คำถามการเมือง ต่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ปม‘รัฐธรรมนูญ’

คำถามการเมือง ต่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ปม‘รัฐธรรมนูญ’

คำถามการเมือง ต่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ปม‘รัฐธรรมนูญ’

ณ บัดนาวแทบไม่ต้องถามแล้วว่า การเคลื่อนไหวโดย “เยาวชนปลดแอก” ที่พัฒนาเติบใหญ่ร่วมกับ “ประชาชน ปลดแอก” จุดติดหรือไม่

หากสงสัยก็ต้องมองอย่าง “เปรียบเทียบ”

1 เปรียบเทียบกับสภาพการณ์อันเกิดขึ้นเมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ขณะเดียวกัน 1 เปรียบเทียบกับเนื้อหาของการขับเคลื่อน

Advertisement

จะเห็น “พัฒนาการ” ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ

มองในเชิงปริมาณ ความตื่นเต้นอย่างยิ่งก็คือจำนวนคนเข้าร่วมเมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคมอยู่ในระดับ “เรือนพัน”

แต่ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม เป็น “เรือนหมื่น”

Advertisement

มองในเชิงคุณภาพ 3 ข้อเสนอพื้นฐานคือ 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแล้วนำไปสู่ 1 ยุบสภา

จากนั้นเพิ่มเป็น 1 ต้านรัฐประหาร 1 ต้านรัฐบาลแห่งชาติ

ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการในเชิง “ปริมาณ” ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการในเชิง “คุณภาพ” นี่ย่อมมิใช่สิ่งที่เรียกว่า “ม็อบมุ้งมิ้ง” อย่างแน่นอน

ยิ่ง “ม็อบฟันน้ำนม” ยิ่งไม่ใช่

ดังนั้น ที่คาดหมายจาก “แพทย์จ๋า” ท่านหนึ่งซึ่งเคยมีบทบาทในขบวนการเดือนตุลาคมที่ว่าเป็น “ม็อบวูบวาบ” ยิ่งห่างไกล

เพราะ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” คือ “ของจริง”

ทั้งเป็น “ของจริง” ที่มิได้ดำรงอยู่อย่างสถิต ตรงกันข้าม มีพลวัต มีการเคลื่อนไหว ปรับตัวเข้าสู่อีกคุณภาพที่เข้มข้นยิ่งขึ้นตลอดเวลา

โดยเนื้อหายังกุมไปที่ “รัฐธรรมนูญ” อย่างมั่นแน่ว

การชุมนุมในค่ำวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม คือการส่งสัญญาณเตือนอย่างหนักแน่นและจริงจังว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการบริหารจัดการกับ “รัฐธรรมนูญ” ใหม่

นี่คือสันปันน้ำสำคัญในทางการเมือง

ไม่เพียงแต่เป็นสันปันน้ำสำคัญระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” เท่านั้น

หากแต่ยังเป็น “โจทย์” อันแหลมคม

ไม่ว่าพื้นที่ใดที่ประเด็นวิพากษ์ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พุ่งทะลวงเข้าไป พื้นที่นั้นจำเป็นต้องมีคำตอบที่แจ่มชัด

เป็นคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นคำถามไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์

จะหลีกเลี่ยงและซื้อเวลาไม่ได้อีกแล้ว

เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ สันปันน้ำในทาง “ความคิด” และเป็นหินลองทองในทาง “การเมือง” ที่จะสังเคราะห์และแยกจำแนก

ใครเป็นประชาธิปไตย “วิปริต” ใครเป็นประชาธิปไตย “สุจริต”

นี่คือปลายหอกอันแหลมคมเหมือนกับที่เคยเกิดเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เหมือนกับที่เคยเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

เพียงแต่ด้วย “คุณภาพ” ที่พัฒนายิ่งขึ้น

บทเรียนเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เป็นอย่างไร บทเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมรู้

คำถามก็คือจะสรุปและหาทางออกอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image