สรุปภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของไทยจากผลกระทบของโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาของรัฐาล : โดย สมหมาย ภาษี

สรุปภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของไทยจากผลกระทบของโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาของรัฐาล

สรุปภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของไทยจากผลกระทบของโควิด-19
และการแก้ไขปัญหาของรัฐาล

เมื่อเดือนมกราคมปี 2563 นี้ ผมเคยนำความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั่วโลกก่อนที่โควิด-19 จะระบาดเสียอีกของนักลงทุนใหญ่ชาวอเมริกาคนหนึ่งมาเล่าให้ฟัง เขากล่าวว่า “ปี 2563 นี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นและคาดหวังได้ดีที่สุดคือ ภาวะถดถอยที่จะประดังเข้ามาในทุกๆ ด้าน เศรษฐกิจจะชะลอตัว แล้วเคลื่อนเข้าสู่ภาวะติดลบเหมือนคนที่ถูกรัดคอช้าๆ จนเข้าสู่ภาวะหายใจติดขัดในที่สุด”

ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 นั้น ประเทศไทยเราดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครได้รับรู้ว่าโคโรนาไวรัส หรือต่อมาได้ตั้งชื่อว่า โควิด-19 ได้เกิดขึ้นในโลกใบนี้และได้เริ่มระบาดแล้ว ช่วงนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรเพิ่งจะอนุมัติงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้ามานานร่วม 4 เดือน ออกมาใช้ และในช่วงเดียวกันนี้ก็มีการนำข้อเสนอของงบประมาณประจาปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่กำลังยื้อแปรญัตติในคณะกรรมาธิการงบประมาณกันอยู่ในเวลานี้ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563

หากดูถึงข้อสมมุติฐานในการคิดตั้งงบประมาณปี 2564 ดังกล่าวนี้ จะพบว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของ GDP ที่จะเติบโตในอัตรา 3.1-4.1% อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.7-1.7% รายได้แผ่นดินจะเก็บได้ 2.777 ล้านบาท หนี้สาธารณะจะอยู่ไม่เกิน 45% ของ GDP และการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 2.5% ซึ่งตัวเลขที่ใช้เป็นฐานของงบประมาณปี 2564 นี้ ล้วนแต่ทรุดจากหน้ามือเป็นหลังมือทุกตัว

Advertisement

ภาวะหายใจติดขัดของเศรษฐกิจไทย

เมื่อมาถึงวันนี้ในต้นเดือนสิงหาคม 2563 เหลืออีก 2 เดือน ก็จะสิ้นปีงบประมาณประจำปี 2563 แล้ว และงบประมาณประจำปี 2564 ก็จะผ่านสภาออกมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้แล้ว บัดนี้ใครๆ ก็ได้รู้เห็นชัดแล้วว่าจากพิษร้ายของโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกในช่วง 7 เดือน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้นได้ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเหมือนคนที่ถูกรัดคอช้าๆ จนเข้าสู่ภาวะหายใจติดขัดได้เกิดขึ้นจริงแล้ว รัฐบาลไทยเราได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศและประชาชนคนไทยที่อยู่ในภาวะหายใจติดขัดได้ทันการณ์ ถูกต้อง และเพียงพอหรือยัง

ตอนนี้ดูตัวเลขทางเศรษฐกิจหลักๆ เพียงไม่กี่ตัว ก็จะเห็นชัดว่าถ้าเป็นคนก็ต้องเข็นเข้าห้องไอซียูกันแล้วละครับ เมื่อเดือนที่แล้วก็มีการคาดการณ์ของหลายสำนักที่ได้เปิดเผยตัวเลขการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า จะเข้าสู่ตัวเลขสองหลักแล้ว คือไม่น่าจะน้อยกว่า -10% และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ก็ได้มีการแถลงข่าวอาการของการส่งออกอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพาณิชย์ สรุปได้ว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การส่งออกถดถอยเป็นอัตรา -23.17% ซึ่งมากกว่าเดือนพฤษภาคมที่ถดถอย -22.50% และได้ประมาณการทั้งปีว่าการส่งออกของไทยจะตกต่ำถึง -9% นี่เป็นประมาณการในตอนนี้ ส่วนปลายปีจะต่ำกว่านี้สักแค่ไหน เข้าใจว่าข้าราชการกระทรวงพาณิชย์คงปล่อยให้ท่านเสนาบดีที่ถนัดการทำโรดโชว์คิดเอาเองมากกว่า

Advertisement

ส่วนตัวเลขด้านการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญเกือบครึ่งของการส่งออกนั้น ยังไม่มีผู้รับผิดชอบกล้าพอที่จะคาดการณ์ชัดๆ เหมือนกระทรวงพาณิชย์ มีแต่เสียงอ้อมแอ้มมาจากสถาบันที่ไม่ได้ดูแลการท่องเที่ยวพูดว่า ปีนี้คาดการณ์ได้เลยว่านักท่องเที่ยวจะเข้าประเทศไทยไม่น่าจะเกิน 8-9 ล้านคน จากที่เคยเข้ามาถึงเกือบ 40 ล้านคน เมื่อปี 2562 เห็นตัวเลขสำคัญที่เป็นตัวชี้การเต้นของชีพจรของประเทศเช่นนี้ ถ้าเป็นคนที่มีฐานะดีหน่อยก็คงต้องเชิญทั้งทายาทและญาติที่สนิทชิดเชื้อมาอยู่รอบเตียงกันพร้อมหน้าแล้ว

การดูแลแก้ปัญหาของทางการที่ผ่านมาก่อนปรับ ครม. เดือนสิงหาคม

รัฐบาลท่านนายกฯประยุทธ์ที่มีรองนายกฯสมคิดเป็นผู้กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ ได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่เกิดจากสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐกับจีนซึ่งมีการโต้ตอบกันอย่างถึงพริกถึงขิงนับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศปรับขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีน 10% มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นมา และในช่วงไม่กี่วันต่อมาทางฝ่ายจีนก็ได้ตอบโต้ทันควันด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐทั้งหมด

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 รัฐบาลท่านนายกฯประยุทธ์ที่เข้ามาด้วยการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งได้เจอกับภาวะการส่งออกที่หดตัวตลอดมาตั้งแต่ต้นปีถึง 6 เดือน ก็ได้ออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ชุด โดยชุดแรกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 50,000 ล้านบาท ชุดที่สองเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ มีการแจกเงินให้คนไปท่องเที่ยว เข้าใจว่าใช้เงินงบกลางไปในเรื่องนี้ประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท

มาตรการชุดที่สาม คือการจัดแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย เพื่อให้แก่กิจการ SMEs ทั้งในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อขยายกิจการ และการซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทนเครื่องจักรเก่า และสนับสนุนประชาชนให้ซื้อบ้านราคาถูก

มาตรการชุดที่สี่ คือการเพิ่มสวัสดิการคนจน ซึ่งในตอนนั้นมีคนจนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านราย จากประชากรทั้งประเทศ 66.56 ล้านคน ในชุดนี้ยังมีการเพิ่มวงเงินให้ผู้สูงอายุอีก 500 บาทต่อเดือน และค่าเลี้ยงดูบุตรอีก 300 บาทต่อเดือน โดยเพิ่มให้ในช่วง 2 เดือนเท่านั้น

มาตรการทั้ง 4 ชุดนี้ ดูไปแล้วก็ไม่มีอะไรใหม่เป็นการเอาของเก่ามาใช้แทบทั้งนั้น จะมีมาตรการที่ออกตามมาในช่วงปลายปี 2562 ที่ดูว่าใหม่หน่อยคือมาตรการชิม ช้อป ใช้ ซึ่งได้เพิ่มสีสันทางเศรษฐกิจที่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ให้ดูกระชุ่มกระชวยขึ้นมาบ้าง ก็แค่นั้นเอง

มาตรการใหญ่เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยเฉพาะ

แม้ว่าจะมีการทุ่มเททรัพยากรที่ยังไม่มีการจัดการที่ดี เพราะงบประมาณประจำปี 2563 ที่เริ่มปีงบประมาณตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ยังไม่สามารถสรุปให้เดินหน้าได้ ต้องค้างเติ่งจนถึงเดือนมกราคม 2563 ด้วยเป็นผลจากการปฏิบัติการแบบศรีธนญชัยที่ไม่อายประเทศอื่นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบางคนในช่วงต้นของการเปิดสภาเพื่อพิจารณางบประมาณปี 2563 ประเทศชาติก็เดินหน้าไม่ได้ ประกอบกับสงครามการค้าโลกได้ส่งผลกระเทือนไปทั่ว ทำให้ประเทศต่างๆ ประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวไปทั่วโลก ส่วนด้านการเมืองของไทย บรรดาพรรคการเมืองและลูกพรรคที่เพิ่งจะได้มีโอกาสสูดดมกลิ่นไอของการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ต่างก็พยายามวาดลวดลายเหมือนแข่งลีลาศบนฟลอร์ใหญ่ ก็ยิ่งเสริมความน่าอดสูให้แก่ประเทศชาติมากยิ่งขึ้น

จนกระทั่งการแพร่ระบาดชัดของโควิด-19 ได้ปรากฏตัวให้เห็นชัดเจนในเดือนมกราคม 2563 เดือนแรกของปีแห่งความรันทดของทั้งธุรกิจใหญ่น้อยและของประชาชนทั้งรวยและจนทั้งประเทศ ความหายนะที่เห็นดำทะมึนนี้ ได้กระตุ้นให้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของไทยที่มีอยู่แล้ว เป็นภาวะที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

วันที่ 7 เมษายน 2563 เป็นวันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบชุดเต็มของมาตรการด้านการเงินการคลังมาแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 โดยได้กำหนดวงเงินไว้เพื่อการนี้จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 11.3% ของ GDP ปี 2562 ซึ่งเป็นวงเงินที่ใกล้เคียงกับประเทศในระดับเดียวกัน ถือว่าไม่มากไม่น้อยเมื่อดูตามสภาพของประเทศไทย แต่ถ้ามองถึงจังหวะที่รัฐบาลได้นำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ออกมาในช่วงนี้ กล่าวได้ว่าออกมาช้าหน่อย เพราะการที่โควิด-19 ได้สำแดงเดชให้เห็นเมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 แล้วเพิ่งมาออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในต้นเดือนเมษายน ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ได้แพร่และระบาดไปทั่วๆ แทบทุกจังหวัดแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าโรงแรมและสถานที่พักต่างๆ ได้หยุดดำเนินกิจการไปก่อนหน้าที่จะมีการนำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอ ครม.เสียอีก ถือได้ว่าการเข้าไปแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามของรัฐบาลไทยมักจะช้าไม่ทันการทุกเรื่อง โดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวได้แบ่งเป็น 2 ชุด

ชุดแรก คือแผนด้านการคลัง โดยรัฐบาลได้เสนอแผนกู้เงินพิเศษโดยการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 1.0 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้นำมาใช้จ่ายแบบให้เปล่าหมด โดยก้อนแรกจำนวน 600,000 ล้านบาท บวกกับเงินที่ต้องไปตัดทอนจากงบประมาณปี 2563 มาเสริมด้วยถูกจัดให้เป็นค่าใช้จ่ายเยียวยาคนยากคนจนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งมวล เข้าใจว่าคนจนที่ได้รับแจกเงินจำนวนนี้คนละ 5,000 บาท 3 เดือน ได้รับแจกกันไปแล้วถึงประมาณ 25 ล้านคน

อีกส่วนหนึ่งจำนวน 400,000 ล้านบาท รัฐบาลได้จัดไว้เพื่อไปใช้กับโครงการในระดับภูมิภาคต่างๆ เพื่อเพิ่มการมีงานทำ และเพื่อกระตุ้นการพัฒนาพื้นฐานในระดับพื้นที่ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน จนถึงขณะนี้ได้ทราบว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปคัดกรองโครงการที่เสนอมาจากหน่วยงานต่างๆ ได้ทำการคัดกรองโครงการชุดแรกไปแล้วโดยจะใช้เงินประมาณ 343,838 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอ ครม.อนุมัติไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ได้มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วแค่ 123,087 ล้านบาท

ชุดที่สอง คือแผนด้านการเงิน มีกรอบวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดไว้รองรับทั้งหมด 900,000 ล้านบาท การกระตุ้นชุดนี้ไม่ถือเป็นเงินกู้เหมือนชุดแรก แต่เป็นการจัดเงินช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยการจัดการจากสภาพคล่องของ ธปท. ในรูป Soft Loan ดอกเบี้ยเพียง 2% ผ่านสถาบันการเงินไปให้ SMEs เมื่อถึงเวลาสองปีตามกำหนดสถาบันการเงินก็ต้องเอาเงินคืน ธปท. โดยวงเงินในเรื่องนี้ได้จัดไว้ 500,000 ล้านบาท ได้ทราบว่าสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 นี้ ได้ใช้วงเงินก้อนนี้ไปช่วย SMEs แล้วประมาณ 99,000 ล้านบาท หรือหนึ่งในสี่ของวงเงินที่จัดเตรียมไว้ให้ แน่นอนที่สุดว่าสถาบันการเงินหรือธนาคารผู้ให้กู้จะต้องใช้ความรอบคอบมาก เพราะเขาต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าเอง โอกาสและความตั้งใจของ ธปท.ที่จะช่วย SMEs จึงฝืด

ส่วนวงเงินอีกก้อนที่ ธปท.จัดให้จำนวน 400,000 ล้านบาท เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ลงทุนผ่านกองทุน BSF หรือ Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund เป็นการให้แบบ Bridge Financing ชั่วคราว เมื่อครบกำหนดก็เอาเงินกลับมาคืน ธปท.เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ปรากฏว่าตลาดตราสารหนี้ของไทยยังไม่มีภาวะวิกฤตเกิดขึ้นแต่อย่างใด ความต้องการขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้จาก ธปท. จึงยังไม่มีปรากฏ ก็น่าที่ ธปท.ควรโยกเงินก้อนนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือจัดเงินเพิ่มเพื่อไปช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ ธปท.ได้กำหนดเป็นเกณฑ์ให้สถาบันการเงินของเอกชนร่วมกันช่วยลดความเดือดร้อนของกิจการ SMEs ที่ประสบภาวะเดือดร้อน โดยให้มีการยืดเวลาการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน เป็นต้น และทั้งได้ช่วยสนับสนุนให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นที่ค้ำประกันโดย บสย. เป็นต้น

หนทางที่ความสุขจะกลับมายังอีกนาน

สรุปแล้วรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินตามมาตรการช่วยเหลือพิเศษแก่ประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้พอควร แต่ดูเหมือนว่าปัญหาของวิกฤตยังมีให้เห็นอยู่อีกมาก และมีท่าทีว่าปัญหาบางอย่างอาจจะบานปลาย เช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ได้พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหาดังกล่าวที่สำคัญได้แก่ ปัญหาคนจนที่ยังคงสภาพไม่สามารถโงหัวขึ้นได้ หนี้ครัวเรือนยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาการทรุดตัวของธุรกิจทั้งใหญ่และ SMEs ที่มีแต่จะต้องลดกำลังการผลิต หรือต้องประกาศหยุดกิจการ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบทันทีต่อการเพิ่มคนว่างงาน ส่วนคนที่เรียนจบทั้งระดับปริญญาและต่ำกว่าต้องว่างงานอยู่แล้ว ส่วนด้านการส่งออกเป็นที่คาดหมายว่าปัญหาการตกต่ำจะลากยาวไปอีกนาน ยิ่งกว่านั้นการหมดสภาพของธุรกิจการท่องเที่ยวจะยังไม่มีทางแก้ไขให้ได้ผลในระยะที่เหลือของปีนี้และปีหน้าได้ง่าย ความคาดหวังของทุกประเทศที่จะหาวัคซีนที่เชื่อถือได้มาป้องกันโควิด-19 ให้ได้อย่างจริงจังก็ยังอยู่ห่างไกลทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หนทางแก้ไขที่จะเอาให้อยู่นั้นต้องมี แต่ก็ต้องมีการจัดการโดยรัฐบาลที่อยู่อย่างมั่นคงทางการเมืองด้วย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ได้ตั้งความคาดหวังไว้กับผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลไว้มาก ก็จะนำความเห็นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมาแชร์กันในโอกาสหน้าครับ

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image