คอลัมน์หน้า 3 : แคลงคลาง กังขา ต่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี รัฐธรรมนูญ

คอลัมน์หน้า 3 : แคลงคลาง กังขา ต่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี รัฐธรรมนูญ

แคลงคลาง กังขา
ต่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กรณี รัฐธรรมนูญ

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงการขานรับในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอ 1 ใน 3 ข้อจาก “เยาวชนปลดแอก”

เหตุใดสังคมจึงยังไม่วางใจ ให้ความเชื่อถือ

รูปธรรมง่ายๆ ก็คือ แม้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะได้รับการเชิญไปให้การยืนยันเรื่องนี้พร้อมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในทำเนียบรัฐบาล

Advertisement

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีการแต่งตั้ง “กรรมการพิเศษ” ขึ้น

ประกอบด้วยผู้อาวุโสระดับ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ คอยติดตามเรื่องนี้พร้อมกับ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ

หากเชื่อมั่นจะต้องมี “กรรมการ” ไปทำไม

หากเชื่อมั่นบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่ออกมาเคลื่อนไหว หากเชื่อมั่นบางส่วนของพรรคภูมิใจไทยก็คงไม่ออกมาเคลื่อนไหว

เคลื่อนไหวทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สังคมมีเหตุผลอย่างเพียงพอที่จะไม่ให้ความเชื่อมั่นหรือวางใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะขานรับต่อข้อเสนอของ “เยาวชนปลดแอก” อย่างจริงใจ

1 เพราะรัฐธรรมนูญนี้เป็นผลผลิตของ “คสช.”

บทสรุปที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” นับว่าถูกต้องอย่างถึงที่สุดและสิ้นเชิง

เป็นไปตามยุทธศาสตร์ “สืบทอดอำนาจ”

1 นับแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศและบังคับใช้มีความพยายามใช้ทุกกลไกเพื่อบรรลุตามยุทธศาสตร์อย่างครบถ้วน

ไม่ว่าเพื่อการครองอำนาจ ไม่ว่าเพื่อกำจัดฝ่ายตรงกันข้าม

เห็นได้จากกรณีบัตรเขย่ง เห็นได้จากการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เห็นได้จากการสกัดขัดขวาง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และการยุบพรรคอนาคตใหม่

จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะคิดแก้ไข

ยิ่งความไม่พอใจต่อรัฐธรรมนูญนับแต่ประกาศและบังคับใช้เป็นความไม่พอใจที่ดำเนินไปในลักษณะทางสังคม ยกเว้นแต่เพียง คสช.และพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งทำให้เห็นความเป็นไปไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่เคยแสดงความเห็นด้วยกับการปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ที่ยินยอมเขียนเป็น “นโยบาย” ก็มีเป้าหมาย

นั่นก็คือ เป้าหมายในการดึง 52 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2562

เพื่อสร้างความชอบธรรมในทางการเมืองเท่านั้น

จากนั้นก็เรื่อยๆ มาเรียงๆ ตีกรรเชียงมาโดยตลอดแม้เมื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาแล้ว ต่อเมื่อมีเสียงเรียกร้องจาก “เยาวชนปลดแอก” เท่านั้นที่เริ่มขยับ

จึงสร้างความสงสัยว่าขยับจริงหรือว่าเสแสร้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจคิดว่าสถานการณ์ของตนเป็นเหมือนเมื่อหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ที่แม้จะเตะถ่วงอย่างไรก็ไม่มีปัญหา

อย่าลืมว่านี่เป็นสถานการณ์เดือนสิงหาคม 2563

เป็นสถานการณ์ที่ผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มาแล้ว เป็นสถานการณ์ที่มีการชุมนุมเมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม มาแล้ว

ฤดูกาลได้เปลี่ยนไปแล้ว การเมืองก็ย่อมจะเปลี่ยนไปตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image