การเมืองเยาวชนร่วมสมัย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราในวันนี้ทำให้เราต้องเริ่มตั้งคำถามใหม่ๆ กับการเมืองของคนรุ่นใหม่ในวันนี้

ในบ้านเราสนใจเรื่องการเมืองของเยาวชนไม่ค่อยมาก งานวิจัยเรื่องเหล่านี้มีน้อย สนใจเต็มที่ในสองเรื่องคือ เรื่องของ “ขบวนการนักศึกษา” และเรื่อง “ประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา” โดยตั้งหลักที่เดือนตุลา 2516-2519 เป็นหมุดหมายในการวัดประเมินทุกเรื่องราวเสียเป็นส่วนมาก

มีส่วนของพฤษภาทมิฬอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก แม้ว่ายังมีผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้นำขบวนการนักศึกษา ต่างมีบทบาทนำในสังคมวันนี้ (แต่บรรดาคนที่เกี่ยวข้องที่เป็นนักศึกษาก็ไม่ค่อยได้ต้องอ้างความเป็นคนพฤษภามากนัก)

ในตอนนี้การเมืองเยาวชนในบ้านเราคงต้องตั้งหลักกันด้วยการแบ่งภาพหลวมๆ ออกเป็นกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย กิจกรรมของเด็กอาชีวะ และกิจกรรมของเด็กระดับมัธยม ในฐานะสามกลุ่มใหญ่ และในครั้งนี้ผมจะเขียนเรื่อง

Advertisement

ถ้ามองในแง่วิชาการและประสบการณ์ทั่วโลก การเมืองเยาวชน (youth politics) นั้นมีความหมายกว้างคือที่มักจะเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเรื่องราวที่กระทบต่อชีวิตของเยาวชน และมักจะเน้นไปที่ “นโยบาย” ของรัฐที่เกี่ยวกับเยาวชน เช่นพวกเกี่ยวกับค่าเล่าเรียน เรื่องการนันทนาการ

หรือรวมไปถึงเรื่องของการเชื่อมโยงของเยาวชนต่อกระบวนการและสถาบันการเมืองในระบบในฐานะที่เยาวชนเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทในฐานะผู้ลงคะแนนเสียง ไม่ว่าจะเยาวชนพรรค หรือสภาเยาวชน ซึ่งแม้จะเกี่ยวข้องกับเยาวชนในแง่นโยบาย แต่ก็ผลิตนักการเมืองเยาวชนขึ้นมา

นักการเมืองจำนวนไม่น้อยก็มักจะหาเสียงกับเยาวชนในแง่ของการมองเยาวชนเป็นฐานเสียงสำคัญ โดยพยายามชักชวนเยาวชนมาลงคะแนนให้กับพรรคตัวเอง ทั้งการมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน หรือการประดิษฐ์ถ้อยคำที่มุ่งเน้นให้เยาวชนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของหรือเป็นเจ้าภาพในเรื่องดังกล่าว เช่นคำว่า “ความหวัง”

Advertisement

มีไม่มากนักที่การเมืองเยาวชนนั้นยกระดับไปสู่เรื่องของขบวนการใหญ่ที่เยาวชนเป็นผู้นำและมีจุดประสงค์เพื่อท้าทายและเปลี่ยนระบอบอำนาจ อาทิ โค่นล้มรัฐบาล เปลี่ยนรูปแบบการปกครอง แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีเสียเลย ฮ่องกงอาจจะเป็นตัวอย่างร่วมสมัยที่น่าสนใจ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวอาจจะไม่ค่อยชัด แต่ก็สร้างแนวปะทะทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง และการเคลื่อนไหวที่ฮ่องกงนั้นสำคัญตรงที่เกิดการสร้างแนวร่วงมกับสังคมในวงกว้าง

แต่ท้ายที่สุดการประเมินความสำเร็จของการเมืองเยาวชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ควรประเมินแค่ว่านักศึกษาเปลี่ยนประเทศได้ บางทีการประเมินความสำเร็จของเยาวชนในบางบริบทอาจจะต้องมานั่งคิดกันใหม่ โดยเฉพาะในสังคมไทยนั้น สำหรับผมเองการประเมินบทบาทของเยาวชนนั้นอาจไม่ใช่เรื่องของการวัดที่ผลสุดท้าย/ท้ายสุดคือการโค่นล้มรัฐบาล หรือการลุกฮือของประชาชน

แต่อาจจะต้องวัดทั้งสามระดับคือ

1.นโยบายที่กระทบกับพวกเขาโดยตรง

2.การเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับชาติเช่น ไล่นายกฯ เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนโยบายประเทศ หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่

3.ความสำเร็จในการท้าทาย ล้มล้าง และสถาปนาประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ รวมทั้งล้มล้างข้อกล่าวหาที่ท้าทายและลดทอนความชอบธรรมของเยาวชน เช่น ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาที่จะออกมาเรียกร้อง แต่ควร “ทำหน้าที่” ให้ดี หรือถูกจูงจมูก มีคนหนุนหลัง หรือไม่มีความเข้าใจในความเป็นจริงทางการเมือง รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมาย และความใฝ่ฝันใหม่ๆ ของสังคม

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ มีอีกสองประเด็นที่ควรอภิปรายต่อ ที่อยากขอเฉพาะเจาะจงไปที่การเปลี่ยนแปลงของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาที่ดูจะมีผลสะเทือนมาก และเป็นที่จับตามองกันเป็นอย่างมากในรอบนี้ และเรื่องราวของการก่อรูปจิตสำนึกทางการเมืองของพวกเขา

1.จริงหรือไม่ที่การเมืองในระดับมัธยมนั้นวิ่งไล่ตามระดับมหาวิทยาลัยและมองมหาวิทยาลัยเป็นโมเดลหลัก? ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่ เพราะขบวนการนักศึกษาก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีลักษณะรวมศูนย์ที่เป็นทางการ คือเป็นการรวมศูนย์ของตัวแทนที่เป็นทางการของนักศึกษา อาทิ องค์การบริหารกิจกรรมนักศึกษาของแต่ละสถาบันที่ผู้บริหารยอมรับ มีงบประมาณ และผ่านกระบวนการเลือกตั้งในหมู่นักศึกษาเอง

ขบวนการนักศึกษาอย่างน้อยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การยึดอำนาจของ คสช. นั้นมีลักษณะเป็นกลุ่มกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่ยอมรับในหมู่ขบวนการเคลื่อนไหวฝั่งประชาธิปไตย และเป็นที่รู้จักของประชาชนในระดับกว้าง แม้ว่าอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยประเด็นต่างๆ และการเคลื่อนไหวของพวกเขาทั้งการชูสามนิ้ว การกินแซนด์วิช การอ่านหนังสือ 1984 ในพื้นที่สาธารณะ กิจกรรมของกลุ่มดาวดิน และการชุมนุมหน้าหอศิลป์ กทม. ในหลายรอบก็กินพื้นที่ข่าวมาโดยตลอด

การเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นที่รับรู้ในหมู่นักเรียนไม่ใช่น้อย แต่เราไม่ควรมองว่านักเรียนนั้นตั้งต้นในการมองไปที่นักศึกษา เพราะสถานการณ์ของโรงเรียน และระบบการศึกษาในวันนี้ก็มีปัญหาอยู่ในตัวเองไม่ใช่น้อย

การเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทยของบรรดานักเรียนมากกว่าหนึ่งที่และมีกิจกรรมที่ต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งปี เป็นส่วนหนึ่งที่ปลุกกระแสสำนึกของนักเรียนเองให้ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาของพวกเขาที่มีตั้งแต่เรื่องของปัญหาในระบบการศึกษาเอง และปัญหาในระบบการบริหารการศึกษาของแต่ละโรงเรียน

 

 

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขบวนการการเคลื่อนไหวในหมู่เยาวชนโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษานั้น ไม่ได้มีลักษณะการเลียนแบบมหาวิทยาลัย หรือรอการนำจากมหาวิทยาลัย หรือมองต้นแบบไปที่มหาวิทยาลัย แต่พวกเขาเคลื่อนไหวจากประเด็นที่ใกล้ตัวพวกเขา จากกลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไทย มาจนถึงกิจกรรมของกลุ่มนักเรียนเลว ที่รณรงค์เรื่องเครื่องแบบและทรงผม รวมทั้งการสร้างสรรค์กิจกรรมในโลกและภาษาของเขา อาทิ เพลงสันทนาการ (มีอิทธิพลของมหาวิทยาลัยบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องหลักเพราะเขานำมาแปลงเอง)

ประเด็นต่อมาที่ควรพิจารณาก็คือ นักเรียนในระดับมัธยมนั้นมีระดับความสนใจทางการเมืองเพิ่มขึ้น และพูดคุยทางการเมืองมากขึ้น ตามที่ทุกคนรับรู้ และแน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้ทุกสิ่งอย่างจากอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น

พูดง่ายๆ ก็คือ การแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนมัธยมนั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง เพราะส่วนสำคัญในพัฒนาการทางการเมืองของเยาวชนนั้นไม่ได้อยู่ที่การท้าทายและการกล้าแสดงออก

แต่รวมถึงการแสดงออกของการ “อยู่เป็น” มากขึ้นเรื่อยๆ (งานวิจัยระดับปริญญาโทของนิสิตของผมรายหนึ่งกำลังทำงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ แต่เป็นงานวิจัยปกปิด ไม่ขึ้นชั้นอีกหลายปี) นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถวัดค่าง่ายๆ ว่าการจุดติดคือการลงพื้นที่บนท้องถนน แต่เราอาจสามารถค้นพบจากยอดชมคลิป การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ออนไลน์ (engagement) และการพูดคุยในหมู่พวกเขาด้วย “รหัสภาษา” ใหม่ๆ

พูดง่ายๆ ก็คือในโลกของนักเรียนสมัยนี้การออกมาท้าทาย แสดงออกด้วยคำปราศรัยนั้นเป็นเพียงเรื่องเดียวในหลายๆ มิติของการเกี่ยวพันทางการเมือง ที่เราไม่สามารถวัดค่าได้ด้วยการสำรวจทัศนคติผ่านแบบสอบถามและการสังเกตเท่านั้น บางครั้งต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจจากพวกเขาที่จะเข้าไปอยู่ในชุมชนของพวกเขาด้วย

ในประการต่อมา การเคลื่อนไหวในหมู่เยาวชนระดับมัธยมในรอบนี้แม้ว่าจะไม่ได้ออกมาอย่างเป็นทางการ เช่น คณะกรรมการนักเรียน แต่ก็มีลักษณะของการเคลื่อนไหวในระดับสถาบัน คือมีกลุ่มของนักเรียนในโรงเรียนของตัวเองที่ทำกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมไม่ใช่น้อย เช่น เตรียมอุดม สตรีวิทยา ศึกษานารี หรือมีความพยายามในหลายพื้นที่แต่ถูกระงับไว้ ทั้งสวนกุหลาบ และสวนกุหลาบนนทบุรี และในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จัดกันเองในโรงเรียน หรือที่ร่วมกับกิจกรรมในระดับจังหวัดและเป็นดาวปราศรัย เช่น ที่มหาสารคาม

พูดอีกอย่างก็คือ การเคลื่อนไหวในระดับมัธยมเป็นการคืนชีวิตและสถานะของโรงเรียนมัธยมกลับมาสู่วงการการศึกษาและสังคม เดิมที่คนในรุ่นผมนั้นโรงเรียนมัธยมเป็นเพียงทางผ่านเพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย

ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมไม่ใช่โรงเรียนที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัยเสมอไป แต่ละโรงเรียนมีระบบการเรียนรู้ใหม่ๆ บางที่เตรียมเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก หรือโลกการเรียนรู้มากมายในระดับมัธยมทำให้เขาตั้งข้อสงสัยกับมหาวิทยาลัยเลย ไม่ใช่ต้องมารอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเข้าใจโลก

นั่นหมายความว่ากิจกรรมต่างๆ ในช่วงนั้นกระจายตัวโดยไม่ได้มีลักษณะองค์กรกลางรวมศูนย์ตัดสินใจ หรือกระจัดกระจายโดยรวมประเด็นกันไม่ได้ แต่ความเป็นอิสระของแต่ละพื้นที่เองไม่ได้ทำให้เกิดการเลียนแบบหรือรอขบวนจากกรุงเทพฯ แต่เกิดการสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นแทน และเป็นที่สนใจของกรุงเทพฯ เช่นกันว่าจะมีอะไรสนุกสนานเกิดขึ้นบ้าง หรือมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพอะไรที่พอจะช่วยกันเคลื่อนไหว

รูปแบบการตัดสินใจการเคลื่อนไหวทั้งในระดับจังหวัดและมัธยมก็มีลักษณะแนวระนาบ-แลกเปลี่ยนเครือข่าย มากกว่าการสั่งการและครอบงำจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เหมือนต่างเป็นเซลล์อิสระของกันและกัน

แน่นอนว่าเราไม่ควรละเลยเรื่องของอิทธิพลของพรรคอนาคตใหม่ ต่อความใฝ่ฝันของเด็กเหล่านี้ แต่เด็กมัธยมยังเลือกตั้งไม่ได้ แต่เราพบว่าพวกเขาอยากเลือกตั้งมากขึ้น และรู้สึกเจ็บปวดในระดับหนึ่งกับการที่อนาคตใหม่ถูกยุบพรรค เพราะส่วนหนึ่งนั้นพรรคอนาคตใหม่เคลื่อนไหวกับประเด็นที่เชื่อมโยงกับอนาคตของพวกเขามาตั้งแต่แรก และในสภาเองพรรคอนาคตใหม่ก็มีความโดดเด่นและชิงพื้นที่สื่อโดยเฉพาะสื่อใหม่ๆ แต่ถ้าเราจะมองว่าอนาคตใหม่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวในรอบนี้คงไม่ใช่ เพราะในประเด็นการเคลื่อนไหวไม่ได้มีการเคลื่อนไหวปกป้อง หรือเรียกร้องการกลับมาของอนาคตใหม่ หรือของให้ผู้นำอนาคตใหม่เดิมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

2.ในส่วนของการเรียนรู้ทางการเมืองของเยาวชนนั้น ในสมัยก่อนบรรดานักรัฐศาสตร์มักศึกษาเรื่องการกล่อมเกลาทางการเมือง (political socialization) ที่มักมองสถาบันทางสังคมที่หลากหลาย เช่น ครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อน และสื่อ แต่สมัยใหม่นี้แน่นอนว่าโลกอินเตอร์เน็ตนั้นมีความสำคัญยิ่ง แต่ในกรณีบ้านเราก็ไม่ควรมองข้ามว่า การที่พวกเขาเติบโตมาในสถานะทางสังคมอย่างหนึ่ง การที่พ่อแม่เขามีทั้งทัศนคติทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบหนึ่ง และการที่รัฐเขามาวุ่นวายกับชีวิตเขาในช่วงที่ผ่านมา 6 ปี เช่น คำขวัญ 12 ประการ หรือแม้กระทั่งความวุ่นวายจากการจัดการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตในช่วงโควิด ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโลกอินเตอร์เน็ตโดยตรง

ในส่วนของอินเตอร์เน็ต มีงานวิจัยในต่างประเทศที่น่าสนใจ อาทิ งานของ Joseph Kahne, Nam-Jin Lee, Jessica T. Feezell. The Civic and Political Significance of Online Participatory Cultures among Youth Transitions to Adulthood. Journal of Information Technology and Politics. 10:1-20, 2013. ที่ชี้ว่า การเมืองนั้นไม่ได้อยู่แต่ในเว็บการเมืองเท่านั้น แต่ยังแทรกอยู่ในเว็บต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ หรือแม้กระทั่งในกลุ่มเพื่อน (เช่น กลุ่มไลน์ กลุ่มข้อความอื่นๆ ถ้าจะตีความในวันนี้) นั่นก็คือ การเมืองนั้นมีแทรกอยู่ในเว็บทุกประเภท ซึ่งถ้านำมาคิดต่อในกรณีของบ้านเรานั้น กล่าวได้ว่าเด็กเยาวชนอาจไม่ได้สนใจอ่านข่าวยาวๆ หรือหนังสือในแบบเดิมเท่านั้น พวกเขาอาจจะศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่แทรกมากับกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ หรือจากศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ จากชมรมต่างๆ ที่มีเรื่องเหล่านี้แทรกมา หรือแม้กระทั่งในกลุ่มเพื่อนเอง หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ การเมืองในวันนี้มันแทรกไปทุกอณูในสังคมเสียแล้ว

งานวิจัยวันนี้ถ้าเอาเข้าจริงอาจจะเห็นอะไรมากกว่าวิธีการของนักวิชาการ เช่น การทำแบบสอบถาม เพราะเครื่องมือกวาดสัญญาณสังคม (social listening) สามารถค้นหาคำสำคัญต่างๆ ที่พูดถึงในสังคมในเวลานั้นๆ ได้อีกทางหนึ่ง

ดังนั้น การทำความเข้าใจการ/ความเคลื่อนไหวของเยาวชนในวันนี้โดยเฉพาะในระดับมัธยมยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ควรจะทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น ส่วนที่ผมพยายามอธิบายนั้นคงจะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของปรากฏการณ์/อุบัติการณ์เท่านั้นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image