สถานะการเมือง ของประยุทธ์ จันทร์โอชา รุกหรือ‘ตั้งรับ’

สถานะการเมือง ของประยุทธ์ จันทร์โอชา รุกหรือ‘ตั้งรับ’ ไม่ว่าจะมองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะมองไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

สถานะการเมือง ของประยุทธ์ จันทร์โอชา รุกหรือ‘ตั้งรับ’

ไม่ว่าจะมองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะมองไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

อยู่ในฐานะ “รุก” หรือในฐานะ “รับ” ในทางการเมือง

ถามว่าอาการอันสำแดงออกผ่านงบประมาณการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” เป็นการรุกหรือว่าเป็นการตั้งรับ ถามว่าอาการอันสำแดงออกผ่านกรณี “เหมืองทองอัครา” เป็นการรุกหรือว่าเป็นการตั้งรับ

Advertisement

ยิ่งท่วงท่าอาการต่อ “รัฐธรรมนูญ” ยิ่งแหลมคม

ถามว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชิญตัว นายอนุทิน ชาญวีรกูล ไปพบและหารือพร้อมกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” มีนัยยะอะไร

เมื่อพรรคภูมิใจไทย เมื่อพรรคประชาธิปัตย์แสดงความพร้อมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งยังเป็นการแก้ไขโดยมีจุดเริ่มต้นที่มาตรา 256 อันเป็นการเปิดประตูไปสู่การปลดล็อกใหญ่ในทางการเมือง

นี่เป็นการรุก หรือว่าเป็นการตั้งรับในทางการเมือง

ขณะที่ความหมายของการรุกและการรับในทางการเมืองยังไม่แจ่มชัด คำถามที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ หากรุกเป็นการรุกกับใคร หากรับเป็นการตั้งรับกับใคร

รุกกับพรรคฝ่ายค้านกระนั้นหรือ

ในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่ามองไปยังจำนวนของ “มือ” ที่มีอยู่ ไม่ว่ามองไปยังจำนวนของ 250 ส.ว.ที่มีอยู่

พรรคร่วมฝ่ายค้านแทบจะทำอะไรรัฐบาลไม่ได้เลย

จะค้นพบความเป็นจริงของรัฐบาลและของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของ “เยาวชน” คนรุ่นใหม่

ถามว่าเหตุใดจึงต้องคง พ.ร.ก. “ฉุกเฉิน”เอาไว้

คำตอบแจ่มชัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมมาแล้วว่า การแพร่ระบาดของไวรัสอ่อนแรงลงอย่างมาก แต่ความหวาดกลัวของรัฐบาลคือการฟื้นมาอีกครั้งของ “แฟลชม็อบ”

แล้วในวันที่ 18 กรกฎาคมก็ปรากฏ

การปรากฏขึ้นของการชุมนุมโดย “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนพื้นที่ของถนนราชดำเนินต่างหาก

คือจุดตัด จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญ

ยิ่งเมื่อ นายอานนท์ นำภา ได้ปราศรัยในคืนวันที่ 3 สิงหาคม และมีการขานรับ ขยายความจาก “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 สิงหาคม

ยิ่งเน้นจุดตัด จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญ

ท่ามกลางการถกเถียง อภิปราย ปรากฏการณ์ที่เห็นในการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือคำตอบ

คำตอบว่า ปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” คือเส้นแบ่งสำคัญในทางการเมือง

คำตอบว่า รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสถานะใดกันแน่ในทางการเมืองเมื่อเผชิญเข้ากับการลุกขึ้นมาของ “เยาวชนปลดแอก”

นี่คือจุดตัด จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญ

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นฝ่ายรุก หากแต่ตกอยู่ในสถานะตั้งรับในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

อาศัยความจัดเจน “เก่า” มาเป็นเครื่องมือ

ด้านหนึ่ง หลอกลวงผ่านการเตะถ่วง ซื้อเวลา ด้านหนึ่ง ดำเนินการสกัดขัดขวางผ่านมาตรการทางกฎหมายที่ตนเองร่างขึ้น

หวังว่าจะสามารถพลิกเป็นฝ่ายรุกอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image