(ข่าวลือ)รัฐประหาร และความเชื่อมโยงกับการคุกคามและการใช้ความรุนแรง

ในสังคมที่มีการทำรัฐประหารกันอย่างชาชิน ข่าวลือรัฐประหารแต่ละครั้งก็ยังเป็นที่สนอกสนใจในสังคมนี้เสมอ สื่อและผู้คนจำนวนมากมักจะสนใจเรื่องความเป็นไปได้ในการเกิดรัฐประหาร ราวกับความสนใจต่อดินฟ้าอากาศ และการพยากรณ์อากาศ อาทิ เมื่อไหร่จะเกิด จะมีปัจจัยอะไรบ้าง ใครจะเป็นคนทำ คาดว่าทำแล้วจะมีผลอย่างไร ฯลฯ เหมือนกับการทำนายฝนตกน้ำท่วม

แต่ข่าวลือในรอบนี้อยู่ในบริบทของสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เพราะบริบทที่สำคัญในรอบนี้คือการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองอันเป็นผลมาจากการครองอำนาจอันยาวนานของระบอบรัฐประหาร 2557 และความไร้ประสิทธิภาพของการทำงานของรัฐบาล (ที่สืบสานอำนาจต่อจากนั้น) ในด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงระหว่างผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่สำคัญภาพลักษณ์ของกองทัพที่ถูกตั้งคำถามมากมายในช่วงเวลานี้ รวมทั้งระบบบริหารสั่งการของกองทัพเองและความไม่ได้รับความนิยมของตัวผู้นำในวงกว้างทำให้ความเป็นไปได้ในการรัฐประหารนั้นแม้ว่าอาจจะทำได้ แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจจะรู้สึกหมดศรัทธากับระบอบการปกครอง และตัวกองทัพเองมากขึ้น

แต่ใช่ว่าการทำรัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยว่าเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของการทำรัฐประหารในสังคมไทยก็คือความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำ และอีกประการหนึ่งก็คือการพยายามรักษาอำนาจของฝ่ายตนเอาไว้ให้นานที่สุด การศึกษาการต่อต้านรัฐประหารทั่วโลกมักชี้ให้เห็นความจริงอันกระอักกระอ่วนว่าการพยายามทำรัฐประหารและทำสำเร็จนั้นย่อมมีมากกว่าความพยายามในการต้านรัฐประหารอย่างแน่นอน และในหลายๆ ครั้งคณะรัฐประหารไม่ได้สนใจบทบาทของนานาชาติ หรือการต่อต้านการทำรัฐประหารจากประชาชนมากนัก เพราะถือคติว่าทนๆ ไปเดี๋ยวประชาชนก็ชิน และนานาชาติสุดท้ายก็ต้องมาพยายามเปิดความสัมพันธ์อยู่ดี

Advertisement

ที่อธิบายมานี้จึงเป็นที่มาที่จะขอนำเสนอมิติอื่นๆ ที่ว่าด้วยข่าวลือการทำรัฐประหาร และอีกมิติหนึ่งของการทำรัฐประหารที่มักไม่มีคนพูดถึงมากนัก นั่นคือเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างรัฐประหาร และการคุกคามและการใช้ความรุนแรง

ในประการแรก การพิจารณาเรื่องการทำรัฐประหารควรให้ความสนใจกว้างไปกว่าการกระทำของกองทัพในการทำรัฐประหารเฉพาะการยึดอำนาจรัฐ ซึ่งแต่เดิมรูปธรรมจะมีการใช้รถถังและกองกำลังในการคุมพื้นที่การสื่อสาร และการตัดสัญญาณเข้าโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ปัจจุบันคนชมโทรทัศน์น้อยลง ฝ่ายทำรัฐประหารอาจจะต้องคิดใหม่ว่าจะยึดช่องทางการสื่อสารไหนดี)

การทำรัฐประหารมีอีกหลายขั้นตอนที่พึงพิจารณา อาทิ

Advertisement

1.การถักทอ-ปะติดปะต่อเรื่องราว (fabricate and orchestrate) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารให้เป็นว่าการทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เน้นสร้างข้ออ้างและการสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร ที่สำคัญไม่น้อยกว่า (หรืออาจจะมากกว่าในหลายกรณี) การเขียนข้ออ้างรัฐประหารที่เป็นเอกสารที่เป็นทางการ

กระบวนการดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลายาวนาน ในอดีตสื่ออาจจะมีอิทธิพลอยู่บ้าง แต่ในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้กระบวนการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องยกระดับการถักทอและปะติดปะต่อเรื่องราวที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะหากจะต้องสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเงื่อนไขหลักในการทำรัฐประหารเหมือนบางครั้งในอดีต โดยการถักทอและปะติดปะต่อเรื่องราวอาจเกิดในรูปของการระดมมวลชนอย่างเปิดเผยในรูปลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา แต่เหนือสิ่งอื่นใด การระดมพลังมวลชนและการใช้สื่อในหลายรูปแบบรวมทั้งผู้มีอิทธิพลทางความคิดในรูปแบบใหม่ๆ

นอกจากนี้แล้ว การปล่อยข่าวลือรัฐประหารอาจถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตระเตรียมการทำรัฐประหารเพื่อวัดกระแสสังคม และอาจเป็นกระบวนการของการต้านรัฐประหารด้วย

2.หลังการยึดอำนาจ สิ่งสำคัญคือการสถาปนาอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีความซับซ้อน และแม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายในวันนี้ถึงกระบวนการดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดแล้ว การสถาปนาอำนาจรัฏฐาธิปัตย์มีนัยสำคัญอยู่ที่การมิอาจปฏิเสธอำนาจของกระบวนการรัฐประหารอีกต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้กินเวลายาวนาน (มิใช่แค่ที่คิดๆ กันในตอนนี้) แต่หมายถึงกระบวนการที่นำไปสู่การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจากการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ทำรัฐประหาร และการพ้นผิดในการทำรัฐประหารทั้งจากคำตัดสินของศาล และการระบุการนิรโทษกรรมตนเองไว้ในคำสั่งและรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างขึ้น

ผมจำได้ว่าเมื่อสมัยที่เรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญกับท่านอาจารย์พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย เมื่อหลายสิบปีก่อน ประเด็นเรื่องอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์นี้เป็นเรื่องใหญ่ และดูเหมือนว่าจะไม่สามารถมีอะไรมา
คัดง้างการทำรัฐประหารได้ในทางทฤษฎีสมัยนั้น แต่ในสมัยนี้ทฤษฎีอำนาจสถาปนาของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล และงานวิจัยของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เรื่องการย้อนกลับไปดู “กระบวนการจริง” ในการสถาปนาอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ภายหลังการทำรัฐประหาร 2490 ซึ่งใช้เวลานานกว่าแค่เพียงใช้คำสั่งคณะรัฐประหาร จะกลายมาเป็นคำพิพากษาที่ทำให้การทำรัฐประหารนั้นไม่ผิดทั้งกฎหมายและคณะรัฐประหารยังกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไปในท้ายที่สุด ก็กินเวลา 6 ปี จาก 2490 ถึงคำพิพากษา 45/2496 และหลังจากนั้นทุกครั้งที่มีการฟ้องร้องเรื่องการทำรัฐประหารก็อิงกับคำรัฐประหารในรอบนี้ ราวกับระบบกฎหมายไทยนั้นเป็นระบบกฎหมายประเพณี

กล่าวโดยสรุปโดยภาพรวมของการทำรัฐประหารในประเทศไทยนั้น การทำรัฐประหารสำเร็จอยู่ที่การสร้างอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ใช้ทั้งเงื่อนไข “อำนาจประเพณี” และ “อำนาจกฎหมาย”

3. การรักษาอำนาจและสร้างพันธมิตรหลังการทำรัฐประหาร จากเดิมที่การสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินด้วยขุนนางนักวิชาการ (เทคโนแครต) เป็นเงื่อนไขให้การสืบสานอำนาจนั้นเดินต่อไปได้ การสืบสานอำนาจจากการรัฐประหารร่วมสมัยยังรวมไปถึงการสร้างเครือข่ายสถาบันทางการเมืองใหม่แบบแม่น้ำห้า (ฯลฯ) สาย ซึ่งเป็นการปูนบำเหน็จและแยกพลังทางสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยออกมาให้เกิดความสะดวกในความร่วมมือกับฝ่ายรัฐประหารได้ง่ายขึ้น สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับชนชั้นนำอีกหลายคนที่สามารถเข้าร่วมใช้อำนาจรัฐใหม่ในสภาวะปกติใหม่อันเป็นนิรันดร์เช่นนี้ได้

4.ส่วนสำคัญที่มักหลงลืมไปก็คือ การทำรัฐประหารเกี่ยวพันกับการเป็นเผด็จการ การเป็นเผด็จการเกี่ยวข้องกับการสร้างสภาวะยกเว้น การสร้างสภาวะยกเว้นก่อให้เกิดผู้ปกครองที่ใช้อำนาจพิเศษในการระบุว่าจะใช้หรือไม่ใช้อำนาจใดๆ ซึ่งก็คือรัฏฐาธิปัตย์ในแบบที่ไม่ใช่ประชาชน (แม้ว่าจะอ้างอำนาจประชาชน)

สิ่งที่พึงพิจารณาเป็นพิเศษก็คือในการทำรัฐประหารในสังคมไทยที่ผมเสนอไปว่าเรามักพิจารณา
การทำรัฐประหารแค่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด และใครจะทำ และความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมีมากน้อยแค่ไหน จะกลับสู่ประชาธิปไตยในอีกกี่ปี หรือจะแค่ถอยหลังลงคลอง การพิจารณาแบบพยากรณ์อากาศนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่องบทบาทของการคุกคามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐและพันธมิตรทางอำนาจของรัฐที่อาจเกิดขึ้นทั้ง “ก่อน” การเกิดรัฐประหาร (เพื่อให้เกิดความชอบธรรมว่าความรุนแรงต่างๆ จะได้จบลงสักที) และ “หลัง” การทำรัฐประหาร (เพื่อให้เกิดความชอบธรรมว่าการต่อต้านคือความผิด และไม่ยอมเข้าสู่ความสงบ การใช้ความรุนแรงปราบปรามจึงเกิดขึ้นได้อย่างชอบธรรม)

ย้ำอีกทีว่าประเด็นเรื่องการคุกคามและความรุนแรงในการทำรัฐประหารนั้นอาจเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร รวมทั้งสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่า “รัฐประหารเงียบ” ก็อาจเป็นได้

โดยทั่วไปแล้วเรามักเชื่อว่าการคุกคามและใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนมักเกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารจนเป็นผลสำเร็จ แต่ถ้าลองดูตัวอย่างที่สำคัญสักสองครั้งที่ขบวนการต่อต้านระบอบประยุทธ์นำมากล่าวถึงจะพบความน่าสนใจบางประการ

1.เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สิ่งสำคัญที่สนใจกันในวันนี้คือ กระบวนการปราบปราม เข่นฆ่าประชาชนในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ไม่ได้เป็นจุดสนใจนอกเหนือไปจากความรุนแรงทางการเมืองก็คือ กระบวนการคุกคามประชาชน กรรมกร ชาวนา และนักศึกษา ตั้งแต่ก่อนการทำรัฐประหาร และการเกิดความรุนแรงจนกระทั่งผู้มีส่วนในการใช้ความรุนแรงนั้นประกาศทำรัฐประหาร ดังนั้น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ว่า ความรุนแรงและการคุกคามนั้นเกิดก่อนรัฐประหารได้ และเป็นสัญญาณในการทำรัฐประหารโดยตัวของมันเอง

2.เหตุการณ์ปราบปรามคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการปราบปรามและใช้ความรุนแรงจนตายกันไปมากมายนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ต้องจบลงที่การทำรัฐประหาร

อยากให้ลองพิจารณาตารางความสัมพันธ์ระหว่างการทำรัฐประหารและการใช้ความรุนแรง/ปราบปรามก่อนและหลังรัฐประหารข้างล่างนี้

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า เมื่อพูดเรื่องข่าวลือรัฐประหารนั้น นอกจากจะสนใจตัวกระบวนการทำรัฐประหารซึ่งมีหลายขั้นตอนแล้ว จะต้องทำความเข้าใจด้วยว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนรัฐบาล “โดยวิธีพิเศษ” ที่เราคุ้นเคย

แต่หมายถึงการใช้ความรุนแรงกับประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้ความรุนแรงโดยรัฐและมวลชนที่สนับสนุนรัฐประหารนั้นอาจคุกคามและใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการทำรัฐประหารครั้งใหม่ แต่อาจจะใช้เงื่อนไขกรอบกฎหมายของการทำรัฐประหารเดิม หรือแม้กระทั่งใช้เงื่อนไขประชาธิปไตยในการออกมาเคลื่อนไหวและปลุกระดมได้

(หมายเหตุ : ขอบคุณ คำ ผกา สำหรับการแปลคำ “ถักทอ” และเอกรัฐ สุขประเสริฐ สำหรับการสร้างตารางฐานข้อมูล)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image