ลาแก่แบกกระสอบนุ่นเต็มหลังข้ามลำธารที่น้ำสูงถึงคอ

ลาแก่แบกกระสอบนุ่นเต็มหลังข้ามลำธารที่น้ำสูงถึงคอ

ลาแก่แบกกระสอบนุ่นเต็มหลังข้ามลำธารที่น้ำสูงถึงคอ

นับถึงบัดนี้เราได้เห็นชัดเจนแล้วว่าการระบาดของโควิด-19 ได้เกิดขึ้น ถ้านับที่เห็นผลชัดในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 นี่ก็ล่วงเลยมาได้ 9 เดือนแล้ว และแน่นอนที่สุดสิ้นปีในปลายเดือนธันวาคมนี้ การระบาดของไวรัสร้ายนี้แม้แทบจะหมดไปแล้วในประเทศไทย แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ยังมีอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ทำให้การเดินหน้าทางเศรษฐกิจเป็นไปกันไม่ได้เลย

ยิ่งเป็นประเทศที่มีผู้นำขี้ขลาดตาขาว ไม่กล้านำพาประเทศไปหาทางออกที่ดีกว่าให้แก่ประชาชน ปล่อยให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงต้องเผชิญกับความทุกข์ยากที่นับวันแต่จะหนักหนาสากรรจ์เข้าไปอีก เหมือนภาวะที่ต้องลอยเคว้งคว้างอยู่ในสุญญากาศหันไปทางขวาและซ้าย มองไปทั้งข้างบนและล่าง เห็นแต่ปัญหาใหญ่ๆ เต็มไปหมด ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะเห็นเหมือนผมหรือไม่ ถ้ายังมองไม่ค่อยจะออกว่าปัญหาใหญ่ๆ ที่เรียงหน้ากระดานให้เห็นเหมือนภูตผีปีศาจอยู่ในขณะนี้มีอะไรบ้าง ก็ขอให้ตามอ่านบทความต่อจากนี้ให้จบด้วยครับ

1.ปัญหาการท่องเที่ยวที่ทรุดตกต่ำใกล้ศูนย์ เป็นที่รู้กันชัดเจนว่าปัญหาเกิดจากการระบาดของโควิด-19 โดยแท้ ทำให้ผู้คนนานาชาติต้องหยุดเดินทางไปหาความสนุกสนานด้วยการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย การท่องเที่ยวนั้นเป็นสาขาที่ทำรายได้หลักเข้าประเทศ ที่ทำให้คนไทยสามารถประกอบอาชีพขนาดกลางและขนาดเล็กได้มากมาย โดยเฉพาะคนรายได้น้อยของประเทศต่างก็มีงานทำและหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้เพราะการท่องเที่ยวนี้แหละ การตกต่ำของการท่องเที่ยวแบบพรวดพราดแล้วทรุดฮวบเหลือเพียงแค่ 2-3% ของ GDP ในปีนี้ยากที่จะหาอาชีพอื่นมาชดเชย

Advertisement

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แล้วก็เป็นภาระที่หนักอึ้งของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไทยขณะนี้ก็มีสภาพไม่ต่างไปจาก “ลาแก่แบกกระสอบนุ่นเต็มหลังข้ามลำธารที่น้ำสูงถึงคอ” ลองนึกภาพเอาเองเถอะครับว่าเจ้าลาแก่ตัวนี้จะต้องทนทุกข์ทรมานขนาดไหน

การต้วมเตี้ยมของลาแก่ในการจะเข้ามาแก้ปัญหาการท่องเที่ยวที่ทรุดตัวอย่างหนักเพราะโควิด-19 นี้ ทำให้การท่องเที่ยวของไทยไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะตั้งแต่ระดับหัวลงมาถึงระดับผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไม่มีใครคิดกล้าหรือเสี่ยงเสนอภายใต้เงื่อนไขที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยากมาเมืองไทยพอรับได้เข้ามาเที่ยว

หากเปิดน่านฟ้าแล้วเกิดมีนักท่องเที่ยวสัก 3-4 ราย เป็นตัวพาหะนำไวรัสร้ายมาแพร่ในไทยอีก ก็กลัวว่าทุกคนจะชี้นิ้วไปที่เขา เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงใช้วิธีเงียบไว้ดีกว่า และการเงียบแบบนี้ไม่มีใครสามารถไปฟ้องว่าละเว้นตามมาตรา 157 ที่ยอดฮิต ได้เรื่องการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสจึงไม่เกิดในประเทศนี้ ส่วนเศรษฐกิจของชาติจะจมดิ่งไปแค่ไหนก็เป็นเรื่องของคนที่เกิดมาจน

Advertisement

อยากให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าอย่าคิดแต่พึ่งวัคซีน แม้วัคซีนที่ทดลองแล้วมีผลรับรองคุณภาพให้เชื่อถือได้ที่อาจออกมาในช่วงปลายปีนี้ คนไทยก็จะไม่มีโอกาสได้รับการฉีดวัคซีนในต้นปีหน้านะครับ เพราะกำลังผลิตที่มีอย่างจำกัดจะถูกประเทศที่พัฒนามากกว่าเราและร่ำรวยกว่าเราเขาจองกันจนผลิตทั้งปีก็ยังไม่พอเลย

2.ปัญหาการส่งออกที่ไม่ฟื้นตัวทั้งโลกที่บีบคั้นไทยหนักเพราะขาดภูมิปัญญาและขาดพื้นฐานในการแข่งขัน เรื่องนี้มีตัวเลขชี้ให้เห็นอยู่มากมาย ในเมื่อการส่งออกก็ถดถอยบวกกับการท่องเที่ยวที่หดตัวใกล้ศูนย์ในปีนี้ เงินตราต่างประเทศที่จะหามาได้ก็คงไม่มากเหมือนเดิม และแม้นว่าจะปลอบใจว่าการนำเข้าก็น้อยอยู่แล้วคงไม่เป็นไร ความดีใจจากเรื่องแบบนี้คงเกิดขึ้นกับคนที่สิ้นคิดเท่านั้น เพราะการนำเข้าที่ลดมีสาเหตุจากการที่นักลงทุนไม่ค่อยนำสินค้าทุนเข้ามา การลงทุนของไทยต่ำกว่าที่ควรจะเป็นติดต่อกันมานานหลายปีแล้ว ผลที่เห็นก็คือแรงส่งให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิผลลดน้อยลง ทำให้การส่งออกยิ่งน้อยลงด้วย ยิ่งเป็นตัวถ่วงต่อการขยายตัวของ GDP อีกปัจจัยหนึ่งด้วย

การจะประสิทธิ์ประสาทให้มีการผลิตสินค้าส่งออกที่ดีในขณะนี้ไม่ใช่เอาแต่ EEC ผมเห็นว่า EEC จะมีผลงานให้เห็นได้คงไม่น้อยกว่าอีก 5 ปีข้างหน้า การจะผลักดันการผลิตในช่วงนี้จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและมีพลังพอที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ได้นั้น ต้องเข้าไปสำรวจการลงทุนที่มีอยู่แล้ว ว่าจะเข้าไปปรับไปเพิ่มหรือไปลดอะไรที่จะสามารถทำให้เขาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้มากกว่า

ที่ผมพูดนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่ผมรู้ครับว่าการจะเข้าไปทำจริงมันยากมากสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบการส่งออก เพราะแทบทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในระบบการผลิตของไทยมันมีสภาพบิดๆ งอๆ ไปมากแล้วประการหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งกระบวนการทำการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันหลังมีสงครามการค้ากันได้เปลี่ยนไปมากจนไทยเราตามเขาไม่ทัน จึงเป็นการยากที่จะหาผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความสามารถมาพลิกฟื้นสถานการณ์ได้ในตอนนี้ ประเทศไทยเราคงต้องทนรับมือกับภาวะเลวร้ายของการส่งออกไปอีกนาน

3.ปัญหาการย่างกรายประชิดเข้ามาของ “วิกฤตการคลังของประเทศ” คำว่าวิกฤตการคลังของประเทศ ในสมัยโบราณจะหมายถึงภาวะที่รายได้ที่รัฐหามาไม่พอรายจ่ายในปริมาณที่ขาดแคลนมาก แต่ในสมัยนี้คงไม่ต่างไปมาก แต่จะเพิ่มเติมเข้าไปอีกว่า จะไม่สามารถกู้เงินมาใช้ให้อยู่ในกรอบวินัยการคลังที่ได้ถูกกำหนดไว้ได้อีกต่อไป

วิกฤตการคลังที่เริ่มส่อเค้าให้เห็นอย่างชัดเจนในตอนนี้ก็คือการปฏิบัติตามกระบวนการใช้จ่ายในหลายๆ เรื่องในภาครัฐที่มีเรื่องกระท่อนกระแท่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าซึ่งเกิดเป็นปกติคู่ชาติไทยเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาการโยกงบ การเลื่อนงบ และอีกหลายเรื่องออกมาให้เห็น

แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ การจัดเก็บรายได้ภาครัฐต่ำกว่าเป้า อย่างน้อยทั้งในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 โดยในปีงบประมาณ 2563 ที่งบประมาณกว่าจะผ่านการเห็นชอบของสภาก็เกือบครึ่งปีแล้ว ตัวเลขงบประมาณที่ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท เมื่อมาเทียบกับการจัดเก็บรายได้ที่ตั้งไว้ตามเอกสารงบประมาณ 2.730 ล้านล้านบาท พอเก็บเข้าจริง ซึ่งเดือนกันยายนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ก็ออกมาให้เห็นชัดว่าต่ำกว่าเป้ามาก

ตัวเลขที่พอจะหาดูได้จะเก็บรายได้เข้ามาได้เพียง 2.370 ล้านล้านบาท จะขาดไปไม่ต่ำกว่า 360,000 ล้านบาท ถือว่าขาดไปมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลต้องจัดการเพิ่มงบกู้ชดเชยการขาดดุลเท่าที่อยู่ในกรอบของงบประมาณ จากเดิม 469,000 ล้านบาท เป็นเพิ่มอีก 214,000 ล้านบาท ถ้าไม่ทำเช่นนี้เงินคงคลังก็จะไม่มี คำว่าเงินคงคลังนี้อย่าไปคิดตามชื่อให้มาก เพราะที่จริงก็คือเงินสดหมุนเวียนในบัญชีงบประมาณของแผ่นดิน ทุกวันนี้ที่ยังมีเงินคงคลังอยู่ไม่ถังแตกเพราะยังมียอดเงินกู้ชดเชยการขาดดุลให้กู้มาเติมในบัญชีเงินคงคลังได้อยู่ ก็แค่นั้นเอง

สำหรับปีงบประมาณ 2564 ซึ่งควรจะทำเสร็จสิ้นตามปฏิทินงบประมาณ พร้อมประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทันใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่จะถึงในอีกสัปดาห์ข้างหน้า แต่จากการติดตามข่าวทราบว่าจะออกไม่ทัน นี่แหละประเทศไทย ปากก็พร่ำพูดแต่จะเดินหน้าแต่หารู้ไม่ว่าเราเดินถอยหลังตลอด

งบประมาณปี 2564 ที่ตั้งไว้ตามเอกสารงบประมาณจำนวน 3.3 ล้านล้านบาท โดยได้กำหนดไว้ว่าจะมาจากรายได้ 2.677 ล้านล้านบาท ส่วนที่ขาดก็จะกู้มาชดเชยการขาดดุลจำนวน 623,000 ล้านบาท ตัวเลขตามนี้ดูดีอยู่ในกรอบวินัยการคลัง แต่เมื่อเห็นเค้าของการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 ที่ชัดเจนขึ้นว่าจะเก็บได้ไม่เกิน 2.370 ล้านล้านบาท แล้วในปีงบประมาณ 2564 ที่เห็นๆ กันอยู่ว่าเศรษฐกิจจะยังคงถดถอยลงไปอีก GDP จะยังเป็นบวกไม่ได้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น

ที่ส่วนราชการภาครัฐฝืนพยากรณ์ไปว่าจะดีขึ้นเท่านั้นเท่านี้ ผมเห็นว่าเป็นไปได้ยาก และเมื่อประเทศยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำปัจจุบันซึ่งไม่รู้จักการขึ้นภาษี รายได้แผ่นดินในปีงบประมาณหน้าก็จะต่ำกว่าเป้ามากอีกปี ซึ่งจะแก้ด้วยการกู้เงินชดเชยการขาดดุลเพิ่มก็แทบไม่มีช่องว่างให้ทำแล้ว ภาวะขาดแคลนเงินคงคลัง หรือที่เรียกได้ว่า “วิกฤตการคลัง” ก็จะเกิดขึ้นให้เห็น

โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในประชาคมโลกที่ใครๆ ก็รู้ความเป็นไปของเรา ดังนั้น ไม่ต้องรอให้เกิดวิกฤตการคลังหรอกครับ ขอให้เห็นอาการซวนเซด้านการเงินการคลังอีกไม่นาน ผลกระทบด้านต่างๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ค่าของเงิน และอันดับความเข้มแข็งด้านเครดิตของประเทศ (Credit Rating) เป็นต้น ก็จะแสดงภาวะตกต่ำและถดถอยให้ชาวโลกได้เห็นอย่างแน่นอน

สิ่งที่จะปรากฏให้เห็นที่น่าจับตามองที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ (Public Debt) ซึ่งเคยอยู่ในกรอบวินัยการคลังมาเป็นเวลานานไม่เกิน 60% ของ GDP ในสิ้นปี 2562 ตัวเลขยังอยู่ที่ 44-45% แต่พอมาเจอการกู้หนักเพื่อแก้ไขผลกระทบกับคนจนและคนว่างงาน รวมทั้งธุรกิจแทบทุกด้านที่พากันทรุดตัวตามๆ กัน รัฐบาลก็ต้องกู้เงินพิเศษ 1 ล้านล้านบาท เข้าไปช่วย ณ วันนี้ยังเบิกจ่ายไม่เท่าไหร่ คิดโครงการช้า พิจารณาช้าเบิกจ่ายช้าแบบไทยๆ ประกอบกับต้องมีการปรับยอดการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเจออีกด้วย แต่การเบิกจ่ายยังไม่มาก การพยากรณ์ยอดหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับ GDP ของทางการในตอนสิ้นปีงบประมาณ 63 หรือในช่วงนี้ก็จะออกมาแค่ 51-52% ส่วนราชการที่รับผิดชอบก็บอกกับประชาชนว่ายังไม่น่าหนักใจ ยังเปิดช่องว่างให้เบิกจ่ายเงินกู้ได้อีกเยอะ

ชาวบ้านดูตามนี้แล้วน่าสบายใจ แต่นักวิชาการเมื่อดูแล้วถึงกับสะดุ้ง เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ GDP ปี 2563 ที่สภาพัฒน์ได้คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ -7.5 แต่ถ้า GDP ที่กล่าว ถึงเวลาจริงๆ ออกมาใกล้เคียงกับที่สถาบันการเงินภาคเอกชนเขาคาดการณ์ที่ -10 เป็นอย่างน้อย มันก็จะดูไม่จืดละครับ

ตอนนี้ใครๆ ก็รู้ว่างบภาครัฐยังไม่ได้เบิกจ่ายมีอีกเยอะมาก เงินกู้ที่จะกู้มาใส่ในเงินคงคลังก็ยังไม่มีความจำเป็นมาก แต่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ขอให้คอยดูเถอะครับ ตอนนี้ผมได้เห็นตัวเลขการคาดการณ์สัดส่วนหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ในปลายปี 2564 ของสถาบันที่ไม่ใช่ส่วนราชการ จะมีสัดส่วนทะลุ 60% อย่างชนิดที่จะเป็น New Normal ด้านการคลังของประเทศได้ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีแน่

“นิว นอร์มอล” (New Normal) ซึ่งเข้าใจกันดีว่าเป็นการปรับตัวตามวิถีชีวิตใหม่นั้น ได้มีการพูดถึงกันมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่โควิด-19 เริ่มระบาดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการพูดถึงบ่อยครั้งมากจากฝ่ายรัฐบาล ยิ่งนานวันเข้ายิ่งฟังการพูดที่บ่อยเข้าจนเหมือนนกแก้วนกขุนทอง คือพอตื่นขึ้นมาก็พูด มีโอกาสก็พูด แต่เมื่อหันไปดูการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีการทำสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันให้ประชาชนเห็นว่าเป็นนิว นอร์มอลเลย

สงสารแต่ลาแก่ที่แบกกระสอบนุ่นเต็มหลังข้ามลำธารเสียจริงๆ ไม่รู้จะข้ามมาถึงฝั่งได้หรือเปล่า

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image