ปักธงความคิด 19 กันยาทวง‘อำนาจ’ ถึง 24 กันยายน

ปักธงความคิด 19 กันยาทวง‘อำนาจ’ ถึง 24 กันยายน

ปักธงความคิด 19 กันยาทวง‘อำนาจ’ ถึง 24 กันยายน

เมื่อเห็น “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ท้องสนามหลวง และบนถนนราชดำเนินเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา

อย่านึกถึงเดือนตุลาคม 2516 อย่านึกถึงเดือนพฤษภาคม 2535

ขอให้นึกถึงภาพการเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหว “ทั่วโลก” ที่ซีแอตเติ้ล ขอให้นึกถึงภาพการเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหว “อ็อคคิวพาย” ที่นิวยอร์ก

Advertisement

นั่นหละจะเข้าใจ

เข้าใจว่าทำไมถึงได้มีธงสีรุ้งซึ่งมาจากกลุ่ม LGBTQ เข้าใจว่าทำไมถึงได้มีบรรดาเครือข่ายเบียร์ปลดแอกที่ติดอยู่ในกรงขัง

และเข้าใจเมื่อเห็น “ธง” โบกสะบัดจาก “คนเสื้อแดง”

ภาพของ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” มิได้มีแต่เวทีใหญ่ แสงเสียง อลังการ หากแต่อุดมไปด้วยเวทีย่อยจำนวนมากหลากหลาย

เหมือนกับเป็น “งานวัด” แต่มีสีสันของ “การเมือง”

บรรดาผู้เชี่ยวชาญในการเคลื่อนไหวแต่กาลอดีต ไม่ว่าอดีตเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าอดีตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

อาจหงุดหงิด ไม่พอใจ

หงุดหงิดเพราะรู้สึกว่าทำไม “ข้อเรียกร้อง” จึงมากมาย ทำไมไม่รวมศูนย์อยู่ที่ 3 ข้ออันเสนอมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และยืนหยัดอยู่ตรงนั้น

หงุดหงิดแล้วก็พร่ำบ่น “กินข้าวทีละคำ” เหมือนกับเป็น “อนุศาสน์”

ไม่พอใจเพราะว่ามิได้มี “ศูนย์การนำ” แม้จะปรากฏ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” แม้จะปรากฏ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”

ถามว่าทำไมไม่ผนึกรวมเป็นเอกภาพ หนึ่งเดียว

ทำไมจึงกระจัดกระจายไม่ว่าจะเป็นมอกะเสด ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นปัตตานี ไม่ว่าจะเป็นราชบุรี

นี่คือช่องว่าง นี่คือเรื่องของวัย นี่คือเรื่องของชุดความจัดเจน

ท่ามกลางความสงสัย ท่ามกลางความมึนงงสงกา จากบรรดา “เกจิ” ในทางการเมือง ในทางการเคลื่อนไหว หลากรุ่น ต่างวัย

มีวาทกรรมหนึ่งบังเกิดขึ้น

ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้มิได้ต้องการ “เปลี่ยนคนเล่น” เหมือนที่เคยทำกันมา ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

เป้าหมายคือ “การเปลี่ยนเกม”

อย่าได้แปลกใจ หากว่าผู้ที่เสนอวาทกรรมนี้จะเป็น “เด็ก” ทั้งยังเป็นเด็ก “ผู้หญิง” เสมอเป็นเพียงนิสิตชั้นปีที่ 1 ในคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

อาจมองได้ว่าเด็กโตมาจาก “เกม” จึงสรุปไปตามความเคยชิน

กระนั้นหากผู้ใหญ่ หรือบรรดา “เกจิ” ในทางการเมือง ในทางการเคลื่อนไหวทั้งหลายนำไปขบคิด และทำความเข้าใจถึงท่วงท่าอาการของการเคลื่อนไหว

ก็อาจจะ “เก็ต” ก็อาจจะ “เข้าใจ”

แท้จริงแล้ว หากมองตั้งแต่การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” ในวันที่ 18 กรกฎาคม กระทั่ง “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา

ก็จะเห็นใน “พัฒนาการ”

มิได้เป็นพัฒนาการของการเคลื่อนไหวที่แพร่ และกลายเป็นโรคระบาดใหม่ในทางการเมืองที่สร้างอาการ “ช็อก” อย่างลึกซึ้ง และกว้างขวางเป็นลำดับ

หากแต่นี่คือ ผลของการปักธงในทาง “ความคิด” ที่มากด้วยพลานุภาพในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image