สถานีคิดเลขที่ 12 : ข่าวลือเลอะเทอะ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : ข่าวลือเลอะเทอะ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : ข่าวลือเลอะเทอะ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

จู่ๆ กระแสข่าวลือเรื่องรัฐประหารก็กลับมาอีกช่วงเดือนกันยายนนี้

ข่าวลือนี้คนทั่วไปดูจะไม่ตื่นเต้นอะไร แค่ถามๆ กันว่าจริงหรือไม่ แต่ทำให้ผู้นำรัฐบาลออกอาการหงุดหงิด ตอบโต้ว่า “เลอะเทอะ”

ส่วนกองทัพต้องแถลงตำหนิคนปล่อยข่าวและแชร์ข่าวทำให้สังคมเกิดความสับสนและเข้าใจผิด บิดเบือนวาระปกติของกองทัพบกที่เคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ในช่วงเวลานี้ ตามวงรอบการฝึกประจำปี

Advertisement

จริงๆ แล้วข่าวลือรัฐประหาร กองทัพหรือรัฐบาลไม่น่าต้องออกมาปฏิเสธให้เหนื่อยและรำคาญใจ เพราะบ้านเมืองมาไกลถึงขนาดที่เด็กๆ กระโดดเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงออกทางการเมืองกันอย่างคึกคัก

แต่ถ้าย้อนดูอดีตทั้งใกล้และไกล ประเทศไทยมีรัฐประหารที่ผู้ก่อการยึดอำนาจสำเร็จมาแล้ว 13 ครั้ง จากความพยายามไม่น้อยกว่า 21 ครั้ง

เดือนกันยายนเป็นฤกษ์ฮิตใกล้เคียงกับเดือนตุลาคมที่มีผู้นิยมเลือกก่อการ

Advertisement

เริ่มจากรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2528 เกิดกบฏทหารนอกราชการพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ลงเอยล้มเหลว

ส่วนรัฐประหารร่วมสมัย เกิดเมื่อ 19 กันยายน 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

รัฐประหารสวนกระแสโลก เมื่อปี 2549 เป็นรัฐประหารที่บ้านเมืองมาไกลแล้วเหมือนกัน ตอนนั้นไทยฉายแววเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียน เป็นมหามิตรทั้งกับสหรัฐอเมริกาและจีน

แต่กองทัพกลับเลือกจะหยุดประเทศเอง แทนที่จะให้ประชาชนตัดสินลงโทษนักการเมืองหรือรัฐบาลไปตามครรลองประชาธิปไตย

รัฐประหาร 22 พฤษภาฯ 2557 ก็เช่นกัน ถึงกองทัพจะยืนกรานว่าได้สร้างคุณงามความดีในการหย่าศึกความขัดแย้งทางการเมือง แต่ไม่ใช่ทุกคนและไม่ใช่หลายคนจะเชื่อหรือเห็นด้วย

ความไม่เห็นด้วยนี้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงเวลานี้และสะท้อนจากคนรุ่นใหม่

เห็นได้ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร ไม่ว่า ส.ว. รัฐธรรมนูญ การจัดซื้ออาวุธมูลค่านับหมื่นล้าน ค่านิยม 12 ประการ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และมีเสียงเรียกร้องให้รื้อทำใหม่ในแนวทางที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีส่วนร่วม

กระแสที่ดังขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเสียงที่ดังจนกลบข้อกล่าวหา “มีเบื้องหลัง”

ยิ่งเมื่อผู้นำเยาวชนพูดการเมืองได้อย่างไม่ต้องท่องบท แถมยังอ่านหนังสือ Common Sense หรือ “สามัญสำนึก” ของ โธมัส เพน ให้ตำรวจฟังระหว่างทางไป สน. ยิ่งพิสูจน์ว่าเบื้องหลังของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาคือการเรียนรู้ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง

ยิ่งทางการใช้วิธีไล่จับกุมแกนนำผู้ชุมนุมประท้วง นอกจากไม่สามารถหยุดการชุมนุมที่กระจัดกระจายได้ ยิ่งเป็นข่าวที่สื่อต่างประเทศนำเสนอไปทั่วโลกจนไทยแลนด์ถูกจับตา

สภาพการณ์ที่รัฐบาลเดินหน้าไม่สะดวก กองทัพถูกจับตาแม้เพียงแค่เคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ น่าจะทำให้ข่าวลือรัฐประหารกระพือขึ้นมา

แต่จะเลอะเทอะขนาดไหน ให้ลองย้อนกลับไปดู 6 ปีก่อนก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image