หากความคิดของผู้รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวตีบตัน แล้วเราจะได้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างไร : โดย สมหมาย ภาษี

หากความคิดของผู้รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวตีบตัน แล้วเราจะได้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างไร : โดย สมหมาย ภาษี

หากความคิดของผู้รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวตีบตัน
แล้วเราจะได้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างไร

ก่อนอื่นขอพูดถึงเรื่องที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งผมได้ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตของไทย 2% จาก 7% เป็น 9% ก็ได้มีการแชร์ข่าวเรื่องนี้ออกไปตามสื่อมากมาย จนผมเองก็ตกใจเพราะไม่เคยพบเคยเห็นการกระจายข่าวออกไปขนาดนี้เลย แต่ก็ต้องสลดใจเมื่อเห็นโฆษกของกระทรวงคลังออกมาแถลงไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีแวตทันทีหลังจากมีข่าวเพียงหนึ่งวัน

เรื่องภาษีแวตนี้ ทุกครั้งที่มีการเปิดประเด็นขึ้นมาจะมีทั้งสื่อ คนระดับกลางโดยทั่วไป และโดยเฉพาะข้าราชการ นักวิชาการ จะร้องประสานเสียงขึ้นมาทันทีว่าคนจนจะเดือดร้อน ผมอยากถามว่า อาหารการกินประเภทข้าวแกง น้ำพริกปลาทู ราดหน้า ส้มตำไก่ย่าง ขึ้นรถเมล์ เรือเมล์ หรือรถสองแถว ใส่เสื้อผ้ายีนส์ เสื้อเชิ้ต รองเท้าแตะหรือผ้าใบ พวกนี้มีภาษีแวตไหม ถ้ามีจะมากสักแค่ไหน อาชีพเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรออกมาเสียภาษีแวตไหม และยังมีการใช้จ่ายสำหรับการดำรงชีวิตของคนจนอีกเยอะแยะที่ไม่ต้องเสียภาษีแวต หากจะมีรายการยกเว้นสำหรับคนจนให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก็ให้ไปศึกษาระบบภาษีแวตหรือภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นได้ เรื่องภาษีแวตนี้ผู้ที่ต้องรับภาระจริงๆ คือคนชั้นกลางกับผู้มีอันจะกิน มีอะไรหน่อยก็จะอ้างคนจนไปเรื่อย หยุดเรื่องพวกนี้เสียทีเถอะครับ

ที่ผมพูดออกไปให้สังคมแต่ไม่ใช่ให้ผู้นำหรือรัฐบาลไทยซึ่งคิดไม่ออกอยู่แล้วได้คิดในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่คนอย่างผมจะนึกสนุกพูดขึ้นมาเล่นๆ แบบผู้ใหญ่บางคน แต่ผมมีข้อมูลที่เห็นชัดๆ จากประเทศอื่นที่ทำดีกว่าเรา ทำให้คิดว่าแบบนี้ประเทศไทยจะไปต่อไหวหรือ

Advertisement

ขอนำข้อมูลเรื่องภาษีแวตในประเทศญี่ปุ่นมาให้ดู ในปี 2532 ญี่ปุ่นเก็บภาษีแวตในอัตรา 3% ขณะที่ในปี 2535 ประเทศไทยได้นำภาษีแวตมาใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลท่านนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ในอัตรา 10% ซึ่งรัฐบาลไทยที่กล้าปฏิรูประบบภาษีในสมัยนั้นก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติแต่ต่างกับการปฏิวัติสมัย คสช. ตรงที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นทหาร

ต่อมาก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ไทยได้ลดภาษีแวตลงเหลือ 7% แต่ 7 ปีต่อมาญี่ปุ่นได้ขึ้นภาษีแวตเป็น 5% เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 จากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขึ้นภาษีแวตเป็น 8% ในวันที่ 1 เมษายน 2557 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติ และ คสช.ขึ้นมามีอำนาจกุมชะตาชีวิตของคนไทยที่ลำบากลำบนมากอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีกจนถึงบัดนี้ และสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ก่อนที่โควิด-19 มาเยือนชาวโลก รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีผู้ฉลาดและเก่งกล้าของญี่ปุ่น ชินโสะ อาเบะ ก็ขึ้นภาษีแวตอีก 2% เป็น 10%

ตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นที่เห็นกันชัดๆ นี้ บอกคนไทยที่มัวแต่งมโข่งอยู่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ให้เห็นว่า เขาขึ้นภาษีแวตไปแล้วถึง 3 ครั้ง เฉลี่ย 10 ปีครั้ง ครั้งสุดท้ายนี้เพียง 5 ปี ก็ขึ้นแล้ว นี่คือประเทศญี่ปุ่น แต่ของประเทศไทยนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลงยืนอยู่ที่ 7% ตลอดมาตั้งแต่ปี 2540 แล้วเราจะเดินหน้ากันไปอย่างไรหรือครับท่าน

Advertisement

การขึ้นภาษีแวตทุกประเทศปกติจะกระทบประชาชน แต่จะกระทบคนรวยและคนชั้นกลางมากกว่าคนจน แต่ในช่วงที่จำเป็นและเหมาะสมก็ต้องทำ เช่นช่วงนี้รัฐเก็บรายได้หลุดเป้ามาก ประชาชนก็แร้นแค้นอำนาจซื้อไม่เหลืออยู่แล้ว รัฐบาลต้องหาเงินมาช่วยคนจนในทุกทางอยู่แล้ว และอัตราเงินเฟ้อก็ต่ำมาก จึงเป็นโอกาสดีสุดสุดที่จะขึ้นภาษีแวต

ประเทศไทยขณะนี้รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไรก็ไปไม่รอด ยิ่งมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ส่วนใหญ่ความคิดตีบตัน คอยแต่วิเคราะห์และทำตัวเลขเอาใจนักการเมืองเพื่อหวังตำแหน่ง ไม่ได้คิดหวังให้ประเทศเดินหน้าแต่อย่างใดเลย เคยรู้หรือไปศึกษามาบ้างไหมว่าประเทศญี่ปุ่นเขาเพิ่มอัตราภาษีแวตจาก 3% เป็น 10% หรือเพิ่มถึง 7% นั้น แต่ละครั้งที่ขึ้นแวต 2-3% นั้น เศรษฐกิจเขาหดตัวกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าหดตัวทำไมถึงขึ้น เคยไปศึกษาบ้างไหมว่าแต่ละครั้งที่ขึ้นภาษี อำนาจซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเขาลดลงหรือไม่แค่ไหน ครั้งละกี่เปอร์เซ็นต์

เราเอาแต่ต่อว่านักการเมืองไทยไม่ดี ไม่มีคุณภาพ คิดแต่จะหาผลประโยชน์เข้าส่วนตัวและพรรคพวก ผมจึงชักจะเห็นใจนักการเมืองมากขึ้น เพราะเมื่อหันไปมองพวกข้าราชการของประเทศทุกวันนี้ ก็ไม่มีอะไรต่างไปจากนักการเมืองหรอกครับ ควรหรือไม่ที่ต้องไปลดเงินเดือนข้าราชการเหมือนที่ภาคเอกชนเขาต้องทำกัน

เมื่อเสนอเรื่องขึ้นภาษีแล้วไม่ฟัง วันนี้ผมใคร่ขอเสนอเรื่องที่ใหญ่ไม่แพ้เรื่องภาษีอีกเรื่อง คือ การทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งเรื่องนี้ทั้งนักธุรกิจตั้งแต่ผู้ทำธุรกิจโรงแรมและที่อยู่อาศัย ธุรกิจการบิน ศูนย์การค้า การขนส่ง ทัวร์ ร้านอาหาร ลงมาถึงแม่ค้าแม่ขาย ต่างก็พูดถึงและเฝ้ารอคอยความคืบหน้าของการแก้ปัญหากันอย่างใจจดใจจ่อ การทำให้การท่องเที่ยวกลับฟื้นตัวไม่ควรรีรออีกต่อไปแล้ว ซึ่งตอนนี้ผ่านการล็อกดาวน์ประเทศมา 6 เดือนแล้ว เห็นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้แต่ร่ายแต่รำ แล้วเมื่อไหร่จะเปิดประเทศให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้บ้าง

ผมคอยดูมานานแล้ว ตอบได้คำเดียวว่าถ้าหากผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องท่องเที่ยว นับตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลลงมาจนถึงการท่องเที่ยวฯ ยังเอาแต่เลิ่กลั่กรีรออยู่แบบนี้ เห็นทีประเทศจะฟื้นยากแน่ มีแต่จะจมลึกลงไปอีก ผมไม่อยากได้ยินผู้นำไทยพูดหรือบอกใบ้เหมือนประธานาธิบดีทรัมป์ผู้นำสหรัฐว่าเดี๋ยววัคซีนจะมา แล้วทุกอย่างจะดีเอง เพราะประเทศเราจะยังไม่มีการเลือกตั้งในอีก 2 เดือนข้างหน้าแบบประเทศเขา แต่ในอีก 2 เดือนข้างหน้าของเรา ถ้าหากยังเอาแต่เลิ่กลั่กกันอยู่อย่างที่เห็น การท่องเที่ยวในฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้ก็จะมีแต่ม้วนเสื่อลูกเดียว อย่าไปเสียเวลาหรือไปดึงเกมโดยการออกไปถามความเห็นจากคนภูเก็ต คนสมุย หรือคนเชียงใหม่ ขอให้รีบออกโพลจากหน่วยที่เชื่อถือได้โดยเร็ว ถามความเห็นคนไทยโดยรวมให้ครอบคลุมทั้งประเทศว่า ยังจะรับนักท่องเที่ยวไหมถ้ารัฐบาลกล้ารับประกันว่าจะทำการคัดกรองอย่างดีแบบที่นักท่องเที่ยวพอรับได้

ไทยเราเป็นประเทศที่พึ่งและหากินกับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก การท่องเที่ยวกุมหัวใจและเส้นเลือดของไทยอย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลทำเรื่องฟื้นการท่องเที่ยวจริงจังยังไม่ได้ ก็แปลว่ารัฐบาลนี้กำลังประสบภาวะล้มเหลวอย่างแน่นอน ไม่มีข้อโต้แย้งอื่นใด

ประเทศไทยเราขณะนี้อยู่ในบรรยากาศที่ต่างชาติอยากหนีหนาวมาเที่ยวหรือมาอยู่นานอย่างที่สุด ที่สำคัญที่สุดทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยไม่มีโควิด-19 แล้ว แต่ประเทศที่ต้องการมาเที่ยวเมืองไทยเพราะประเทศเขาหนาว ไม่ว่าประเทศแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เขาอยากมาและพร้อมจะมา พร้อมจะหนีหนาว และพร้อมจะหนีโควิด-19 แต่เขามาไม่ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีปัญญาเปิดประเทศ เพราะผู้ที่รับผิดชอบกับการท่องเที่ยวและโรคระบาดต่างก็สมองตีบตันไปหมดแล้ว วันๆ มัวแต่ตั้งแง่ ตั้งคำถาม ทำท่าเป็นคิดหาทางออก แต่ไร้ผลใดๆ ออกมา มันน่ารำคาญไหมครับ

เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ได้เห็นข่าวผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ประเทศไทยควรเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้แล้วในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวของต่างชาติแล้ว โดยไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกนำเชื้อโรคไวรัสเข้ามาบ้าง ก็ต้องพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างเรื่องสุขภาพอนามัยกับความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งนับเป็นข่าวดีที่ได้ยินได้ฟังว่าผู้รับผิดชอบเริ่มจะคิดได้แล้ว แต่อย่างว่า ก่อนจะทำอะไรได้ตามแบบไทยๆ ก็ต้องใช้เวลาร่ายรำเบิกโรงอยู่เป็นเดือน เพราะระบบราชการไทยในวันนี้แม้จะมีวิสัยทัศน์ คิดถูกและเป็นคนทำงานไว แต่ก็ต้องรอความเห็นชอบที่ชัดเจนจากผู้นำรัฐบาล รวมทั้งต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้กุมนโยบายอีกหลายกระทอก

ลองดูข้อมูลคนติดเชื้อโควิดในประเทศที่ผมเอ่ยมาข้างต้นให้ดีเถอะครับว่า ประชากรของประเทศเหล่านี้มีกันเท่าไหร่ ขณะนี้ต่างก็ยังไม่หมดเชื้อโรคไวรัสร้ายโควิด แต่ประชากรที่ติดเชื้อและได้รับการดูแลและป้องกันอย่างดีในประเทศที่เชื่อถือได้เหล่านี้มีถึง 0.5% ไหมครับ แล้วประชากรส่วนใหญ่ของเขาอีก 99.5% ไม่มีโรค ส่วนมากอยากออกมาเที่ยว โดยเฉพาะมาเที่ยวเมืองไทยที่ที่เขารู้ว่าปลอดโรค อยากถามระดับนโยบายหน่อยเถอะครับ ว่าจะให้ประชากรของเขา 100% ไม่มีโรค แล้วเราจึงเปิดประเทศให้เขามาเที่ยวหรือ ถ้าคำตอบว่าไม่ใช่ แล้วทำอย่างไรเราจะสามารถเชื้อเชิญให้เขามาเที่ยวได้ เชื้อเชิญนะครับไม่ใช่นำมาตรการเข้มงวดแบบความคิดตีบตันมาประเคนใส่แขกที่จะเชิญเข้ามา จะนำมาตรการแบบแทรเวลบับเบิล (Travel Bubble) หรือจะแบบตกลงกันเป็นรายประเทศก็ว่ากันไป แต่ขอให้รีบหน่อยเถอะ

เราพูดและสั่งสอนกันเสมอว่าให้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใครๆ ก็รู้ว่านี่คือสุดยอดของการบริหารจัดการ ณ วันนี้เรื่องการท่องเที่ยวของไทยซึ่งมีส่วนสร้างรายได้ประชาชาติถึง 15% ของ GDP หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท เกือบเท่างบประมาณแผ่นดินทั้งปี และมีสัดส่วนในการจ้างงานทั้งประเทศถึง 30-40% ต้องประสบภาวะวิกฤตอย่างสุดสุด ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน ปีนี้มีไม่ถึง 2 ล้านคน แล้วจะให้คนส่วนใหญ่เอากับรัฐบาลได้ยังไง

สรุปแล้วเห็นชัดทั่วโลกเลยว่าไทยเราประสบภาวะวิกฤตรุนแรงมากเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มอาเซียนและอันดับท้ายๆ ในเอเชีย ถึงจุดนี้แล้วเรายังไม่มีความสามารถในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสจริงๆ หรือ มีเพื่อนชาวต่างชาติถามว่ารัฐบาลของยูมัวทำอะไรกันอยู่ ผมอึ้งและตอบไม่ได้เลยครับ เพราะต้องรักษาหน้าของรัฐบาลของเราไว้ก่อน

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image