านไอที ในหน่วยงานท้องถิ่น ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ

5. เสริมสภาพคล่องของ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะในภาคเกษตร รวมทั้งมีโครงการฝึกอบรม เสริมประสิทธิภาพการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องการทำบัญชี การจัดการการเงิน การเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ฯลฯ

6. ยกเลิกกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการผูกขาดในอุตสาหกรรมที่ปิดกั้นพัฒนาการของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งหากทำได้ จะมีธุรกิจขนาดเล็ก กลาง เกิดขึ้นได้มากมาย และเป็นแหล่งจ้างงาน โดยเฉพาะ ในอุตสาหกรรมเบียร์และน้ำเมา

7. ทุกคนต้องรักกัน ช่วยกัน คิดถึงมาตรการภาษี ที่จะเพิ่มรายได้รัฐบาลได้ทันที อาทิ เร่งจัดระบบเก็บภาษี platform economy ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น Grab ซึ่งสามารถทำได้ทันที นอกจากนั้นให้รัฐขอเก็บภาษีความมั่งคั่ง (wealth levy) เป็นการพิเศษจากผู้มีเงินได้ต่อปีเกินกว่าเกณฑ์ขั้นสูงที่จะกำหนด แล้วนำมาช่วยแก้ปัญหาผลกระทบของโควิด สำหรับนิติบุคคล ให้เป็นส่วนหนึ่งของ Corporate social responsibility

8. รัฐให้แรงจูงใจธนาคารให้สินเชื่อธุรกิจแบบที่ให้กับนักศึกษา คือจ่ายเงินคืนเมื่อมีกำไร ทั้งนี้เพื่อชะลอจำนวนคนตกงาน เมื่อธุรกิจต้องปิดกิจการเพราะไม่มีเงินจ่ายหนี้

2.ระยะปานกลาง 5-10 ปี

เป้าหมาย สู่อนาคตเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืนในแนวทางใกล้เคียงกับแผนการ BCG ของรัฐบาลปัจจุบัน พร้อมระบบสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมที่ดี

โครงการ

1. สร้างแหล่งความเติบโตทางเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจสีเขียว เช่นอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถอีวี การเกษตรสีเขียว พลังงานทางเลือก รัฐบาลควรยกเครื่องการใช้พลังงานทั้งระบบ ไม่เพียงแต่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในอีก 35 ปี แต่เตรียมตัวเพิ่มจีดีพีด้วยเศรษฐกิจสีเขียว แม้ว่าการลดปัญหาโลกร้อนอาจไม่ช่วยปัญหาการระบาดของโควิดทั่วโลกโดยตรง แต่จะช่วยป้องกันการระบาดโรคใหม่ในอนาคต อีกทั้งภัยพิบัติอื่นๆ ได้

2. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองระดับจังหวัด ภูมิภาค “สร้างบ้านแปงเมือง” ใช้หลักการราษฎรในพื้นที่ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ โดยภาครัฐส่งเสริมช่วยจัดหาเงินทุน ในช่วงแรกอาจเริ่มจาก เช่น ใช้เงินบางส่วนของเงินสี่แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งมีอยู่แล้ว และขั้นต่อๆไปส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดหรือภูมิภาคคิดมาตรการระดมทุนใหม่ๆ รวมทั้งการปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การออกพันธบัตร และให้มีการกระจายอำนาจ โดยใช้ระบบการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ

3. มีแผนการปรับระบบสวัสดิการของไทยเป็นระบบถ้วนหน้า โดยมีระบบสุขภาพเป็นแกน และมีแผนปฏิรูปภาษีรองรับ

4. รัฐบาลควรมีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งในด้าน การกระตุ้นอุปสงค์ สนับสนุนอุปทาน และ สร้างปัจจัยสนับสนุน รวมถึงได้มีการวาง Roadmap ผลิตภัณฑ์เป้าหมายในการพัฒนา แบ่งเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว

5. รัฐบาลควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ บริษัท ที่ถือว่ามีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อเศรษฐกิจภายใต้การให้สินเชื่อที่ออกแบบจำเพาะเจาะจงกับธุรกิจรายตัว และหรือการแปลงหนี้สินเป็นทุน

โครงการระยะยาวต้องใช้เวลาในการวางแผนและดำเนินการ ซึ่งบางเรื่องอาจเริ่มแล้ว แต่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

รัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมือง อุดหนุนระบบสุขภาพและสวัสดิการถ้วนหน้า กระจายอำนาจ ได้รับความไว้วางใจจากประชาขน ในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยตามแนวทางสากล จะมีโอกาสและสามารถจัดการกับผลกระทบของโควิด- 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ด้วย

ผาสุก พงษ์ไพจิตร
เกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image