ประชาธิปไตยจากความผิดพลาดของเผด็จการ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในองค์ความรู้และข้อถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้น ความเข้าใจทั่วไปมักจะมองว่า การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการที่อยู่ในอำนาจไปสู่ประชาธิปไตยนั้นจะเกิดขึ้นได้จากความจงใจ/ตั้งใจมุ่งมั่นของเผด็จการที่อยู่ในอำนาจเองที่จะลงจากอำนาจ ผ่านการเจรจา หรือแม้จะถูกกดดันก็ตาม เผด็จการเหล่านั้นก็จะเป็นฝ่ายตัดสินใจเองที่จะลงจากอำนาจหรือไม่ ผ่านการวิเคราะห์ผลดีผลเสียและคาดคำนวณอย่างมีเหตุมีผล (ไม่ได้แปลว่าเป็นคนดีเสมอไป แต่เขาชั่งน้ำหนักดูแล้ว)

แต่ในการศึกษาล่าสุดในวงการรัฐศาสตร์กลับพบว่า สองในสามของการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการเปลี่ยนผ่านแบบที่เผด็จการที่ครองอำนาจนั้นเลือกที่จะก้าวลงจากตำแหน่งเอง

จากข้อมูลใหม่และมุมมองการวิเคราะห์พบว่า การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยนั้นเกิดจากความผิดพลาดในการตัดสินใจของเผด็จการเอง โดยเฉพาะเป็นความผิดพลาดในการพยายามรักษาอำนาจเอาไว้ แต่ยิ่งทำยิ่งพลาด ทำให้รัฐบาลและระบบอ่อนแอลง เกิดรัฐบาลที่เปิดกว้างมากขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แถมด้วยเหตุปัจจัยอีกหลายประการในช่วงจังหวะชุลมุนนั้นเองที่ทำให้เกิดการสถาปนาประชาธิปไตยได้ (กล่าวอีกอย่างก็คือ การล่มลงของเผด็จการไม่ใช่กระบวนการเดียวกับการเกิดประชาธิปไตยเสมอไป)

ผมกำลังกล่าวถึงงานชิ้นล่าสุดของ Danial Treisman ที่สอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตนครลอสแองเจลิส (Democracy by Mistake: How the Eoors of Autocrats Trigger Transitions to Freer Government. American Political Science Review (2020) 114, 3: 792-810) ที่ชี้ให้เห็นประเด็นการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจว่า จากการศึกษาการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในโลกจากอดีตสู่ปัจจุบันด้วยฐานข้อมูลที่กว้างขวาง เขาพบว่าการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในโลกนั้นเกิดขึ้นในสามรูปลักษณะ

Advertisement

1.การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยด้วยการตัดสินใจเลือกของเผด็จการเอง ซึ่งในแง่นี้ไม่ได้หมายความว่าเผด็จการเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่หมายถึงว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการคาดคำนวณ อย่างมีเหตุผลของเผด็จการที่จะถอย หรือเปลี่ยนระบอบจากประชาธิปไตย

ตัวอย่างสำคัญในมุมมองเช่นนี้ก็คือ ประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการต่อรอง ซึ่งอาจจะเกิดได้หลายรูปลักษณะ เช่น การต่อรองระหว่างคนจนกับคนรวย ที่จะทำให้สถานการณ์ในสังคมไม่เลวร้ายไปกว่านี้โดยการเลือกเอาประชาธิปไตยมาเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การอยู่ด้วยกันระหว่างคนจนกับคนรวยอยู่กันได้ ไม่ต้องนำไปสู่การปฏิวัติลุกฮือของมวลชน และทำให้คนรวยรักษาสัญญาว่าจะกระจายความมั่งคั่งให้กับคนจน และให้สัญญาว่าจะไม่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียวในเศรษฐกิจ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมักจะเกิดควบคู่ไปกับการต่อต้านชนชั้นนำในหลายรูปแบบซึ่งมาจากเงื่อนไขของความต้องการทางเศรษฐกิจ ในแง่นี้ชนชั้นนำทางอำนาจซึ่งเป็นคนรวยก็อาจเลือกที่จะยอมรับอำนาจคนจนโดยเปิดให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและมีความมุ่งหมายที่จะปฏิรูปสังคมและกระจายความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง เพื่อให้คนจนที่มีจำนวนมากนั้นยุติการต่อต้านระบอบ

Advertisement

ในอีกด้านหนึ่งหากมีสถานการณ์สงคราม เราจะพบว่าคนรวยนั้นก็ต้องการคนจนเข้ามาอยู่ในกองทัพและจับอาวุธขึ้นสู่กับศัตรู และหวงแหนประเทศชาติ ดังนั้นการที่คนส่วนใหญ่รักชาติบ้านเมืองในยุโรปในอดีตนั้นไม่ใช่การกดหัวผู้คนด้วยอุดมการณ์รักชาติ แต่ต้องทำให้เห็นว่าชาติมีความหมายกับพวกเขาเหล่านั้นในสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สิทธิทางการเมือง และผลประโยชน์/สวัสดิการต่างๆ

ระบบสวัสดิการที่ดีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอาจเกิดขึ้นได้ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหากชนชั้นนำที่อยู่ในอำนาจเผด็จการเชื่อว่าโดยการขยายสวัสดิการให้ผู้คนนั้นจะเป็นหนทางที่เป็นทางเลือกจากระบบคอร์รัปชั่นแบบเดิม และระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ซึ่งก็หมายความว่าชนชั้นนำที่เลือกการให้สวัสดิการที่ดีขึ้นนั้นต้องการได้ฐานคะแนนเสียงและมวลชนมาเป็นพวก (ดังนั้น ความเป็นไปได้ของการมีรัฐสวัสดิการก้าวหน้า อาจไม่ได้มาจากเรื่องของคุณธรรมของผู้ปกครอง หรือมาจากการต่อสู้ของประชาชนเท่านั้น แต่อาจเกิดได้จากเงื่อนไขความจำเป็นในการรักษาอำนาจของเผด็จการเอง หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองที่ต่อสู้เรื่องนี้ก็อาจจะมีแรงจูงใจจากความนิยมในการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งเสริมนโยบายนี้ก็เป็นไปได้)

กล่าวอีกอย่างก็คือ ข้อเสนอที่ก้าวหน้าและการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ริเริ่ม หรือได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำในระบอบเผด็จการที่จะลดอำนาจตัวเองลง อาจจะมาจากการแข่งขันกันเองของชนชั้นนำในระบอบเก่า ดังนั้นใครที่มีภาพลักษณ์ที่เปิดกว้างกว่า ก็อาจจะได้รับเลือกให้อยู่ในอำนาจต่อ ซึ่งหมายความว่ามูลเหตุจูงใจในการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เป็นเพราะว่าเผด็จการนั้นตาสว่างและเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยแบบที่เราเข้าใจ

แต่ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทั้งหมดชี้ไปในทางเดียวกันว่า ไม่ว่าจะเปิดแบบไหน การเปลี่ยนผ่านนั้นเกิดจากการที่เผด็จการนั้น “ตาสว่าง” ว่าถ้าจะอยู่ต่อนั้นก็จะต้องอยู่ต่อให้ได้ภายใต้กติกาประชาธิปไตยให้มากที่สุด ซึ่งอาจรวมไปถึงประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ หรือประชาธิปไตยลูกผสมนั่นแหละครับ

นอกจากนี้การเข้าสู่ประชาธิปไตยที่มาจากการริเริ่มของชนชั้นนำอาจจะมาจากการต่อรองกันท่ามกลางความขัดแย้งของหลายฝ่าย และทำให้สายพิราบของกองทัพและชนชั้นนำยอมที่จะสร้างเครือข่ายกับฝ่ายนักการเมืองที่ไม่สุดโต่ง เพื่อผลักดันเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แทนที่จะเกิดการแตกหัก ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากการประนีประนอมมากกว่าการลุกฮือโค่นล้มจากประชาชนแบบม้วนเดียวจบ

สิ่งที่ต้องตระหนักให้ดีก็คือ ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาในทฤษฎีเปลี่ยนผ่านแบบริเริ่มโดยเผด็จการหรือชนชั้นนำที่มีอำนาจในระบอบเผด็จการนั้นให้ความสำคัญว่าประชาธิปไตยนั้นถูกรับรู้และนำมาปรับใช้ในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการโค่นเผด็จการลงก่อน (ตัวแบบปฏิวัติ) เพราะเผด็จการไม่ทำอะไรเลย นอกจากรักษาอำนาจและปราบปราม-ปะทะกับพลังประชาธิปไตย

2.การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายถึงกรณีที่ไม่ว่าผู้นำและชนชั้นนำในระบอบเผด็จการนั้นจะพยายามอย่างไรในการฝืนกระแสประชาธิปไตยและรักษาอำนาจเอาไว้ แต่สุดท้ายก็ฝืนกระแสประชาธิปไตยเอาไว้ไม่ได้ นั่นหมายความว่า เผด็จการนั้นยังไม่ทันได้ริเริ่มกระบวนการอะไรที่จะพยายามต่อรอง เพื่อให้อยู่ในอำนาจเลย คือไม่เอาข้อเสนอใดๆ จากฝ่ายที่เรียกร้อง/ต่อต้านเลย แล้วก็โดนโค่นล้มแบบม้วนเดียวจบเสียตั้งแต่ต้น อาทิ กองทัพก็ไม่เอาด้วย ไม่ออกมาปกป้องเผด็จการ นานาชาติก็ไม่เอา มวลชนฝ่ายสนับสนุนก็ไม่ได้เชียร์

และแทบจะไม่มีส่วนไหนเลยที่เชื่อมโยงกับกระบวนการในแบบที่ 3 ที่จะกล่าวถึงต่อไป

3.การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยจากความผิดพลาดของเผด็จการเอง จากข้อค้นพบใหม่พบว่าสองในสามของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่เผด็จการนั้นพลาดเอง ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีผิดพลาด รวมไปถึงโง่ หยิ่งทะนง และถือดี

ความผิดพลาดที่เผด็จการมีนั้นอาจจะเกิดได้ในสองลักษณะใหญ่ คือ ความผิดพลาดที่เกิดจากข้อมูลข่าวสาร คือ ได้รับรายงานมาผิด และความผิดพลาดที่เกิดจากการประมวลผลข้อมูลหรือคาดคำนวณจากข้อมูล

นอกจากนั้นแล้วยุทธศาสตร์สำคัญในการรักษาอำนาจของเผด็จการ (คือต้องไม่ผิดพลาด) นั้นจะประกอบด้วยสามเรื่อง

1.การปัดเป่าหรือจัดการการท้าทายจากฝ่ายที่ไม่อยู่ในวงอำนาจภายในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการควบคุมในระบอบเผด็จการต่อไปได้ อาทิ การใช้การปราบปราม หรือใช้การดึงมาเป็นพวก

2.การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำในอำนาจภายในระบอบเผด็จการ เพื่อทำให้การแบ่งปันอำนาจในหมู่ชนชั้นนำดำเนินไปได้

3.การรักษาความสัมพันธ์กับตัวแสดงภายนอกประเทศ

จากที่กล่าวมานั้น ความผิดพลาดของเผด็จการที่นำไปสู่ความอ่อนแอของระบอบ และอาจเป็นเงื่อนไขไปสู่ประชาธิปไตย ก็อาจจะมีตั้งแต่การปราบปรามประชาชนมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ความล้มเหลวในการจัดการปิดกั้นข่าวสารทั้งที่ปิดมากเกินไป และปิดน้อยเกินไป รวมไปถึงการออกนโยบายที่แก้ปัญหาประเทศชาติไม่ได้ในห้วงเวลาวิกฤตและทำให้ประชาชนผิดหวัง รวมไปถึงการที่ระบอบเผด็จการเชื่อมั่นว่าตนยังเอาอยู่จึงเปิดให้มีการเลือกตั้งและลงประชามติทั้งที่ไม่รู้ถึงความง่อนแง่นทางอำนาจของตัวเอง

กล่าวโดยสรุปนั้นการกระทำที่เข้าข่ายสิบประการนี้อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้ หรือที่เราเรียกว่า “ประชาธิปไตยจากความผิดพลาดของเผด็จการ”

1.การประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้านแบบไม่พอดี คือมีทั้งแบบที่ไม่เอาเลย กับเอาก็ไม่พอดี จนทำให้ฝ่ายต่อต้านเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่มีข้อเสนอมากมายในฝ่ายผู้มีอำนาจแต่ดันเลือกเอาหนทางนี้ ดังนั้นรัฐบาลก็จะตกต่ำทางอำนาจลงเรื่อยๆ

2.ล้มเหลวในการประนีประนอมอำนาจทั้งกับฝ่ายต่อต้านและกับฝ่ายพันธมิตรทางอำนาจเดิมของตนซึ่งเป็นพวกเดียวกันอยู่เดิม

3.ปราบปรามมากเกินไปหรือปราบปรามน้อยเกินไปจนทำให้ฝ่ายต่อต้านสามารถจุดติดและลุกลามไปทั่ว

4.ล้มเหลวในการใช้การปราบปราม รวมทั้งการสอดส่องและเซ็นเซอร์ที่จะทำให้ฝ่ายต่อต้านอ่อนแอลง

5.ล้มเหลวในนโยบายสำคัญจนนำไปสู่การพังทลายของศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล และทำให้กลุ่มต่างๆ รู้สึกไม่อยากจะเข้าร่วมเป็นพวกกับรัฐบาลอีกต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจที่สำคัญๆ

6.ล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้งหรือประชามติ ทั้งโกง หรือทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย

7.หลงมอบอำนาจของตนให้กับฝ่ายตัวเองโดยไม่รู้ว่าฝ่ายเดียวกันคนนั้นต้องการผลักดันแนวทางประชาธิปไตยมากกว่าตน

8.ทำให้กองทัพรู้สึกแปลกแยกและไม่อยากสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทำรัฐประหารซ้อน หรือความล้มเหลวในการใช้กำลังปราบปรามประชาชน

9.สร้างความแปลกแยกในหมู่ผู้สนับสนุนฝ่ายพลเรือน อาจนำไปสู่การแบ่งเป็นฝักฝ่าย และตกลงกันว่าไม่ควรเอาผู้นำคนนี้อยู่ในอำนาจต่อไป

10.ล้มเหลวในการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและนานาชาติที่มีกับรัฐบาลลดลงหรือหมดไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่าประชา ธิปไตยที่มาจากความผิดพลาดของการตัดสินใจของเผด็จการนั้นในมุมของฝ่ายเผด็จการเองนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ ดังจะเห็นได้จากพวกบันทึกของจอมเผด็จการเอง หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์กันเองของฝ่ายเผด็จการว่าในวันนั้นมีหลายทางเลือก แต่ผู้นำเผด็จการนั้นเลือกที่จะเดินทางนั้นมากกว่าอีกหลายๆ ทางเลือก

ในอีกด้านหนึ่ง การนำเสนอในเรื่องของประชาธิปไตยที่มาจากความผิดพลาดของเผด็จการนั้นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรเคลื่อนไหวผลักใดอะไร เพราะว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากการกดดันและไม่ยอมของฝ่ายประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่างหาก แต่การนำเสนอเรื่องความผิดพลาดนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้เกิดการล้มลงของเผด็จการอย่างฉับพลันทันที ส่วนหนึ่งต้องอาศัยความงี่เง่าของฝ่ายเผด็จการเองที่ไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนผ่านดีๆ หรือถ้างี่เง่าถึงที่สุดก็อาจเปิดการโค่นล้มลงได้แต่ต้น แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการล่มลงของเผด็จการจะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบได้

ในความเป็นจริงเราเห็นความดิ้นรนของเผด็จการมากมายที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ และบ่อยครั้งที่พวกเขานั่นแหละที่ตัดสินใจผิดเอง ส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือพวกเขาตัดสินใจช้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image