ที่เห็นและเป็นไป : แค่‘อนาคตที่มีหวัง’ให้ไม่ได้หรือ

ที่เห็นและเป็นไป : แค่‘อนาคตที่มีหวัง’ให้ไม่ได้หรือ

ที่เห็นและเป็นไป : แค่‘อนาคตที่มีหวัง’ให้ไม่ได้หรือ

ความไม่พอใจของเยาวชน อันหมายถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ออกมาชุมนุมส่งเสียงไปถึงรัฐบาลนั้น เริ่มต้นจากสถานการณ์ที่นับวันจะชัดเจนว่า “อนาคตของพวกเขาน่าเป็นห่วง”

ปัญหาเศรษฐกิจที่นับวันจะวิกฤตรุนแรงขึ้น บริษัทห้างร้านถูกล้ม ปิดงานเลิกจ้างระนาว

หลักสูตรการศึกษาที่ไม่สนองตอบต่ออาชีพที่จะทำมาหากินได้ในอนาคต

Advertisement

กระแส “จบแล้วตกงาน ไม่มีงานรองรับ” เป็นแนวโน้มที่เป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

อนาคตที่มองไม่เห็นความหวัง ทำให้เกิดการดิ้นรนที่จะต้องต่อสู้

และที่สุด “ระบอบที่ถูกดีไซน์ให้ได้รัฐบาลที่ถูกตีค่าว่าไม่เป็นประชาธิปไตย” ตกเป็นจำเลยของความสิ้นหวังนั้น

Advertisement

ข้อเรียกร้องเริ่มต้นจึงเริ่มที่ “เลิกคุกคามประชาชน-ยุบสภา-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

เป็นข้อเรียกร้องที่ทิ่มตรงไปที่ “เสรีภาพการแสดงออก” และ “การได้ใช้สิทธิใช้เสียงอย่างยุติธรรม ไม่อยู่ในกรอบของการดีไซน์ระบอบที่เอื้อให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดการควบคุมอำนาจ”

แก่นแกนของเสียงเรียกร้องของเยาวชนอยู่ตรงนี้

แต่ต้องการ “อนาคตที่พอมีความหวัง” และเห็นว่า “กลไกผูกขาดอำนาจ” เป็นปัญหา จะต่อสู้ได้ต้องทำให้ “มีเสรีภาพในการแสดงออก”

ด้วยแก่นแกนนี้ หากผู้มีอำนาจมีสิทธิพอที่จะก่อให้เกิดปัญญามองเห็นได้บ้าง

การรับมือไม่น่าจะใช่เรื่องยากเย็น

ต้นตอที่เป็นพลังให้เกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งคือ “คนรุ่นลูก รุ่นหลานกังวลต่ออนาคต” นั้น การตั้งรับควรจะอยู่ที่ยอมรับฟัง และหาทางชี้แจง และทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า “ผู้มีอำนาจจะสร้างอนาคตที่หวังความสำเร็จในชีวิตให้ได้”

ซึ่งหากเป็นรัฐบาลที่ชัดเจนในภาระหน้าที่ว่าคือการพัฒนาประเทศ “การทำให้เยาวชนมีความหวังต่ออนาคต” เป็นหน้าที่ปกติอยู่แล้ว เป็นภารกิจที่ปกติอย่างยิ่ง

แต่กลับกลายเป็นว่าคนในรัฐบาลเหมือนไม่มีข้อมูลอะไรอยู่ในสมองเลยว่าจะทำให้ “เยาวชนรับรู้ถึงความหวังต่ออนาคตอย่างไร”

การบริหารจัดการเพื่อหยุดยั้งการชุมนุมที่ใช้ “กองกำลังเจ้าหน้าที่ กฎหมาย ผู้บริหารโรงเรียน และคำสั่งเตรียมคุมขังสร้างม็อบมาชนม็อบ” ยิ่งตอกย้ำว่า “ระบบที่ดีไซน์มาเพื่ออำนาจคนกลุ่มหนึ่ง” มีอยู่จริง และทำอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากมุ่งคุกคามการแสดงออก

ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ด้วยการกดข่มโดยอำนาจเช่นนี้ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ไม่มีทางที่จะ “สร้างความหวังให้ชีวิตเอาตัวรอดในอนาคตได้”

ยิ่งปล่อยให้ความคิดของคนบางกลุ่มบางพวกออกมาข่มขู่ด้วย “โครงการดับฝัน”

ยิ่งสร้างความหดหู่ให้เกิดขึ้นในใจของ “คนรุ่นลูก รุ่นหลาน” มากขึ้นอีก และยิ่งไปกันใหญ่เมื่อผู้มีอำนาจส่งเสียงเตือนว่า “การแสดงออกเพื่อขอความหวังต่ออนาคต” นั้นเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ

“แค่ขอความหวังให้ชีวิตมีโอกาสก้าวหน้า ถึงกับจะต้องฆ่าต้องแกงกัน” ทั้งที่ดูจะเป็นคำขู่ที่เกินไป แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะปฏิเสธ การแสดงท่าทีกลับไปในทางกังวลว่าจะเป็นไปตามคำขู่นั้น

ทำให้การคลี่คลายสวนทางกับความกังวล

“ความสิ้นหวังต่ออนาคต” ที่ควรจะได้รับการคลี่คลาย กลับกลายเป็นถูกจัดการด้วยท่าทีที่ไม่ต้องบอกก็รู้สึกว่า “ลูกหลานควรจะเลือกยอมจำนนกับอนาคตที่สิ้นหวังนั้นดีกว่าจะต้องมาบาดเจ็บ ล้มตาย หรือสูญเสียอิสรภาพจากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง”

ท่าทีเช่นนี้ ไม่เพียงไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย แต่กลับจะทำให้ความสิ้นหวังอัดแน่นรอวันระเบิดรุนแรงขึ้นไปอีก

ประเทศชาติมีปัญหาหนักหนาสาหัสในทุกมิติอยู่แล้ว

ท่าทีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ควรจะเป็นไปในทางสร้างความสิ้นหวังให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image