สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมือง’เรื่อง‘ใกล้ตัว’ : โดย ปราบต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมือง’เรื่อง‘ใกล้ตัว’ : โดย ปราบต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมือง’เรื่อง‘ใกล้ตัว’ : โดย ปราบต์ บุนปาน

รัฐ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง และฝ่ายอนุรักษนิยมไทยมักคุ้นเคยกับการเหมารวม-ประทับตรา “คนเห็นต่าง” ว่าพวกเขามี “ความเป็นอื่น” ซึ่งเท่ากับ “ภัยคุกคามจากภายนอก”

อันจะนำไปสู่การชำระล้างขจัดภัยคุกคามเหล่านั้น

คำถามที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ก็คือการเคลื่อนไหวแนวกว้างของบรรดาคนรุ่นใหม่ผู้กระตือรือร้นทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงวัยก่อนมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังก่อตัวและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วนั้นถือเป็น “ความเป็นอื่น” หรือ “ภัยคุกคามจากภายนอก” ด้วยหรือไม่?

Advertisement

เราอาจค้นหาคำตอบได้จากสองปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ที่เหล่าเยาวชนสร้างสรรค์ขึ้น

ปรากฏการณ์แรก คือการชูสามนิ้วเคารพธง (เพลง) ชาติ ซึ่งผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจอาจตีความว่าเป็นพฤติกรรม “ชังชาติ”

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ที่คิดค้นกิจกรรมนี้ขึ้นมาอาจโต้เถียงกลับไปว่าถ้าหากพวกเขา “ชังชาติ” แล้ว ทำไมพวกเขาจึงยังคงเคารพธง/เพลงชาติกันอยู่?

Advertisement

ถ้าหากพวกเขา “ชังชาติ” แล้ว ทำไมพวกเขาจึงพยายามควบรวม-ปรับใช้ “เพลงชาติไทย” ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนเอง?

เมื่อพิจารณาในมุมมองใหม่ การชูสามนิ้วฯ ของประชาชนรุ่นใหม่ จึงเป็นความพยายามที่จะช่วงชิงอำนาจในการนิยาม “ความเป็นชาติ” ให้เอื้อต่อชุมชนจินตกรรมและระบอบประชาธิปไตยในความคิดฝันของตนเอง

มิใช่การ “ชังชาติ” หรือ “ทำลายชาติ” อย่างก้าวร้าวแต่ประการใด

ปรากฏการณ์ที่สอง คือพื้นที่แรกๆ ซึ่งการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์และการสร้างวิวาทะทางสังคมการเมืองของเยาวชนบังเกิดขึ้น นั้นได้แก่ “โรงเรียน” และอาจรวมถึง “บ้าน” (โดยมี “ครู” และ “พ่อแม่” เป็นคนกลุ่มแรกผู้ต้องเผชิญหน้ากับแรงปะทะ)

อันเป็นพื้นที่หรือสถาบันทางสังคมที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์และการสร้างวิวาทะว่าด้วยสังคมการเมืองที่ดีในหมู่คนรุ่นใหม่ คือแนวคิด-การกระทำ ซึ่งตกตะกอนมาจากวิถีชีวิต สภาพการณ์ความเป็นจริงที่พวกเขาพบเห็น และการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ (สึก) กับคนวัยเดียวกัน

ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถระบุชัดเจนว่าแนวคิด-การกระทำเหล่านั้นได้รับการจัดตั้งจาก “คนนอก” หรือ “องค์กรภายนอก” ใดๆ

และแน่นอนว่าเยาวชนทั้งหลายไม่ได้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ “มนุษย์ต่างดาว” อันไกลโพ้นที่ไหน ดังเคยปรากฏในนิยายแปลงบางเรื่อง

ดังนั้น เมื่อประสบการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ได้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาจากสภาพปัญหา “ใกล้ตัว” จึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด ที่แรงระเบิด/ปะทุของประสบการณ์ร่วมเหล่านั้นจะเริ่มแสดงพลังในพื้นที่อัน “ใกล้ชิด” กับพวกเราทุกคน

เอาเข้าจริง ถ้าย้อนไปถึงปลายทศวรรษ 2540 หรือต้นทศวรรษ 2550 ความขัดแย้งทางการเมืองสำคัญในสังคมไทย ก็ล้วนเกี่ยวพันอยู่กับการนิยามความหมายของ “ชาติ” ที่แตกต่างกัน และการมีวิวาทะทางการเมืองระหว่างสมาชิกร่วมประเทศทั้งสิ้น

โดยไม่มี “ความเป็นอื่น” (เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ฯ) เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มี “พื้นที่อื่น” (เช่น การเข้าป่า) มาเป็นทางเลือกของการต่อสู้

สำหรับประชาชนรุ่นปัจจุบัน “การเมือง” จึงถือเป็น “เรื่องใกล้ตัว” และความขัดแย้งใหญ่ที่เวียนมาบรรจบทุกครึ่งทศวรรษ ก็มิได้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยใหม่ๆ อาทิ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เพียงเท่านั้น

แต่เป็นเพราะมูลเหตุของปัญหาทางการเมือง ตลอดจนประชาชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ล้วนไม่เคยสูญสลายหายสาบสูญไปไหน ทว่าดำรงอยู่ “ที่นี่” มาโดยตลอด

ปี 2563 ปัญหาที่สังคมการเมืองไทยสั่งสมเอาไว้จนพอกพูนได้เริ่มทะลักล้นออกมาอีกครั้งหนึ่ง ในพื้นที่ที่ “ใกล้ตัว” และมีความสำคัญต่อเราทุกคนมากขึ้น

โดยมีจุดเริ่มต้นที่พิธีกรรมเคารพธงชาติ พื้นที่โรงเรียน และพื้นที่ครอบครัว

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image