สถานีคิดเลขที่ 12 : คลื่นใต้น้ำ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : คลื่นใต้น้ำ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : คลื่นใต้น้ำ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่มีการปรับเปลี่ยน 7 ตำแหน่ง ได้รับโปรดเกล้าฯเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าหากนับวันเวลาตั้งแต่ทีมของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรี 4 กุมาร ยื่นใบลาออกเก็บข้าวของกลับบ้าน

ถือว่าทิ้งช่วงเวลาค่อนข้างนานทีเดียว ทั้งที่เป็นการยกแผงลาออกของทีมงานฝ่ายเศรษฐกิจ แถมเราอยู่ในช่วงวิกฤตด้านธุรกิจการค้าขาย รายได้ และปากท้องชาวบ้าน ซึ่งไม่ควรเว้นว่างนานขนาดนี้เลย

ส่วนรายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็ไม่มีอะไรผิดคาดไปจากข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้

Advertisement

เพียงแต่เมื่อประกาศเป็นทางการ ก็คือ การยืนยันว่าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่แกนนำหลักในพรรคพลังประชารัฐหมายปองนั้น เป็นอันว่าผิดหวัง

สรุปเป็นโควต้าคนนอก ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนกราน

โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นักบริหารมืออาชีพด้านนี้ นั่งทั้งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และควบรัฐมนตรีพลังงานด้วย

Advertisement

ขณะที่คนนอกอีกราย นายธนาคารคนดัง นายปรีดี ดาวฉาย ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

2 ชื่อนี้ถือเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่นักการเมือง จะถูกอกถูกใจชาวบ้านขนาดไหน คอยฟังปฏิกิริยากันต่อไป

ทางด้านแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ร่วมลงแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ครม.

ลงเอยจะพึงพอใจกันขนาดไหน

เมื่อ นายอนุชา นาคาศัย ที่ผงาดขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค ได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทนที่จะได้ระดับรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ดังที่มีวางๆ กันเอาไว้ก่อนหน้านี้

โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งที่กระทรวงนี้ ไม่เคยมีรัฐมนตรีช่วยมาแบ่งงานแบ่งอำนาจมาก่อน

โดยนับจากผ่าตัดโครงสร้างกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม แยกมาเป็นกระทรวงแรงงาน ก็มีเพียงรัฐมนตรีว่าการเดี่ยวๆ มาตลอด

คำถามก็คือ คลื่นที่ก่อตัวส่อเค้าปั่นป่วนก่อนหน้านี้ ในช่วงต่อรองจัดเก้าอี้

มีความต้องการถึงขั้นให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ไปนั่งว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อเตรียมรับเลือกตั้งท้องถิ่น

จะให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมไปนั่งรัฐมนตรีพลังงาน แล้วมีรัฐมนตรีอุตสาหกรรมใหม่มาแทน

สุดท้ายก็ได้มาเพียงที่เห็น

คลื่นที่เหมือนสงบลงไปแล้วนั้น เป็นเพียงความสงบภายนอก แต่ไปก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำ คุกรุ่นอยู่ภายในหรือไม่ น่าคิดมากๆ

เคยมีข้อสงสัยกันว่า เหตุการณ์สภาล่มในบางครั้งบางหนที่เคยเกิดขึ้น เป็นการส่งสัญญาณเตือนจากฝ่ายพรรค ถึงผู้นำฝ่ายบริหารหรือไม่

โดยล่มเพราะการขาดหายไปของสมาชิกพรรครัฐบาลเอง

จากนี้ไปจึงต้องจับตาสภาล่มจะมีอีกไหม

แต่ก็นั่นแหละ กรณีที่จู่ๆ มีการรื้อคดี 12 ปีก่อนขึ้นมา จนเรียกกันว่าเป็นคดีจี้เมียแกนนำเป็นตัวประกัน ไปจนถึงแกนนำอีกรายก็มีคดีจี้จ่อคออยู่ด้วย

ก็อาจเป็นวิธีการตอบโต้เพื่อต่อรองอีกอย่าง

ส่วนหนึ่งคลื่นใต้น้ำก็น่าจับตา

แต่เหนือกว่าอื่นใด เห็นๆ กันอยู่ว่ามีสึนามิเศรษฐกิจรออยู่เบื้องหน้า ได้ ครม.ใหม่แล้วจะกู้ความอดอยากหิวโหยของประชาชนได้หรือไม่

อันนี้ยิ่งกว่าคลื่นใต้น้ำเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image