ปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลโฉมใหม่ต้องแก้ไข : โดย สมหมาย ภาษี

ปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลโฉมใหม่ต้องแก้ไข : โดย สมหมาย ภาษี

ปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลโฉมใหม่ต้องแก้ไข

บัดนี้ประเทศไทยก็ได้มีรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าท่านนายกรัฐมนตรียังเป็นคนเดิม และคณะรัฐมนตรีที่บริหารกระทรวงด้านเศรษฐกิจหลักหลายกระทรวงก็ยังเป็นคนหน้าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนคนไทยได้เห็นฝีมือร่วมปีกว่ามาแล้ว ก็คงจะรู้ๆ กันอยู่แล้วว่าในอนาคตสั้นๆ ในปีหน้าจะมีน้ำยาสามารถแสดงฝีไม้ลายมือได้สักแค่ไหน

เดาได้เลยว่าสิ่งที่จะถูกเสนาบดีกระทรวงเศรษฐกิจเหล่านี้ยกขึ้นมากล่าวอ้างในการที่ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังเป็นขาขึ้นอยู่ต่อไป หรือไม่ก็เพราะการส่งออกของสินค้าทั่วโลกที่มีแต่ชะลอตัวลึกตามๆ กันต่อไปอีก และแน่นอนที่สุดก็ต้องโทษสงครามการค้า รวมทั้งสงครามด้านเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก คือ สหรัฐอเมริกาและจีน ที่จะยังคงทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีกจนถึงต้นปีหน้า จนกว่าจะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำของประเทศสหรัฐอเมริกาจากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต

อย่างไรก็ตาม การมีรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 ครั้งนี้ เหมือนคล้ายกับว่าได้มีการนำรถยนต์ที่มีฝุ่นและคราบสกปรกเกาะอยู่เต็มคัน เข้าร้านล้างรถและขัดสีพร้อมเข้าอู่เช็กเครื่องยนต์เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและปรับตัวเครื่องยนต์ใหม่อะไรปานนั้น เพราะได้มีการเปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจบางส่วนออกไป แล้วจัดตั้งคนใหม่หน้าใหม่ที่เป็นคนนอกเข้ามา และทั้งได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสองกระทรวงใหญ่ คือ กระทรวงการคลังซึ่งถือว่าเป็นตัวหลักในการบริหารด้านการเงินการคลังของประเทศ และกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลด้านทรัพยากรที่สำคัญมากของประเทศเช่นกัน และทางด้านการเงินนั้นก็ประจวบเหมาะกับการได้เปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่เอี่ยมอ่อง คือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เข้ามาด้วยอย่างน้อยก็ถือว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารด้านเศรษฐกิจชุดเก่าที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้รู้ฝีมืออย่างดีมาเป็นผู้บริหารชุดใหม่ที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้ฝุ่นไร้โคลนเกาะเหมือนเป็นรถใหม่ ทำให้ประชาชนคนไทยมีอารมณ์สุนทรีย์ขึ้นได้ระดับหนึ่ง ก็ใคร่ขอต้อนรับทั้งท่านสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และท่านปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ด้วยคนหนึ่ง

Advertisement

ในสภาวะที่คนไทยทั้งประเทศกำลังประสบกับความทุกข์ยาก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำในทุกด้านอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อนเช่นนี้ คงไม่มีเวลาที่จะมีการร่ายรำเบิกโรงหรือการไหว้ครูสำหรับผู้เข้ามารับผิดชอบแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้แต่อย่างใด

สิ่งที่ประชาชนคนไทยอยากเห็นซึ่งต้องเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีคนใหม่คือการลงมือทำงานเพื่อทำให้เกิดในสิ่งที่ถูกต้องและดีขึ้น ในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เขาคาดหวัง และในสิ่งที่จะทำให้พอมองเห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้ ซึ่งจะขอหยิบยกนำเรื่องที่เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนทางเศรษฐกิจจริงๆ มาร่วมแชร์ข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ปัญหาการท่องเที่ยวที่ตกต่ำเหลือศูนย์ ทำให้คนว่างงานเต็มประเทศ

Advertisement

การท่องเที่ยวของไทยเคยมีส่วนช่วยสร้างการขยายตัวของรายได้ประชาชาติหรือ GDP ในแต่ละปีถึง 15-18% ของ GDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมมากที่สุด สูงกว่าทั้งด้านอุตสาหกรรมและด้านการเกษตร ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยได้ คนว่างงานจึงมีอยู่ทั่วทั้งประเทศ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่กลับไปอยู่กับพ่อแม่พี่น้องหรือญาติโกโหติกาบ้านนอกในชนบท และขณะนี้เขาเหล่านี้ไม่รู้จะไปหางานที่ไหน เงินชดเชยที่เคยได้รับจากนายจ้าง ได้รับจากสำนักงานประกันสังคม หรือที่ได้รับจากการเยียวยาจากรัฐบาล กล่าวได้ว่าขณะนี้ส่วนใหญ่นั้นใช้จ่ายหมดไปแล้ว

ตัวเลขคนว่างงานจริงๆ ของทางการไม่รู้มีสักกี่ล้านคน เพราะในประเทศไทยยังไม่เคยเห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเปิดเผยตัวเลขให้สาธารณชนทราบเป็นระยะๆ เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย แต่เชื่อได้ว่าทางภาคอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมใหญ่ และผู้ประกอบการที่เป็นรายเล็กรายกลาง หรือ SMEs ที่ได้เลิกกิจการไปบ้างแล้ว และที่กำลังจะเลิกกิจการอีกล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มยอดผู้ว่างงานในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากลัวทีเดียว

ถามว่าการแก้ไขปัญหาคนว่างงานให้ลดน้อยลง รัฐบาลนี้จะพอทำได้บ้างไหม คำตอบคือ ยากที่จะแก้ไขให้ได้โดยเร็ววัน เทวดามาแก้ก็คงจะยาก แต่ถ้าถามว่าพอจะช่วยไม่ให้บานปลายไปเรื่อยๆ จะพอทำอะไร อย่างไรได้บ้าง คิดว่าทุกคนก็ต้องมองไปที่การท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งทีมเศรษฐกิจที่เพิ่งลาออกไปได้วางนโยบายสนับสนุนรวมทั้งให้เงินอุดหนุนให้คนไทยไปท่องเที่ยวกันให้มากขึ้น ซึ่งก็ได้เริ่มทำกันไปแล้ว แต่ถ้าไปประเมินผลกันก็พอเห็นบ้างประปรายคงจะไปกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว หรือเกิดรายได้จากการท่องเที่ยวได้เพียง 2-3% เท่านั้น เรียกได้ว่าจิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับภาวะการท่องเที่ยวก่อนโควิด-19 จะระบาด

หลังจากได้ยินข่าวประธานาธิบดีปูตินของประเทศรัสเซียประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ารัสเซียสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคโคโรนาไวรัสได้แล้ว ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวต่างตื่นเต้นดีใจ ถึงแม้นว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผล แต่ก็อย่าเพิ่งคาดหวังว่าประชาชนคนไทยเราจะสามารถขวนขวายหามาใช้ได้ภายใน 2-3 เดือน ข้างหน้านี้ได้

หากจะคิดกลับทางว่าประเทศไทยเรานั้นอาจรอได้ เพราะเราไม่มีการติดเชื้อแล้ว อาจไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนนักที่จะพึ่งวัคซีน หรือพอจะรอวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปร่วมวิจัยและผูกพันกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษก็ตาม แต่นักท่องเที่ยวที่จะมาจากต่างประเทศทั้งจากยุโรป ออสเตรเลีย หรือในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่เห็นๆ กันอยู่ว่ายังมีการระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน แล้วประเทศเขาจะสามารถหาวัคซีนไปฉีดคุ้มกันคนของเขาให้พร้อมมาเที่ยวเมืองไทยได้ในฤดูการท่องเที่ยวของไทยที่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ได้ไหม คำตอบก็คือยังมองไม่เห็นทาง ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือญี่ปุ่น ที่พยายามแข่งขันกันผลิตวัคซีนป้องกันอย่างเต็มที่อยู่ในขณะนี้ จะสามารถผลิตวัคซีนให้ได้ผลเป็นที่รับรองมั่นเหมาะก็คงตอนปลายๆ ปี และกว่าจะนำออกใช้ได้อย่างแพร่หลายและจริงจังต้องไปถึงปี 2564 เป็นอย่างเร็ว สรุปแล้ว การหวังพึ่งการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวจากการมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแห่กันเข้ามาภายในปีนี้ จึงดูจะคาดหวังไม่ได้มากนัก ดังนั้น ตอนนี้รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการเร่งการจ้างงานให้เข้มข้น ต้องมอบเป็นนโยบายกึ่งคำสั่งให้รัฐวิสาหกิจทั้งใหญ่และเล็กเพิ่มการจ้างงานช่วยรัฐโดยทันที ละความคิดที่จะทำกำไรให้ดีที่สุดไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งพยุง SMEs ทุกวิถีทางให้คงยืนอยู่ได้ถึงปลายปีหน้า

2.ปัญหาวิกฤตการคลัง (Fiscal Crisis)

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ได้ก่อตัวให้เห็นชัดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ที่จะสิ้นปีในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งผมได้เคยกล่าวถึงเมื่อเร็วๆ นี้ ความจริงยังไม่มีคนไหนในรัฐบาลนี้ได้ตระหนักในเรื่องนี้ เพราะยังมองไม่เห็นชัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้จะสิ้นปีงบประมาณอยู่แล้วก็ตาม แต่การจัดซื้อจัดจ้างภายใต้งบประมาณปี 2563 ยังเบิกจ่ายได้ไม่มาก ที่เหลือก็จะไปเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 63-กันยายน 64) ที่เรียกว่า การเบิกจ่ายเหลื่อมปี

ว่ากันตามข้อเท็จจริงที่เห็นกันอยู่ชัดเจนในขณะนี้ก็คือ ทางด้านรายรับไม่เหมือนรายจ่าย คือไม่มีการเหลื่อมรับหรือรับย้อนหลัง ดังนั้น ยอดประมาณการรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 นี้ ที่ตั้งไว้จะจัดเก็บต่ำกว่าเป้า (Shortfalls) จำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท หรือติดลบ 9% โดยประมาณ

เพราะฉะนั้นวิธีแก้ก็จำเป็นต้องตัดทอนงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ ซึ่งทำได้ยากหรือไม่ก็ต้องมีการปรับเพิ่มรายรับด้วยการออก พ.ร.ก. เพิ่มวงเงินกู้เข้ามาให้พอ แต่ก็คงทำไม่ได้มากนัก เพราะมีกฎหมายที่เป็นวินัยการคลังวางกรอบไว้มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่คนสมัยเก่าได้มีวิสัยทัศน์วางกฎเกณฑ์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านการคลังภาครัฐไว้ถามว่าถ้ามีรัฐบาลห่ามๆ จะแก้กฎหมายขยายกรอบให้กว้างขึ้นจะทำได้ไหม คำตอบคือถ้ารัฐบาลมีเสียงในสภามากพอก็แก้ได้ แต่ถ้าขืนแก้กรอบที่ดีให้ชาวโลกเห็น ประเทศไทยก็จะลื่นไหลตกแนวความน่าเชื่อถือของนานาชาติ ระดับเครดิตของประเทศ หรือ Sovereign Credit Rating ก็จะถูกลดเกรดลง ก็จะต้องรับความยากในการหาเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศ การจะดึงดูดต่างประเทศมาลงทุนก็จะยากยิ่งขึ้นด้วย เป็นต้น

วิกฤตการคลังที่กำลังก่อตัวให้เห็นชัดในขณะนี้ และในปีงบประมาณ 2564 ก็จะยิ่งเพิ่มความกดดันให้เพิ่มมากเข้าไปอีก หากไม่เอาใจใส่แก้ไขตั้งแต่บัดนี้ ก็จะยิ่งพากันเข้ารกเข้าพงจนยากที่จะเยียวยา ยิ่งกว่านั้นเร็วๆ นี้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังสมัยรัฐมนตรีคนเก่ายังได้บริหารการหาเงินให้รัฐบาลแบบไม่มีทางเลือก ทำให้ดูไม่จืดเข้าไปอีก ตามเรื่องที่จะนำมาเล่าสั้นๆ ดังนี้

การกู้เงิน 1,500 ล้านเหรียญ สรอ. จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรื่องการขอกู้เงินจาก ADB ภายใต้ พ.ร.ก. กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งก็คือการกู้เงินในวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้พิเศษเพื่อแก้ไขวิกฤตเร่งด่วนที่ ครม.ได้อนุมัติกรอบไว้แล้ว นั่นเอง

เหตุผลที่ขอกู้เงินจาก ADB เป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนถึง 1,500 ล้านเหรียญ สรอ. หรือประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม หรือเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยุคก่อนปรับ ครม. โดยการเสนอมาของปลัดกระทรวงที่กำลังจะเกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้เห็นว่า “เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศและต้นทุนการกู้เงินทั้งภาครัฐและเอกชน จึงเห็นควรกระจายการกู้เงินบางส่วนไปยังแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ”

ในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ครั้งนี้ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดรู้เลยหรือไง ว่าในช่วงร่วม 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ส่งออกและใครต่อใครได้ร้องเรียนว่าเงินบาทแข็ง ทำให้ไทยส่งออกได้ลดลงจนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามออกมาตรการถึง 2 ครั้ง เพื่อลดความกดดันการแข็งค่าของเงินบาท โดยการเปิดช่องให้นักลงทุนไทยสามารถนำเงินตราต่างประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและมากขึ้น เพื่อให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) ของไทยลดน้อยลงบ้าง ซึ่งขณะนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมมีจำนวนสูงถึง 270,000 ล้านเหรียญ สรอ. หรือเทียบเท่าประมาณ 8 ล้านล้านบาท เท่ากับครึ่งหนึ่งของ GDP ของประเทศ

แต่สิ่งที่เห็นหน่วยราชการที่เกี่ยวกับการเงินของประเทศอย่างกระทรวงการคลังกลับกู้เงินตราต่างประเทศเข้ามา และก็ไม่ใช่สำหรับใช้ในโครงการที่ต้องนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ แต่เป็นการกู้เงินตราต่างประเทศล้วนๆ มาแลกเป็นเงินบาททั้งหมด เพื่อไปช่วยวงเงินกู้พิเศษ 1 ล้านล้านบาท แถมยังอ้างเหตุว่าเพื่อกระจายแหล่งที่มาของเงินกู้ยิ่งไปกันใหญ่ ประเทศที่มีทุนสำรองขนาดนี้จำเป็นอย่างไรที่ต้องไปกระจายแหล่งเงินกู้ ไม่ทราบว่าเข้าใจการเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเงินของประเทศ (Sovereign Financial Risk) ที่มั่นคงระดับนี้กันหรือเปล่า

ที่หนักยิ่งกว่านั้น การให้ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหนังสือประกอบการพิจารณาเรื่องการกู้เงินจาก ADB ตอนเข้า ครม. กลับเอาแต่เป็นห่วงการบริหารความเสี่ยงของเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ตนเองพยายามทำเกี่ยวกับค่าเงินบาทแต่อย่างใดเลย ผมอดที่จะสงสารท่านหัวหน้าทีมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลเสียจริงๆ

ก่อนจะจบบทความที่ค่อนข้างจะยาวไปในวันนี้ ใคร่ขอเรียนเพียงสั้นๆ ว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลท่านประยุทธ์โฉมใหม่ต้องรีบลงมือแก้ไขให้ประชาชนเห็นแสงสว่างจากปากอุโมงค์ข้างหน้า ยังมีอีก 2 เรื่อง คือเข้าไปพยุง SMEs ในด้านการเงินให้มากกว่านี้ ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยแก้ทั้งปัญหาของ SMEs และปัญหาคนว่างงาน ส่วนปัญหาเร่งด่วนอีกเรื่อง คือการช่วยเหลือคนจนที่มีอยู่อย่างกระจองอแงทั้งประเทศในทุกวันนี้ จำเป็นต้องจัดมาตรการช่วยเหลือระยะกลางเป็นชุด (Package) ที่มีประสิทธิภาพจริง จึงจะเอาอยู่ครับ

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image