‘นายกฯญี่ปุ่น’ลาออก : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

‘นายกฯญี่ปุ่น’ลาออก : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

‘นายกฯญี่ปุ่น’ลาออก

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโสะ อาเบะ โรคเก่ากำเริบ ใช้เหตุผลปัญหาสุขภาพลาออก

“ชินโสะ อาเบะ” คือนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ผู้ซึ่งเสนอ “เศรษฐศาสตร์อาเบะ” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น และในทางการเมืองได้พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อวัตถุประสงค์ให้ญี่ปุ่นเป็น “ประเทศปกติ”

แต่เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า เป็นเหตุขัดขวางความพยายามของ “อาเบะ”

Advertisement

อนึ่ง โรคไวรัสโคโรนาระบาด เหตุการณ์ร้ายแรง เป็นเหตุให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

ความเติบโตทางเศรษฐกิจที่สะสมมาเป็นเวลาถึง 7 ปี กลายเป็น “ศูนย์”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นความตั้งใจของ “อาเบะ” มานาน

Advertisement

บัดนี้ เพราะปัญหาสุขภาพและวิกฤตไวรัสระบาด จึงไม่สามารถดำเนินไปได้

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นคุ้มดีคุ้มร้าย ปัญหาทางประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งเกี่ยวกับ “Fishing island” ฯลฯ

การที่ “ชินโสะ อาเบะ” ลาออกครั้งนี้ นำมาซึ่งความสับสนทั้งภายในและต่างประเทศ

ดูจากประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในอดีตไม่ต่างไปจากการเปลี่ยนหลอดไฟ แต่ “ชินโสะ อาเบะ” สามารถอยู่ได้ถึง 7 ปีครึ่ง

จึงถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ก็เพราะความสามารถของ “อาเบะ” เอง และสถานการณ์อำนวย

หลังสงครามโลก ญี่ปุ่นยึดระบอบประชาธิปไตยปกครองประเทศ

การผลัดเปลี่ยนพรรคการเมืองเป็นรัฐบาลมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็น “พรรคแอลดีพี” ครองเมือง (LDP=Liberal democratic Party) และตำแหน่งนายกฯจะต้องกำหนดโดยฝ่ายการเมืองเสมอ ผู้ที่สามารถเบียดเข้าไปมักจะเป็นผู้ที่มาจากครอบครัวนักการเมือง

ก็เพราะปู่และตาของ “อาเบะ” ล้วนเคยเป็นนายกฯมาแล้ว

1 ครอบครัวเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน

เป็น 1 เดียวในญี่ปุ่น

ปี 2006 “อาเบะ” รับตำแหน่งนายกฯไม่นาน เกิดป่วยเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบจึงลาออก

ปี 2012 “อาเบะ” นำพรรคแอลดีพีชนะเลือกตั้ง ได้เป็นนายกฯเป็นวาระที่ 2

เขาเสนอพิมพ์เขียวในการปฏิรูปฟื้นฟูประเทศ คนญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความหวัง จึงสนับสนุน กอปรกับพรรคฝ่ายค้านเกิดความขัดแย้ง ศรศิลป์ไม่กินกัน จึงเป็นโอกาสให้ “อาเบะ”อยู่ยาว

ไม่มีใครคิดมาก่อนว่า “อาเบะ” เพราะปัญหาสุขภาพเหมือนครั้งแรก

จึงจำต้องแขวนนวม

ย้อนมอง 7 ปีครึ่งที่ผ่านมา อันเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นของ “อาเบะ” นั้น เขาได้ใช้ความพยายามไม่น้อยทีเดียว

เริ่มตั้งแต่ 1990 เศรษฐกิจฟองสบู่แตก เป็นเหตุให้เกิดภาวะเงินฝืดรุนแรง ปัญหาเยาว์วัยและสูงวัยไม่สมดุล เขาจึงใช้ “เศรษฐศาสตร์อาเบะ” แก้ปัญหาโดยแบ่งเป็น 3 แนวทาง

1.นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ

2.นโยบายกระตุ้นการคลังขนาดใหญ่

3.ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ฉะนั้น วันที่ 28 สิงหาคม พลันที่ “ชินโสะ อาเบะ” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นล่วงลงโดยพลัน

เหตุผลคือ นักลงทุนมีความกังวลว่าในอนาคต “เศรษฐศาสตร์อาเบะ” อาจมีการเปลี่ยนแปลง

ในวาระที่ 2 ของการเป็นนายกฯของ “อาเบะ” เขาตั้งใจไว้ 3 เรื่องใหญ่คือ

1.ฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น

2.จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

3.แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสันติภาพ

ทว่า ไวรัสระบาดได้ทำลายความเติบโตทางเศรษฐกิจที่สะสมมาหลายปีจนสูญสิ้นหมดไป ความฝันการจัดกีฬาโอลิมปิกดูเหมือนความเป็นไปได้นับวันริบหรี่ ส่วนงานใหญ่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็เพราะมิได้รับการสนับสนุนจากคนญี่ปุ่น ความสำเร็จคงเกิดขึ้นยาก

ล่าสุด ความนิยมของ “อาเบะ” ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น

แม้ว่า “อาเบะ” อยู่ในตำแหน่งนายกฯนานที่สุดของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่า ไม่มีมรดกทางการเมืองและผลงานที่ยิ่งใหญ่เหลือไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง

และแล้ว “อาเบะ” ก็อำลาเวทีการเมืองด้วยโรคเก่าท่ามกลางความนิยมที่ตกต่ำที่สุด

ย้อนมองกาลอดีต เมื่อ 2012 ครั้นเมื่อ “อาเบะ” เข้ารับตำแหน่งนายกฯครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นเกิดความขัดแย้งรุนแรงอันเกี่ยวกับปัญหา “Fishing island” กอปรกับเขาไปสักการะศาลเจ้ายซูกูนิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ระคายเคืองต่อจีน

จึงเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นต้องแช่แข็งอีกวาระหนึ่ง อันเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟู

ดังนั้น “อาเบะ” จึงได้พยายามปรับท่าทีทางการทูตที่มีต่อจีน จนกระทั่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตอบรับจะไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2020 แต่โรคไวรัสโคโรนาเป็นเหตุให้การเยือนญี่ปุ่นต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ความมืดมนอีกวาระหนึ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ ญี่ปุ่นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้แสดงเจตนาที่จะเข้าร่วมพันธมิตรแบ่งปันข่าวสาร “Five eyes” ซึ่งมีสหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่ ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศก็ได้เดินสาย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก อันเป็นเป้าที่มุ่งต่อจีน

ทว่า การที่ญี่ปุ่นจะทำการฟื้นเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องมีความร่วมมือกับจีน

ดังนั้น ญี่ปุ่นจะแก้ปัญหาจีน-ญี่ปุ่นอย่างไรในเมื่อ “อาเบะ” ลาออก

แต่เขากล่าวว่าจะรักษาการจนกว่ามีผู้เข้ารับตำแหน่งใหม่ และแม้ลาออกแล้วเขาก็ยังมีสถานภาพเป็นสมาชิกรัฐสภาเพื่อผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญต่อไป

ต้องยอมรับความจริงว่า สถานการณ์ญี่ปุ่นวันนี้สับสนวุ่นวายมาก โดยเฉพาะในพรรคแอลดีพีเองก็มีปัญหามาก แบ่งเป็นหลายมุ้ง กระดูกคนละเบอร์ เลือดคนละกลุ่ม

บวกกับปัญหาไวรัสระบาดในวงกว้าง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ล้วนอยู่ในนาทีวิกฤต ประมาทมิได้

เป็นความโชคร้ายของคนญี่ปุ่นโดยแท้

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image