ที่เห็นและเป็นไป : หาทางออก‘เพื่อกันและกัน’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : หาทางออก‘เพื่อกันและกัน’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : หาทางออก‘เพื่อกันและกัน’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ถึงวันนี้การสนทนาในทุกแวดวงหากวกมาในเรื่องการเมือง จะไถ่ถามหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่จะเกิดจากการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้

แม้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะประกาศไม่ให้ “กลุ่มธรรมศาสตร์ และการชุมนุม” จัดในมหาวิทยาลัย และถึงแม้ว่า นายแก้วสรร อติโพธิ จะมาแถลงในนามคณะศิษย์เก่ากลุ่มหนึ่งไม่ให้ใช้พื้นที่ธรรมศาสตร์ไปใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง

ในแวดวงสนทนามองกันว่า การปิดกั้นนั้นไม่มีความหมาย

Advertisement

เนื่องจากที่ “กลุ่มธรรมศาสตร์ และการชุมนุม” แถลงนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่า จะเริ่มต้นรวมตัวที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นจะขยายมา “สนามหลวง” และเคลื่อนไหวยืดเยื้อข้ามคืนจนไปถึงรุ่งเช้าวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน จะเดินทางไปชุมนุมต่อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

นั่นหมายความว่า เป้าของพื้นที่การชุมนุมไม่ได้อยู่ที่ธรรมศาสตร์มาแต่เริ่มแล้ว แต่เป็น “หน้าทำเนียบรัฐบาล” เพียงแต่ต้องการใช้ธรรมศาสตร์เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น ในความหมายของ “สถาบันที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางการเมือง” เท่านั้น

ประเมินกันว่าหากปิดกั้นพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จริง และนักศึกษาหมดหนทางที่จะเข้าไป ก็แค่ทำให้ “ม็อบ” เคลื่อนสู่สนามหลวง และเลยไปหน้าทำเนียบรัฐบาลเร็วขึ้น

ที่จะเกิดขึ้น การปิดกั้นของธรรมศาสตร์จะเป็นประเด็นที่โหมให้ประชาชนทั่วไปเห็นถึงการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และศิษย์เก่า ที่ผลักไสให้ลูกศิษย์ และศิษย์น้อง ต้องมาเผชิญกับการใช้อำนาจนอกรั้วมหาวิทยาลัย แทนที่จะดูแลเอาใจใส่ความปลอดภัยให้เยาวชน

กลับคิดแค่เอาตัวรอด

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า หากเกิดอะไรที่รุนแรงต่อนักศึกษา เยาวชน กระแสประชาชนจะหนุนเนื่องออกมาหนักขึ้น จนเสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวาย

ในการพูดถึงข่าวลือว่าหากกดดันจนเกิดความวุ่นวายขึ้น จะมีการใช้สถานการณ์ที่วุ่นวายนี้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาควบคุมอำนาจโดยอำนาจพิเศษ

การปราบปรามอย่างแตกหักจะเกิดขึ้น

และครั้งนี้จะน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะจะไม่เหมือนกับที่ผ่านมาที่ฝ่ายถูกปราบปรามจะยอมจำนนง่ายๆ

กระแสที่ปลุกให้เกิดความไม่พอใจในการใช้อำนาจกดข่ม ชะตากรรมของผู้ต่อต้านอำนาจ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมตัดสินใจสู้แบบเด็ดขาด แบบไม่ยอมถอยมากขึ้น

มีการประเมินกันว่า การเผชิญหน้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยไม่นึกถึงชีวิตจะเกิดขึ้น และนั่นจะเป็นการเสี่ยงต่อความสูญเสียครั้งใหญ่

และหากเกิดความสูญเสียขึ้นจนต่างชาติต้องเข้ามาแทรกแซง อะไรต่ออะไรที่จะเกิดขึ้นกับประเทศจะไปไกลจนเกินจะคาดเดาได้

ในแวดวงสนทนาส่วนใหญ่จะขอร้องต่อกันและกันให้พยายามหาทางที่จะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง

หนทางที่เสนอกันมาคือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องคิดที่จะหาทางปลดล็อกความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นนั้นไม่ให้เกิด ไม่ใช่มุ่งแต่รักษาอำนาจ

ขณะที่องค์กรอื่นจะต้องตระหนักถึงการจัดการที่ได้ผล และทันสถานการณ์

รัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา จะต้องทำงานให้เร็ว เสียสละให้มาก เพื่อหาทางให้เกิดการยอมรับในบทบาทที่จะเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์

องค์กรที่มีหน้าที่อื่นๆ ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ในการจัดการเพื่อช่วยทำให้เกิดภาพที่เป็นองค์กรหลักในการแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ ไม่ใช่ภาพที่ถูกมองว่าเอาแต่รับใช้ผู้มีอำนาจ จนสร้างเงื่อนไขให้เกิดความหมดศรัทธา สิ้นหวังในความเป็นธรรมเหมือนที่ผ่านมา

ความเปลี่ยนแปลงอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากผู้มีหน้าที่ไม่คิดแต่จะเอาตัวรอด ให้ตัวเองรุ่งเรือง

ร่วมกันคิดว่าจะนำพาเพื่อนร่วมชาติให้รอด ให้ประเทศรุ่งเรือง

ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นนั้น จะดำเนินไปในความราบรื่นได้

ในวงสนทนา เชื่ออย่างนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image