คอลัมน์หน้า 3 : บาทก้าว การเมือง การแก้ไข ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นวาระ แห่งชาติ

คอลัมน์หน้า 3 : บาทก้าว การเมือง การแก้ไข ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นวาระ แห่งชาติ

บาทก้าว การเมือง
การแก้ไข ‘รัฐธรรมนูญ’
เป็นวาระ แห่งชาติ

พลันที่พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงเรื่องจะยื่นร่าง พ.ร.บ.ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

กระบวนการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ก็ก้าวไปอีกก้าวใหญ่

ความหมายหมายความว่า ข้อเรียกร้องในลักษณะในทางนามธรรมอันก้องกังวานมาจาก “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisement

ร่าง พ.ร.บ.นี้จะเป็นแรงกระแทกในทางการเมือง

ส่งผลให้กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังเสียงนิสิตนักศึกษา

หมดบทบาทลงไปโดยพื้นฐาน

Advertisement

แรงกระแทกอย่างสำคัญและทรงความหมายยิ่งก็คือ เท่ากับเป็นการเร่งรัดให้รัฐบาลและโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแสดงท่าที

จะเตะถ่วง และซื้อเวลาไม่ได้อีกแล้ว

หากประเมินจากท่าทีและการแสดงออกของรัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่มีข้อเสนอของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เป็นต้นมา

เหมือนกับไม่ให้ความสนใจ ไม่ให้ความสำคัญ

ไม่เพียงแต่ลูกแหล่งตีนมือของรัฐบาลจะออกมาหมิ่นหยามผ่านคำพูดที่ว่า “ม็อบมุ้งมิ้ง” หรือ “ม็อบฟันน้ำนม” หรือแม้กระทั่ง “ม็อบวูบวาบ”

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เล่นบท

บทหนึ่ง เหมือนกับจะยอมรับฟัง เห็นได้จากการผลักดันผ่านสภาพัฒน์ในเรื่องจัดเวทีเพื่อให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น

แต่อีกบทหนึ่งกลับดำเนินมาตรการสกัด ขัดขวาง

เห็นได้จากปฏิบัติการอุ้มนักเรียน และรุนแรงถึงกับเปิดไฟเขียวให้มีการจับกุม นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายพริษฐ์ ชิวารักษ์

เป้าหมายอาจเพื่อ “หยุด” แต่ถามว่าหยุดได้หรือไม่

จังหวะก้าวของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือรูปธรรมในการขานรับข้อเสนอจาก “เยาวชนปลดแอก”

อย่างน้อยก็ยืนยันว่า ฝ่ายค้านมิได้นิ่งดูดาย

อย่างน้อยก็ได้นำเอาข้อเสนออันดำรงอยู่ในทาง “ความคิด” สามารถแปรไปสู่ร่าง พ.ร.บ.อันเป็นรูปธรรมในทาง “การเมือง”

เท่ากับให้บทบาท เท่ากับให้ความสำคัญ

นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป แสงแห่งสปอตไลต์ก็ย่อมฉายจับระหว่างบทบาทของ “ฝ่ายค้าน” กับบทบาทของ “รัฐบาล” ว่าเป็นอย่างไร

มีความจริงใจที่จะแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” อย่างไร

จึงไม่เพียงแต่ฝ่ายค้านเท่านั้นที่จะเฝ้ามองและจับตา หากสังคมทั้งสังคมก็ย่อมจะรับรู้ในท่าทีและความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลประสานไปด้วย

นี่คือบทบาทอันเป็นคุณของ “ประชาธิปไตย”

นับแต่ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” ได้หยิบเอาประเด็นของ “รัฐธรรมนูญ” มาเป็นข้อเรียกร้องสำคัญในทางการเมืองเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เป็นต้นมา

“รัฐธรรมนูญ” ก็เป็น “วาระแห่งชาติ”

เป็นเหมือนสันปันน้ำในทางความคิด เป็นเหมือนหินลองทองอันคมแหลมพิสูจน์ทราบความเป็นจริงของแต่ละพรรคการเมือง ของแต่ละนักการเมือง

ใครยืนด้าน “ประชาธิปไตย” ใครยืนด้าน “เผด็จการ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image