รวมไทยสร้างชาติ ความท้าทาย โอกาส ความหวัง : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

รวมไทยสร้างชาติ ความท้าทาย โอกาส ความหวัง : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

รวมไทยสร้างชาติ
ความท้าทาย โอกาส ความหวัง

หากมีการศึกษาและติดตามปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยในห้วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะพบว่ามิติแห่งการเปลี่ยนแปลงตลอดจนการแข่งขันเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและมิติดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาที่ดูเหมือนว่าในบางประเด็นยากที่จะได้รับการแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น

ความเป็นไทยที่พร้อมไปด้วยภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญในการที่จะนำไปสู่การสืบสานและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างปกติภายใต้ความรัก ความสามัคคี และวิถีแห่งกัลยาณมิตรกลับคลายมนต์ขลังของความเป็นไทยไปพอสมควร

และหากมองในมิติของการเมืองจะพบว่ากลับเป็นปรากฏการณ์ที่ชักใยหรือนำไปสู่การแตกแยกทั้งในด้านของรูปแบบกระบวนการทางความคิดภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ขาดๆ เกินๆ ผสมผสานกับการเข้ามาของอำนาจแห่งการรัฐประหาร สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมของสีเสื้อและกลุ่มพวก

Advertisement

จากความอ่อนล้าทางการเมืองไทยในบริบทของความแตกต่างและแตกแยกผู้นำประเทศในหลายยุคจึงกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการประเทศภายใต้มิติของ “การสร้างความปรองดอง” เพื่อนำประเทศให้ก้าวผ่านหลุมดำหรือมะเร็งร้ายที่เกาะเกี่ยวสังคมมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาผู้นำประเทศทุกท่านจะตระหนักและให้ความสำคัญต่อการสร้างการรู้รักสามัคคีให้คนในชาติภายใต้คณะกรรมการที่เข้าไปสร้างรูปแบบและกระบวนการ แต่จากกระแสของความร้อนแรงที่ผู้คนในสังคมบางกลุ่มบางพวกยังไม่ค่อยจะยอมรับและเห็นว่ายังไม่เป็นไปตามมิติแห่งสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตลอดจนความต่อเนื่องในการดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความหวังและโอกาสที่สังคมใฝ่หา คำว่า “ความปรองดอง” จึงดูเหมือนว่ายังห่างไกลจากโอกาสและความหวังที่ควรจะเป็น

วันนี้ผู้นำประเทศภายใต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงเป็นอีกหนึ่งผู้นำที่มีความตระหนักและมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความปรองดองให้คนในชาติภายใต้มิติของ “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งจากมิติดังกล่าวหากพิจารณาด้วยศาสตร์และศิลป์ในโลกแห่งปัจจุบันกระบวนการหรือแนวทางรวมไทยสร้างชาติจึงเป็นโจทย์หรือการบ้านที่ท้าทายสำหรับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเป็นอย่างมาก ที่สำคัญยังไม่สามารถจะคาดเดาได้ว่าโอกาสและความหวังจะบรรลุตามเป้าประสงค์หรือไม่ อย่างไร

Advertisement

ต่อกรณีนี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กล่าวถึงแนวคิดรวมไทยสร้างชาติในยุค New Normal ความตอนหนึ่งว่า “ต้องเอาไปขับเคลื่อนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรต่อไปโดยให้หลักการในเรื่องนี้เพื่อปรับแผนปฏิบัติการทั้งหมดซึ่งจะใส่แนวคิดรวมไทยสร้างชาติหรือ New Normal เข้าไปในยุทธศาสตร์ชาติที่มีอยู่ 6 ด้าน นั่นคือพื้นฐานของประเทศขอทุกคนเข้าใจและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผนดังกล่าวพร้อมทั้งจะมีระบบให้ประชาชนปรับปรุงติดตามความก้าวหน้าด้วย”

พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้อย่าสร้างความขัดแย้งในเรื่องที่ไม่ควร อย่ามีการละเมิดสถาบัน และละเมิดกฎหมายเพราะกฎหมายทำให้สังคมสงบสุข ถ้าไม่ไปยุ่งก็ไม่มีใครถูกลงโทษ รัฐบาลไม่ต้องการลงโทษใครโดยเฉพาะผมเองถ้าไม่ผิดกฎหมาย ผมจะไปหาเรื่องทำไม ก็ประชาชนคนไทยด้วยกัน แต่ถ้าเขาหาเรื่องกับกฎหมายก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไรเหมือนกัน” (ไทยโพสต์ออนไลน์ 23 มิถุนายน 2563)

และการที่ผู้นำประเทศมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองภายใต้มิติของการรวมไทยสร้างชาตินั้น ด้วยความสำคัญและเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเดินหน้านำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คนไทยทุกภาคส่วนจึงเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนและเดินหน้าไปด้วยกัน

วันนี้และอนาคตของการรวมไทยสร้างชาติในบ้านเราจะเป็นจริงหรือไม่ บางครั้งผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปนำรูปแบบและกระบวนการสู่การปฏิบัติก็คงต้องศึกษากรณีตัวอย่างอันเนื่องมาจากบริบทที่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกทางสังคมรวมทั้งมิติของความเป็นมา ความเป็นอยู่ ตลอดจนความเป็นไปของสังคมให้ถ่องแท้ ประกอบกับประเด็นนี้หากมองในแง่ของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่จะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ท่าทีของการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่จะส่งผลให้เกิดความรักสมัครสมานของคนในชาติ

ซึ่งสาระสำคัญของประเด็นนี้พระไพศาล วิสาโล ได้เคยกล่าวเป็นคติธรรมที่น่าสนใจครั้งหนึ่งความว่า “ในเรื่องความขัดแย้งทางสังคมหรือความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนนั้น ท่าทีของพุทธศาสนาก็คือไม่ควรนิ่งดูดายหรือวางเฉยปล่อยให้เขารับกรรมกันไปเอง ควรเข้าไปจัดการแก้ไขให้กลับคืนดี การช่วยเหลือและส่งเสริมให้คนคืนดีกันเป็นการกระทำที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญดังพุทธพจน์ว่า เมื่อคนเหล่าอื่นขัดแย้งกันอยู่ผู้ใดพยายามประสานให้พวกเขาคืนดีกัน ผู้นั้นเชื่อว่าเป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นผู้จัดธุระที่ยอดเยี่ยม”

เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อกล่าวถึงความท้าทาย โอกาส และความหวังสำหรับการสร้างความปรองดองภายใต้มิติรวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะด้านการเมืองนั้น ถือได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องคงต้องหากลยุทธ์และใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการที่จะสอดคล้องกับบริบทแห่งความเป็นจริงของสังคมไทยที่หลากหลาย

ประกอบกับในระยะนี้มีการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในหลายพื้นที่เพื่อกดดันและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาทางการเมือง อาทิ การยุบสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญปีพุทธศักราช 2560 และให้นายกรัฐมนตรีลาออก เป็นต้น ประเด็นการเรียกร้องดังกล่าวในบางเรื่องมีเหตุมีผลสามารถดำเนินการได้บ้าง แต่ในบางประเด็นคงจะต้องรอท่าทีว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ และที่น่าสนใจไม่ทราบว่าการกระชับวงล้อมทางความคิดหรือการเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยครั้งนี้ จะได้รับการตอบสนองมากน้อยแค่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้นหากมองในมิติทางการเมืองการจุดพลุเพื่อออกมาประท้วงครั้งนี้จะเป็นช่องทางให้วงจรที่สังคมไม่พึงปรารถนาจะกลับมาเยือนอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงวงจรที่การเมืองไทยจะต้องนำไปสู่การใช้กำลังของทหารให้ออกมาควบคุมสถานการณ์ ประเด็นนี้หากทิศทางการเคลื่อนไหวของเหล่าบรรดานิสิต นักศึกษายังเป็นไปตามปกติไม่ส่อไปในทางที่หมิ่นเหม่จนสังคมรับไม่ได้คาดสถานการณ์เช่นนั้นคงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

จากการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสีเสื้อของนักเรียน นิสิต นักศึกษาครั้งนี้ที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างสถานการณ์ให้เชื่อมโยงไปสู่ความรุนแรงหรือยั่วยุให้กองทัพออกมานั้นประเด็นนี้คงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากองทัพยังอยู่ในที่ตั้งซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่กล่าวความตอนหนึ่งว่า “ในส่วนของกองทัพได้แต่เฝ้ามองติดตามแต่ไม่คุกคามรวมถึงรัฐบาลและ พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยมีคำสั่งเพียงแต่ให้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุมให้เกิดความเรียบร้อย และประสานงานกับตำรวจแม้แต่จะเดินทางมาชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการทหารบกก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรและไม่ติดใจอะไร” (มติชนออนไลน์ 25 กรกฎาคม 2563)

วันนี้ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมวิถีใหม่ก็ตาม แต่หากส่องเข้าไปในปรากฏการณ์ทางการเมืองบ้านเราจะเห็นได้ว่ากระบวนการรูปแบบและวิธีคิดของกลุ่มคน (บางกลุ่ม) ที่เดินเข้าสู่วงจรการเมือง ไม่ว่าจะระดับชาติหรือท้องถิ่น ยังไม่มีการพัฒนาหรือเข้าสู่การปฏิรูปดังที่สังคมคาดหวัง โอกาสที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองหรือมิติของการรวมไทยสร้างชาติดูเหมือนว่ายังเป็นโอกาสและความหวังที่ริบหรี่ หรือเปรียบเสมือนเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

การขับเคลื่อนให้สังคมไทยเดินหน้าเข้าสู่โหมดของความปรองดองที่จะเชื่อมโยงไปสู่การรวมไทยสร้างชาตินั้น ก่อนหน้านี้หากย้อนกลับไปในปี 2555 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าในฐานะที่เป็นสถาบันทางวิชาการที่มุ่งเน้นเผยแพร่และพัฒนาประชาธิปไตยทำการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหา “ปัจจัยและแนวทางที่ทำให้การสร้างความปรองดองแห่งชาติประสบความสำเร็จ”

สาระสำคัญของงานวิจัยดังกล่าวได้พยายามชี้ให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งว่ามิใช่เป็นเพียงเรื่องของผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องของการให้คุณค่าและความเชื่อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ และยังไม่ตกผลึกทางความคิด จึงได้นำเสนอทางออกที่มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ มิได้มุ่งเน้นเพียงการแก้ไขข้อขัดแย้งในเรื่องปรากฏการณ์การสูญเสียชีวิตร่างกายทรัพย์สินเท่านั้น แต่ได้นำเสนอการปฏิรูปในระยะยาวเพื่อให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกัน เพื่อให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างที่หลากหลาย เคารพในคุณค่าของกันและกันภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์เรามีความแตกต่างขัดแย้งกันได้แต่ไม่ควรที่จะแตกแยกและใช้ความรุนแรงต่อกัน และสถาปนาสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมในเชิงโครงสร้างให้เกิดขึ้นได้ในทุกระดับ (สถาบันพระปกเกล้า มีนาคม 2555)

เหนือสิ่งอื่นใด การรวมไทยสร้างชาติจะประสบความสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้นั้นหัวใจที่สำคัญที่สุด ณ เวลาคือการที่คนไทยทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญด้วยการน้อมนำคำสอนของล้นเกล้าฯในหลวง รัชกาลที่ 9 ภายใต้ “ความพอเพียง และรู้รักสามัคคี” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าความท้าทาย โอกาสและความหวังที่สังคมไทยจะเปี่ยมไปด้วยสุขสงบก็ย่อมจะมาเยือนในเร็ววัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image